พระอภิธรรมเป็นพระพุทธพจน์

 
พุทธรักษา
วันที่  30 มี.ค. 2553
หมายเลข  15801
อ่าน  5,274

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความบางตอน จากหนังสือ "ชื่อนั้นสำคัญไฉน" โดยอาจารย์ประณีต ก้องสมุทร และ คณะสหายธรรม ตอนที่ ๙ "พระอภิธรรมเป็นพระพุทธพจน์"

พระพุทธศาสนา เกิดมานานถึง ๒๕๙๗ ปีแล้ว (พ.ศ. ๒๕๕๒ + ๔๕ ปี) แต่ผู้ที่สงสัยว่า พระอภิธรรมเป็นพระพุทธพจน์จริงหรือ ยังมีอยู่ไม่น้อย ทั้งๆ ที่ชาวพุทธยอมรับว่า คำสอนของพระพุทธเจ้ามีอยู่ ๓ ปิฎกคือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และ พระอภิธรรมปิฎกนับเป็น พระธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์สมดังที่ท่านพระอานนท์ พุทธอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคเจ้าและเป็นขุนคลังพระธรรม ได้กล่าวไว้ใน อานันทเถรคาถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ข้อ ๓๙๗ ว่า

พระอานนท์เถระ ได้เรียนธรรมจากพระพุทธเจ้า ๘๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ได้เรียนจากสำนักภิกษุ มีพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร เป็นต้น๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ซึ่งใน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น แบ่งเป็นพระวินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระสุตตันตปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระอภิธรรมปิฎก ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า พระอภิธรรมปิฎกมีจำนวนเท่ากับพระวินัยปิฎกและพระสุตตันตปิฎกรวมกันฉะนั้น ถ้าพระอภิธรรมปิฎกไม่ใช่พระพุทธพจน์คำสอนของพระพุทธเจ้า ๓ ปิฎก ก็จะเหลือเพียง ๒ ปิฎก พระธรรมขันธ์ก็ไม่ครบ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ตามที่ท่านพระอานนท์เถระ กล่าวไว้.

นอกจากนั้น ในพระวินัยและพระสูตร ก็ยังมีข้อความที่กล่าวถึงพระอภิธรรมไว้หลายแห่ง ขอยกมาอ้างอิงดังต่อไปนี้

ในพระวินัยปิฎก อุททานคาถา วินัยปิฎก มหาวรรค ข้อ ๑๔๖ ในตอนหนึ่ง มีข้อความว่า ชนใดไม่รู้จักโค ชนนั้นย่อมรักษาฝูงโคไม่ได้ ฉันใด ภิกษุ ก็ฉันนั้น เมื่อไม่รู้จักศีล ไฉนเธอจะพึงสังวรได้ เมื่อพระสุตตันตปิฎกและพระอภิธรรมเลอะเลือน (สูญ) ไปก่อน แต่พระวินัยยังไม่เสื่อมสูญ (เมื่อนั้น) พระศาสนาชื่อว่ายังตั้งอยู่ต่อไป (คือ ยังดำรงอยู่ต่อไป ยังไม่สูญไป)

ในพระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๘ ข้อ ๕๔๓ กล่าวว่า ก็แล ท่านพระทัพพมัลลบุตร อันสงฆ์สมมติแล้วย่อมแต่งตั้งเสนาสนะรวมไว้เป็นพวกๆ สำหรับหมู่สงฆ์ผู้สม่ำเสมอกัน คือภิกษุเหล่าใด เป็นผู้ทรงพระสูตร ท่านก็แต่งตั้งเสนาสนะรวมภิกษุเหล่านั้นไว้แห่งหนึ่งด้วยประสงค์ว่า พวกเธอจักซักซ้อมพระสูตรกัน

ภิกษุเหล่าใด เป็นผู้ทรงพระวินัย ท่านก็แต่งตั้งเสนาสนะรวมภิกษุเหล่านั้นไว้แห่งหนึ่งด้วยประสงค์ว่า พวกเธอจักวินิจฉัยพระวินัยกัน

