ด้วยโยนิโสมนสิการได้บรรลุผลสูงสุด [ปฐมเสขสูตร]

 
Khaeota
วันที่  26 มี.ค. 2553
หมายเลข  15787
อ่าน  1,595

[เล่มที่ 45] [เล่มที่ 45] ระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ ๑๑๕ - ๑๒๑

๖. ปฐมเสขสูตร
ว่าด้วยโยนิโสมนสิการได้บรรลุผลสูงสุด

[๑๙๔] จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุผู้เป็นเสขะยังไม่บรรลุอรหัตตผลปรารถนาความเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมอยู่ เราไม่พิจารณาเห็นแม้เหตุอันหนึ่งอย่างอื่น กระทำเหตุที่มี ณ ภายในว่ามีอุปการะมาก เหมือนโยนิโสมนสิการนี้เลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมนสิการโดยแยบคาย ย่อมละอกุศลเสียได้ ย่อมเจริญกุศลให้เกิดมี. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า ธรรมอย่างอื่นอันมีอุปการะมาก เพื่อบรรลุประโยชน์อันสูงสุดแห่งภิกษุผู้เป็น พระเสขะ เหมือนโยนิโสมนสิการ ไม่มีเลย ภิกษุเริ่มตั้งไว้ ซึ่งมนสิการโดยแยบคาย พึงบรรลุนิพพานอันเป็นที่สิ้นไปแห่งทุกข์ได้. เนื้อความแม้นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้ว ฉะนั้นแล.
จบปฐมเสขสูตรที่ ๖

