อายุบวร ... ศรีลังกา 11 วัดกัลยานี
วัดกัลยานี
เมื่อไปถึงสนามบินนั้น ไกด์ศรีลังกาประจำคณะมารับและแนะนำตัวเองด้วยภาษาไทย ชัดเจนว่า ชื่อจริงว่า ขยัน และชื่อเล่นว่า รัตนมณี ตอนแรกเราคิดว่าคนไทยคงตั้งให้ เพราะคุณขยันนั้นขยันพูดจริงๆ พูดได้ตลอดเวลา อธิบายเรื่องต่างๆ ให้ฟัง ถ้าไม่พูดกับ พวกเรา ก็พูดกับคนขับรถ หรือไม่ก็พูดโทรศัพท์ สังเกตได้ว่า ปากของคุณขยันนั้นไม่ เคยว่างจากการพูดเลย เพิ่งมาทราบตอนใกล้จะกลับว่า ชื่อจริงนั้น คือ Kayan ซึ่งก็คือ ขยันจริงๆ ด้วย วันแรกๆ คุณขยันพูดภาษาไทยชัดมาก ไม่เพี้ยนเลย เพราะเธอเล่าว่า เคยบวชที่เมืองไทย อยู่แถวบางกรวยเป็นเวลา ๕ ปี แล้วสึกมาเป็นไกด์อยู่ศรีลังกา เพราะถ้าบวชที่ศรีลังกาแล้วไม่สามารถจะลาสิกขาได้ ต้องเป็นพระไปตลอดชีวิต ถ้าสึก มาก็อยู่ลำบาก เพราะชาวบ้านจะนินทา เล่าไปเล่ามาเลยนึกขึ้นได้ว่า เคยเป็นไกด์ให้ คณะเราเมื่อ ๘ ปีก่อน แต่อยู่คนละคันรถ เมื่อสนิทกันมากขึ้น คุณขยันก็เริ่มพูดภาษา ไทยเพี้ยนมากขึ้น มีครั้งหนึ่งเธอพยายามอธิบายการแต่งส่าหรีของคนศรีลังกาว่ามี ๒ แบบ แบบอินเดีย คือ โชสะดอ และแบบศรีลังกา ซึ่งเรียบร้อยมิดชิดกว่า พวกเราก็ฟัง ไม่ออกว่า คืออะไร จนกระทั่งมีสาวศรีลังกาใส่ส่าหรีเดินผ่านมาเป็นตัวอย่าง พอเห็น พวกเราก็ร้อง อ๋อ เพราะโชสะดอ คือ โชว์สะดือนั่นเอง และอีกครั้งหนึ่ง เมื่ออยู่ในแคนดี้ ผ่านตลาดที่เธอบอกว่า เป็นย่านโบ๊เบ๊ จตุจักร ใบหยกของศรีลังกา ใครต้องการ กระป๋องสวยๆ ถูกๆ ก็ลงไปหาซื้อได้เลย เราไม่เข้าใจจริงๆ จึงถามว่า จะเอากระป๋องมา ทำอะไร เธอบอกว่า ก็เอามาใส่ อ๋อ กระโปรงนั่นเอง และเมื่อใกล้จะกลับ ก็ต้องมีคนแปล ภาษาไทยของคุณขยันเป็นภาษาไทยอีกทีจึงจะรู้เรื่อง
เมื่อนั่งรถจากสนามบินไปโรงแรมนั้น เราเกิดกุศลจิต สอบถามคุณขยันว่า ในตอนเช้า ถ้าจะใส่บาตร จะเป็นไปได้ไหม เธอตอบว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะพระศรีลังกาไม่ บิณฑบาต มีชาวบ้านนำอาหารไปถวายที่วัด เราก็เลยถามว่า ถ้าไปวัดแล้วนำอาหารไป ถวายจะได้ไหม เธอตอบว่าเป็นไปไม่ได้อีก เพราะที่ศรีลังกาไม่ได้มีอาหารขายมากมาย เหมือนเมืองไทย ทุกคนจะกินข้าวที่บ้าน และถ้าทำงานก็จะนำอาหารไปกินที่ที่ทำงาน ด้วย ตอนกลางคืนสามทุ่มก็เข้าบ้านนอนกันหมดแล้ว ชาวศรีลังกาเป็นผู้ที่ใช้ชีวิตอย่าง สมถะเรียบง่ายตามวิถีพุทธจริงๆ