ภิกษุเหล่าใด เป็นผู้ทรงพระอภิธรรม ท่านก็แต่งตั้งเสนาสนะรวมภิกษุเหล่านั้นไว้แห่งหนึ่งด้วยประสงค์ว่า พวกเธอจักสนทนาพระอภิธรรมกัน ดังนี้ เป็นต้น


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
พุทธรักษา
วันที่ 30 มี.ค. 2553

ในพระสุตตันตปิฎก กล่าวถึง "พระอภิธรรม" ไว้ด้วย

ดังข้อความบางตอนใน มหาโคสิงคสาลสูตร ม. มู. ข้อ ๓๗๔

ท่านพระสารีบุตรกล่าวกะท่านพระมหาโมคคัลลานะ ว่า ท่านโมคคัลลานะ เราจะขอถามท่านว่า ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละ มีดอกบานสะพรั่งทั้งต้น กลิ่นคล้ายทิพย์ ย่อมฟุ้งไป ท่านโมคคัลลานะ ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร

ท่านพระมหาโมคคัลลานะตอบว่า ท่านพระสารีบุตร ภิกษุสองรูปในพระศาสนานี้ กล่าว อภิธรรมกถา เธอทั้งสองนั้น ถามกันและกันแล้ว ย่อมแก้กันเอง ไม่หยุดพักด้วย และธรรมกถาของเธอทั้งสองนั้น ย่อมเป็นไปด้วยท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวัน พึงงามด้วยภิกษุ เห็นปานนี้แล

ในปุณณมัตตานีปุตตเถราปทาน ขุ. อปทาน ข้อ ๗

ท่านพระปุณณมัตตานีบุตร กล่าวคาถา ใจความว่า เราเป็นผู้ฉลาดใน "นัยแห่งพระอภิธรรม" เป็นผู้ฉลาดด้วยความหมดจดในกถาวัตถุ ยังประชาชนให้รู้แจ้งแล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่

ใน อุปาลีเถราปทาน ขุ. อปทาน ข้อ ๘

ท่านพระอุบาลีเถระ ผู้เลิศฝ่ายทรงพระวินัย ได้กล่าวคาถาไว้ตอนหนึ่งว่า "ธรรมวิถี" พระองค์ทรงสร้างไว้สวยงาม พระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม และ พระพุทธพจน์ อันมีองค์ ๙ ทั้งสิ้นนี้เป็นดัง "ธรรมสภา"

ในพระธรรมของพระองค์ ใน จิตตหัตถิสารีปุตตสูตร อัง. ฉักกนิบาต ข้อ ๓๓๑ มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี ก็สมัยนั้น ภิกษุเถระหลายรูป กลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัต ได้นั่งประชุมสนทนาอภิธรรมกถากันอยู่ในโรงกลม ดังนี้ เป็นต้น.

ใน สารีปุตตสูตร ขุ. สุตตนิบาต ข้อ ๔๒๓

ท่านพระสารีบุตร กล่าวสรรเสริญพระผู้มีพระภาคเจ้า หลังเสด็จกลับจากทรงเทศนาพระอภิธรรม ณ ดาวดึงส์ ด้วยคาถาว่า พระศาสดาผู้มีวาจาไพเราะอย่างนี้ เสด็จมาแต่ชั้นดุสิต สู่ความเป็นคณาจารย์ข้าพระองค์ ยังไม่ได้เห็นหรือไม่ได้ยินจากใครๆ ในกาลก่อนแต่นี้เลย พระองค์ผู้มีพระจักษุ ย่อมปรากฏแก่มนุษย์ทั้งหลายเหมือนปรากฏแก่โลกพร้อมทั้งเทวโลก ฉะนั้น พระองค์ผู้เดียว บรรเทาความมืดได้ทั้งหมด ทรงถึงความยินดีในเนกขัมมะ ศิษย์ทั้งหลาย มีกษัตริย์ เป็นต้น เป็นอันมาก มาเฝ้าพระองค์ผู้เป็นพุทธะ ผู้อันตัณหา ทิฏฐิ ไม่อาศัยแล้ว ผู้คงที่ ไม่หลอกลวง เสด็จมาแล้ว สู่ความเป็นคณาจารย์ ณ เมืองสังกัสสะ นี้ ด้วยปัญหา มีอยู่