อรรถกถาปฐมเสขสูตร

ในปฐมเสขสูตรพึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :- คำว่า เสกฺโข ในบทว่า เสกฺขสฺส นี้ มีความว่าอย่างไร. ชื่อว่า เสกขะเพราะได้เสกขธรรม. สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร ภิกษุชื่อว่าเป็นเสกขะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ประกอบด้วยทิฏฐิอันเป็นเสกขะ ฯลฯ ประกอบด้วยสมาธิอันเป็นเสกขะ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นเสกขะ อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า เสกขะ เพราะยังต้องศึกษา. แม้ข้อนี้ก็ตรัสไว้ว่า สิกฺขตีติ โข ภิกฺขเว ตสิมาเสกฺโขติ วุจฺจจิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะภิกษุยังต้องศึกษา ฉะนั้นจึงเรียกว่าเสกขะ. ถามว่า ศึกษาอะไร. ตอบว่า ศึกษาอธิศีลบ้าง อธิจิตบ้าง อธิปัญญาบ้างเพราะยังต้องศึกษา ดังนี้แล ฉะนั้นจึงเรียกว่าเสกขะ. แม้ผู้ที่เป็นกัลยาณปุถุชนกระทำให้บริบูรณ์ด้วยอนุโลมปฏิปทา ถึงพร้อมด้วยศีล คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้จักประมาณในโภชนะ ประกอบความเพียรโดยไม่เห็นแก่นอนมากนัก ประกอบความเพียรด้วยการเจริญโพธิปักขิยธรรมตลอดราตรีต้น ราตรีปลาย ด้วยหวังว่า เราจักบรรลุสามัญญผลอย่างใดอย่างหนึ่ง ในวันนี้หรือในวันพรุ่งนี้ ท่านก็เรียกว่า เสกขะ เพราะยังต้องศึกษา ในข้อนี้ท่านประสงค์เอาพระเสขะผู้ยังไม่แทงตลอด ที่แท้ก็เป็นกัลยาณปุถุชน.ชื่อว่า อปฺปตฺตมานโส เพราะอรรถว่า ยังไม่บรรลุอรหัตตผลท่านกล่าวราคะว่าเป็นมานสะ ในบทนี้ว่า บทว่า มานสํ ได้แก่ราคะเที่ยวไปดุจตาข่ายลอยอยู่บนอากาศ. ได้แก่จิตในบทนี้ว่า จิต มนะ ชื่อว่า มานสะ.ได้แก่ พระอรหัตในบทนี้ว่า พระเสกขะ ยังไม่บรรลุพระอรหัต พึงทำกาละในหมู่ชน. ในสูตรนี้ท่านประสงค์เอาพระอรหัตอย่างเดียว. ด้วยเหตุนั้นจึงเป็นอันกล่าวได้ว่า อปฺปตฺตารหตฺตสฺส แปลว่า ยังไม่บรรลุพระอรหัต. บทว่า อนุตฺตรํ คือ ประเสริฐที่สุด อธิบายว่า ไม่มีเหมือน. ชื่อว่า โยคกฺเขมํ ทีเดียว. บทว่า ปฏฺฐยมานสฺส ได้แก่ ความปรารถนาสองอย่าง คือตณฺหาปฏฺฐนา (ความปรารถนาด้วยตัณหา) ๑ ฉนฺทปฏฺฐนา (ความปรารถนาด้วยความพอใจ) ๑. ตณฺหาปฏฺฐนา ได้ในบทนี้ว่า ปรารถนา กระซิบกระซาบถึงตัณหา หรือบ่นถึงแต่ในการประดับตกแต่ง.กตฺตุกมฺยตากุสลจฺฉนฺทปฏฺฐนา ปรารถนาความพอใจในกุศล ใคร่จะทำได้ในบทนี้ว่า กระแสตัณหาของคนลามก ถูกตัดแล้ว ถูกกำจัดแล้ว ถูกทำให้หมดมานะแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มากไปด้วยความปราโมทย์เถิด จงปรารถนาความเกษมเถิด.ในที่นี้ท่านประสงค์เอา ฉันทปัฏฐนานี้แล. ด้วยเหตุนั้น บทว่าปตฺถยมานสฺส จึงมีอธิบายว่า เป็นผู้ใคร่เพื่อจะทำความเกษมจากโยคะนั้นคือ น้อม โน้ม โอน ไปสู่ความเกษมนั้น.