ตอนเช้าวันแรกที่ขึ้นรถตอน ๘ โมงเช้า เพื่อชมวัดกัลยาณี หรือวัดเกลาณียา (Kelaniya Raja Maha Virahara Temple) ในโคลอมโบนั้น คุณขยันก็เริ่มเล่าว่า ชาว ศรีลังกานับถือศาสนาพุทธ ๖๘% นอกจากนั้นเป็นคริสต์ ฮินดู และอิสลาม พุทธศาสนาในศรีลังกาก็แบ่งออกเป็น ๓ นิกาย คือ สยามนิกาย นิกายพม่า และนิกาย มอญ (จำชื่อเป็นภาษาศรีลังกาไม่ได้ เพราะทั้งรัวและเร็ว) มีวัดทั้งหมด ๘,๐๐๐ แห่ง สยามนิกายใหญ่ที่สุด มีวัดประมาณ ๕,๐๐๐ แห่ง
ชาวศรีลังกาที่เป็นชาวพุทธมีธรรมเนียมปฏิบัติประจำวัน คือ ก่อนทำงานจะสวดมนต์ สรรเสริญพระรัตนตรัย และสวดให้มารดาบิดา พวกเราจึงขอทำตามธรรมเนียมชาวศรี ลังกาบ้าง คุณขยันก็ยินดีนำสวดสรรเสริญพระรัตนตรัยด้วยสำเนียงศรีลังกาที่ไพเราะ คณะเราจึงมีการสวดมนต์เช้าในรถทุกวันตลอดการเดินทาง ไม่รวมถึงการสวดมนต์เมื่อ เวียนเทียนประทักษิณในแต่ละแห่ง บางคนบอกว่าสวดมนต์มากกว่าตอนอยู่เมืองไทย อีก
วัดกัลยาณีเป็นวัดพุทธใหญ่ที่สุดและเก่าที่สุดในศรีลังกา ในอรรถกถาแสดงว่า เมื่อนำ หน่อต้นพระศรีมหาโพธิ์มาที่เกาะลังกาครั้งแรก และเมื่อเกิดผลสุกขึ้น ได้นำหน่อที่เกิด จากผลนั้นมาปลูกที่วัดกัลยาณีด้วย ซึ่งก็น่าจะมีอายุเกิน ๒,๐๐๐ ปี แต่คุณขยันบอกว่า ต้นโพธิ์ที่เห็นในวัด มีอายุพันกว่าปี ต้นนี้อาจจะเป็นหน่อต่อจากต้นแรกก็ได้ แต่ก็ไม่ สำคัญอะไร เพราะต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นธงชัยของพระสัทธรรมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะอายุ เท่าไร ก็เป็นเครื่องหมายว่า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้พระ สัทธรรมใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงประกอบด้วยพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระ มหากรุณาคุณอันยิ่งใหญ่ที่ทรงแสดงธรรมอันลึกซึ้ง รู้ตามได้ยากนี้แก่พุทธบริษัทผู้ที่ สะสมปัญญาบารมีมามากพอที่จะรู้ตามได้
มีเรื่องเล่าซึ่งไม่มีในอรรถกถา (หรือเรายังค้นไม่พบ) ว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จมาที บริเวณนี้พร้อมกับภิกษุชาวเมืองกบิลพัสดุ์และโกลิยะ ในวันเพ็ญเดือน ๖ หลังจากตรัสรู้ แล้ว ๘ ปี เป็นการเสด็จเกาะลังกาเป็นครั้งที่ ๓