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
พุทธรักษา
วันที่ 30 มี.ค. 2553

ข้อความในคาถาเหล่านี้ แสดงให้ทราบว่า ท่านพระสารีบุตร พร้อมด้วยพุทธบริษัทเป็นจำนวนมากได้มาคอยต้อนรับพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เสด็จจากดาวดึงส์พิภพมาลง ณ ที่ใกล้ประตูเมืองสังกัสสะ ด้วยพุทธลีลาอันงดงาม อันใครๆ รวมทั้งท่านพระสารีบุตร ก็ไม่เคยเห็นมาก่อนเลย

สำหรับท่านที่เคยเดินทางไปที่ประเทศอินเดียและได้ไปที่สังกัสสนคร ก็คงจะได้เห็นเสาหินของพระเจ้าอโศกฯ ประดิษฐานอยู่ ณ ที่ๆ เชื่อกันว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์และทรงประทับยืนอยู่ ณ จุดนี้ หลังจากจำพรรษา ๓ เดือน ณ ดาวดึงส์ หลังจากทรงแสดงพระอภิธรรมโปรดเทพบุตร นามว่า "ท้าวสันดุสิต" ผู้เคยเป็นพระพุทธมารดา ให้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน

นี่คือความจริงที่พิสูจน์ได้ว่า พระอภิธรรม มีจริง เป็นพระพุทธพจน์จริง.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระอภิธรรม แก่เทพบุตรผู้เคยเป็นพระพุทธมารดา ณ ดาวดึงส์พิภพตลอดพรรษา ๓ เดือน ทำให้เทวดาเป็นจำนวนมากบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน เป็นต้น แม้เทวดาผู้เคยเป็นพระพุทธมารดาก็ได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุเป็นพระโสดาบัน

อนึ่ง ใน "พุทธธรรมดาของพระพุทธเจ้า" ๓๐ ข้อ ใน ขุททกนิกาย พุทธวงค์ ข้อที่ ๑๙

แสดงว่าพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ทรงแสดงพระอภิธรรม ณ ภพดาวดึงค์

และข้อที่ ๒๐ แสดงว่า

พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ เสด็จลงจากเทวโลก ใกล้ประตูนครสังกัสสะ.
จากหลักฐานทั้งในพระวินัย พระสูตร ที่ยกมาอ้างอิงนี้ คงจะพอยืนยันได้ ว่า พระอภิธรรมต้องเป็นพระพุทธพจน์ แน่นอน

"ธรรม" อันละเอียด สุขุม ลุ่มลึก ที่เรียกว่า "พระอภิธรรม" นี้ผู้ที่ (ทรงตรัสรู้) และทรงแสดงได้ ต้องเป็น "พระสัพพัญญูพุทธเจ้า" เท่านั้น

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Sam
วันที่ 30 มี.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 30 มี.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
bsomsuda
วันที่ 30 มี.ค. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
tanakase
วันที่ 1 เม.ย. 2553

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ทวี
วันที่ 2 เม.ย. 2553

ขออนุโมทนาครับ

อธิบายชัดเจนมากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
homenumber5
วันที่ 3 เม.ย. 2553

อนุโมทนาสาธุ กล่าวได้ชอบแล้ว

พระอภิธรรมเป็นหนึ่งในพระไตรปิฎก นี้ เป็นที่แน่นอน หากแต่พระอภิธรรมนี้เป็นเรื่องลึกซึ้ง เข้าใจยาก แม้แต่ในพุทธกาล ผู้ที่ฟังพระอภิธรรมเมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสสั่งสอน ใช่ว่าพระสาวกและภิกษุทุกท่านได้สดับกันหมด มีอยู่กลุ่มหนึ่งที่ท่านเจ้าของกระทู้เขียนไว้เท่านั้น แต่ชาวพุทธไทยชอบอ่านพระสูตรเป็นเรื่องในพุทธกาลที่สาธยายว่าท่านใด สำเร็จมรรคผลอย่างไร และง่ายขึ้นมาอีก ชอบฟัง ชาดก