บทว่า วิหรโต ได้แก่ ตัดขาดทุกข์ในอิริยาบถหนึ่ง ด้วยอิริยาบถหนึ่งแล้วนำอัตภาพอันยังไม่ตกไป. อีกอย่างหนึ่ง พึงเห็นความในบทนี้โดยนิเทศนัย (ชี้แจ้ง) มีอาทิว่า ภิกษุน้อมไปอยู่ว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยงย่อมอยู่ด้วยศรัทธา. บทว่า อชฺฌตฺติกํ ได้แก่ มีอยู่ในภายใน คือ ภายในตน ชื่อว่าอัชฌัตติกะ. บทว่า องฺคํ ได้แก่เหตุ. บทว่า อิติ กริตฺวา คือ ทำอย่างนี้. ความย่อในบทนี้ว่า น อญฺญํ เอกงฺคมฺปิ สมนุปสฺสามิ นี้มีดังนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่พิจารณาเห็นแม้เหตุหนึ่งอย่างอื่น กระทำเหตุอันมีในภายใน คือ เหตุที่ตั้งอยู่ในสันดานของตนอย่างนี้. บทว่า เอวํ พหุปการํยถยิทํ โยนิโสมนสิกาโร ได้แก่มนสิการโดยอุบาย มนสิการโดยคลองธรรมมนสิการโดยนัยในอนิจจลักษณะเป็นต้นว่า เป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น หรือการพิจารณา การตามพิจารณา การรำพึง การใคร่ครวญ การใส่ใจ อนุโลมในของไม่เที่ยงนี้ ชื่อว่า โยนิโสมนสิการ บัดนี้ เพื่อทรงแสดงถึงอานุภาพแห่งโยนิโสมนสิการ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมนสิการอยู่โดยแยบคาย ย่อมละอกุศลย่อมเจริญกุศล ดังนี้.ในบทเหล่านั้น บทว่า โยนิโส มนสิกโรนฺโต ความว่า ยังโยนิโส-มนสิการให้เป็นไปในอริยสัจ ๔ ว่า นี้ ทุกขอริยสัจ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธนี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ดังนี้.ต่อไปนี้เป็นความอธิบายอย่างแจ่มแจ้งในอริยสัจ ๔ นั้น. พระสูตรนี้หมายเอาเสกขบุคคลโดยไม่แปลกกันโดยแท้. แต่เราจักกล่าวกรรมฐานด้วยสามารถมรรค ๔ ผล ๔ โดยทั่วไป โดยสังเขป. พระโยคาวจรใดผู้บำเพ็ญกรรมฐานคือ อริยสัจ ๔ เป็นผู้บำเพ็ญกรรมฐาน คือ อริยสัจ ๔ ในสำนักอาจารย์มาก่อนอย่างนี้ว่า ขันธ์ทั้งหลายอันเป็นไปในภูมิ ๓ มีตัณหา เป็นโทษ เป็นทุกข์ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ความไม่เป็นไปของทั้งสองนั้นเป็นความดับทุกข์การให้ถึงความดับทุกข์ เป็นมรรค ดังนี้ สมัยต่อมา พระโยคาวจรนั้นขึ้นสู่วิปัสสนามรรค ย่อมพิจารณาขันธ์อันเป็นไปในภูมิ ๓ โดยแยบคายว่า นี้ทุกข์คือ พิจารณาและเห็นแจ้งโดยอุบาย คือ โดยคลองธรรม. ความจริง ในสูตรนี้ท่านกล่าวถึงวิปัสสนาด้วยหัวข้อมนสิการ. พระโยคาวจรย่อมมนสิการโดยแยบคายว่า ตัณหา มีในภพก่อนอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์นั้น ชื่อว่า ทุกขสมุทัย. ย่อมมนสิการโดยแยบคายว่า ก็เพราะนี้ทุกข์ นี้สมุทัย ทุกข์ทั้งหลายถึงฐานะนี้แล้ว ย่อมดับ ย่อมไม่เป็นไป ฉะนั้นจึงถือว่า นิพพานนี้คือ ทุกขนิโรธ.พระโยคาวจร ย่อมมนสิการโดยแยบคาย ย่อมพิจารณาและย่อมเห็นแจ้งมรรคมีองค์ ๘ อันทำให้ถึงความดับทุกข์โดยอุบายโดยคลองว่า นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.ในข้อนั้น ชื่อว่ายึดมั่นโดยอุบายนี้ย่อมมีในขันธ์ ๕ ไม่มีในนิพพาน.เพราะฉะนั้น จึงมีอธิบายดังต่อไปนี้. พระโยคาวจร ยึด มหาภูตรูป ๔ โดยนัยมีอาทิว่า ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ มีอยู่ในกายนี้ และ อุปาทารูป โดยทำนองเดียวกับมหาภูตรูป ๔ นั้น แล้วกำหนดว่า นี้รูปขันธ์ ดังนี้. เมื่อให้กำหนดดังนั้น จึงกำหนดถึงธรรม คือ จิตและเจตสิก อันมีรูปขันธ์นั้นเป็นอารมณ์ว่าธรรมเหล่านี้คือ อรูปขันธ์ ๔. จากนั้นย่อมกำหนดว่า ขันธ์ ๕ เหล่านี้เป็นทุกข์.ก็ขันธ์ เหล่านั้นโดยย่อมีสองส่วน คือ นามและรูป. พระโยคาวจรย่อมกำหนดเหตุและปัจจัยว่า ก็นามรูปนี้ มีเหตุ มีปัจจัย จึงเกิดขึ้น อวิชชา ภพตัณหาเป็นต้นนี้ เป็นเหตุของนามรูปนั้น อาหารเป็นต้นเป็นปัจจัยของนามรูปนั้น. พระโยคาวจรนั้น กำหนดลักษณะพร้อมด้วยกิจรสของปัจจัยทั้งหลายเหล่านั้น และธรรมที่เกิดโดยปัจจัย ตามความเป็นจริงแล้ว ยกขึ้นสู่อนิจจลักษณะว่า ธรรมทั้งหลายเหล่านี้ไม่มีแล้ว ครั้นมีแล้วย่อมดับไป เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งหลายจึงไม่เที่ยง.ย่อมยกขึ้นสู่ทุกขลักษณะว่า ธรรมทั้งหลาย ชื่อว่า เป็นทุกข์ เพราะถูกความเกิดความเสื่อม เบียดเบียน. ย่อมยกขึ้นสู่อนัตตลักษณะว่า ธรรมทั้งหลาย ชื่อว่าเป็นอนันตตา เพราะไม่เป็นไปในอำนาจ. พระโยคาวจรครั้นยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์อย่างนี้แล้ว เห็นแจ้งอยู่กำหนดทางและมิใช่ทางว่า เมื่อวิปัสสนูปกิเลสมีแสงสว่างเป็นต้นเกิดขึ้นในขณะอุทยัพพยญาณเกิด นี้ไม่ใช่ทาง อุทยัพพยญาณเท่านั้นเป็นอุบาย คือ เป็นทางอันเป็นส่วนเบื้องต้นของอริยมรรคแล้ว ยังอุทยัพพยญาณและภังคญาณเป็นต้นให้เกิดขึ้นตามลำดับ ย่อมบรรลุโสดาปัตติมรรคเป็นต้น.ในขณะนั้นพระโยคาวจรย่อมแทงตลอดอริยสัจ ๔ โดยการแทงตลอดครั้งเดียวเท่านั้น ย่อมตรัสรู้ด้วยการตรัสรู้ครั้งเดียว. ในอริยสัจนั้นพระโยคาวจรย่อมแทงตลอดทุกข์ด้วยการแทงตลอดด้วยกำหนดรู้ ย่อมตรัสรู้ด้วยการตรัสรู้ครั้งเดียว. ในอริยสัจนั้น พระโยคาวจร แทงตลอดทุกข์ด้วยการแทงตลอดด้วยกำหนดรู้ แทงตลอดสมุทัยโดยแยบคายด้วยการแทงตลอดด้วยการละ ย่อมละอกุศลทั้งปวงได้. พระโยคาวจรแทงตลอดนิโรธโดยการตรัสรู้ด้วยการทำให้แจ้งแทงตลอดมรรคโดยการตรัสรู้ด้วยภาวนา ย่อมเจริญกุศลทั้งปวง. จริงอยู่ อริยมรรค ชื่อว่า กุศล เพราะอรรถว่ากำจัดสิ่งที่น่าเกลียดโดยตรง ก็เมื่อเจริญอริยมรรคแล้ว โพธิปักขิยธรรมอันหาโทษมิได้ เป็นกุศลแม้ทั้งหมดก็ย่อมถึงความบริบูรณ์ด้วยภาวนา เพราะเหตุนั้น พระโยคาวจรเมื่อมนสิการโดยแยบคายอย่างนี้ย่อมละอกุศลเสียได้ ย่อมเจริญธรรมที่เป็นกุศล. สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเป็นอาทิว่า พระโยคาวจรย่อมมนสิการโดยแยบคายว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกข์สมุทัยดังนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแม้ข้ออื่นอีกว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุถึงพร้อมแล้วด้วยโยนิโสมนสิการ ภิกษุจักเจริญมรรคองค์ ๘ อันเป็นอริยะที่จะพึงหวังได้ จักทำให้มากซึ่งมรรคมีองค์ ๘ อัน เป็นอริยะ ดังนี้. ต่อไปนี้เป็นความย่อแห่งคาถาว่า โยนิโส มนสิกาโร. ชื่อว่า เสกขะเพราะยังต้องศึกษาสิกขาบททั้งหลาย หรือเพราะยังมีการศึกษาอยู่เป็นปกติ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะเห็นภัยในสงสาร. ธรรมไรๆ อื่นที่มีอุปการะมากเหมือนอย่างโยนิโสมนสิการ เพื่อให้ภิกษุผู้ยังเป็นเสกขะนั้นบรรลุพระอรหัตอัน มีประโยชน์อย่างสูงสุด ย่อมไม่มี. ถามว่า เพราะเหตุไร. ตอบว่า เพราะพระโยคาวจรมุ่งมนสิการ โดยอุบายอันแยบคาย แล้วเริ่มตั้งความเพียรด้วยสัมมัปปธาน ๔ อย่าง พึงถึงความสิ้นทุกข์ได้ คือ พึงถึง พึงบรรลุพระนิพพานอันเป็นที่สิ้นสุดวัฏทุกข์อันเศร้าหมองสิ้นเชิง ฉะนั้น โยนิโสมนสิการจึงเป็นธรรมมีอุปการะมาก ดังนี้.
จบอรรถกถาปฐมเสกขสูตรที่ ๖


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 3 ก.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