นี่เป็นที่มาของการสิ้นสูญพระพุทธศาสนาโดยแท้

เชิญชวนพุทธศาสนิกมาช่วยกันสิกขาพระอภิธรรมกันเถิด

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 4 เม.ย. 2553

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
คนรักธรรมะ
วันที่ 10 เม.ย. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

จากที่เคยทราบมา บางท่านปฏิเสธพระอภิธรรมในปัจจุบัน เพราะเข้าใจว่า มีความคลาดเคลื่อนไปจากเดิมค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
paderm
วันที่ 13 เม.ย. 2553

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ก่อนที่จะปฏิเสธหรือยอมรับในสิ่งใด ต้องศึกษาให้เข้าใจในสิ่งนั้นอย่างละเอียดรอบคอบ พระอภิธรรมจะเป็นพระพุทธพจน์หรือไม่ สำคัญคือศึกษาให้เข้าใจในพระอภิธรรมอย่างละเอียดรอบคอบด้วยปัญญา หากเราเข้าใจความจริงที่ถูกต้องว่า สิ่งใดมีจริง สามารถพิสูจน์ได้ สิ่งนั้นเป็นสัจจะ พระอภิธรรมแสดงถึงความจริงที่มีในขณะนี้ เห็นมีจริง ได้ยินมีจริง เสียงมีจริง เป็นอภิธรรม เพราะเป็นธรรมที่ละเอียดยิ่งโดยสภาวะและไม่เปลี่ยนลักษณะ เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงสัจจะ ความจริง แม้พระอภิธรรมก็เป็นความจริงที่มีในขณะนี้ แสดงถึงความไม่ใช่สัตว์ บุคคล เพราะเป็นอภิธรรมเป็นธรรม แสดงถึงความเป็นอนัตตา คือว่างจากสัตว์ บุคคล ตัวตนนั่นเอง พระอภิธรรมจึงสอดคล้องกับพระสูตรและพระวินัย อันเป็นพระธรรมของพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ ปิฎกครับ

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
คนรักธรรมะ
วันที่ 19 เม.ย. 2553

ยิ่งยุคนี้การเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ทำได้ง่ายกว่าเมื่อก่อนมาก การที่บางท่านปฏิเสธพระอภิธรรมอย่างสิ้นเชิง แต่กลับทำหน้าที่เผยแพร่ธรรมะในความเข้าใจของตน ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้เริ่มศึกษาจะรู้สึกสับสนในพระธรรมได้

คุณ paderm กล่าวไว้ดีแล้วค่ะ ต้องศึกษาให้ละเอียดรอบคอบเสียก่อนที่จะยอมรับหรือปฏิเสธ

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
homenumber5
วันที่ 22 มิ.ย. 2553

เรียนทุกท่าน

การสิกขา จิต เจตสิก รูป คือบาทฐานไปสู่ โลกุตรภูมิ โดยแท้ แม้ยากยิ่ง ต้องสิกขาให้ได้ละเอียดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาศัยกัลยาณมิตรที่บ้านธัมมะนี้ที่ทุกท่านมุ่งมั่นอธิบายอย่างดียิ่ง

ขออนุโมทนาด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
captpok
วันที่ 4 พ.ย. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
Nongnuch
วันที่ 6 พ.ย. 2553

Anumotana ka.

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
pamali
วันที่ 23 พ.ย. 2553

ขอนอบน้อมแด่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบท่านอาจารย์ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
thilda
วันที่ 1 ธ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
วิริยะ
วันที่ 1 เม.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
swanjariya
วันที่ 4 ก.ย. 2565

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
nattanagrit
วันที่ 21 ก.ค. 2566

กราบอนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