หลังจากนำผ้าไตรจีวรที่นำมาจากเมืองไทยถวายเป็นผ้าป่าแก่ภิกษุในวัดนี้แล้ว ก็เข้า ไปนมัสการต้นพระศรีมหาโพธิ์ในบริเวณวัด แม้วันนี้เป็นวันจันทร์ ไม่ใช่วันหยุด และไม่ ใช่วันพระ (คุณขยันบอกว่า ถ้าเป็นวันพระจะมีชาวศรีลังกาเข้ามานมัสการต้นพระศรี มหาโพธิ์เป็นพันๆ คน เธอบอกว่า ๔,๐๐๐ คน คุณขยันจะเป็นคนที่บอกตัวเลขที่แปลก มาก เช่น บอกว่าใช้เวลาเดินทาง ๓๗ นาที เป็นต้น) ก็มีชาวศรีลังกามานมัสการต้นพระ ศรีมหาโพธิ์มากมาย แต่ละคนนุ่งขาวห่มขาว บางกลุ่มก็นั่งสวดมนต์เสียงไพเราะ
บางกลุ่มก็เวียนประทักษิณด้วยหม้อเล็กๆ บรรจุน้ำเพื่อรดต้นโพธิ์ บ้างก็นำดอกไม้มาวาง ถวายรอบๆ ส่วนพวกเรานำโคมประทีปจากเมืองไทยมาเวียนประทักษิณ มีชาวศรีลังกา หลายคนเข้ามาจับโคมประทีปสาธุการ ซึ่งได้อธิบายให้คณะผู้ร่วมทางรู้ล่วงหน้าก่อน แล้ว จะได้ไม่เอามือหนีไปอย่างที่เราเคยทำ บรรยากาศรอบข้างดูน่าอนุโมทนาจริงๆ เมื่อเวียนเทียนประทักษิณต้นโพธิ์แล้ว ก็เข้าไปชมวิหารใหญ่ใกล้ๆ กัน มีภาพวาดฝา ผนังเกี่ยวกับพุทธประวัติ และประวัติการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในศรีลังกามากมาย เช่น ภาพที่พระนางสังฆมิตตานำหน่อต้นพระศรีมหาโพธิ์ขึ้นเรือจากอินเดียมาที่เกาะ ลังกา
ภาพพระนางเหมมาลานำพระเขี้ยวแก้วซ่อนไว้ในมวยผมจากอินเดียมาศรีลังกา ภาพท่านพระพุทธโฆษาจารย์ ผู้แต่งคัมภีร์วิสุทธิมรรค กำลังแปลพระไตรปิฎกจากภาษา บาลีเป็นภาษาสิงหล คุณขยันก็บรรยายทุกภาพ ทั้งปี พ.ศ. และเรื่องราวบุคคลต่างๆ ที่มี ชื่อเรียกยากทั้งหลายมากมาย สติปัญญาของคนอายุขนาดเราจดจำไม่ไหว เมื่อไม่ สามารถจะจดจำได้ สติปัญญาอีกเหมือนกันก็เข้าข้างตัวเองว่าไม่ใช่สาระสำคัญ เป็น เพียงชื่อ ที่เป็นสมมติบัญญัติ ไม่มีลักษณะจริงๆ ปรากฏให้ศึกษาพิจารณา รู้แต่ว่า เพียงว่า สมัยหนึ่ง อย่างที่ท่านใช้ในพระไตรปิฎก หรือที่ท่านอาจารย์พูดว่า ณ กาล ครั้งหนึ่งนั้น มีผู้ศึกษาพระธรรมจนเข้าใจและมีศรัทธานำมาเผยแพร่ที่นี้ ต้องขอกราบ ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของท่านทั้งหลาย ที่ทำให้มีโอกาสได้มา เห็นภาพประวัติศาสตร์ต่างๆ เหล่านี้
ภายในวิหารมีพระพุทธรูปปางต่างๆ ประดิษฐานอยู่หลายองค์
มีพระพุทธรูปไสยาสน์องค์ใหญ่มากด้วย มีชาวศรีลังกานำดอกไม้มาวางบนแท่นหน้า พระพุทธรูปหลายคนเมื่อเห็นเรา ก็นำดอกไม้ที่ห่อผ้าขาวมาแบ่งให้เราบูชาด้วย เรา รับด้วยความไม่แน่ใจเท่าไร เพราะถ้าเป็นที่อินเดียแล้ว ต้องจ่ายเงิน แต่เมื่อมองดูผู้ให้ หน้าตาก็ดู บริสุทธิ์ใจดี จึงรับมาและพูดคำว่าสาธุการ ไมตรีจิตของคนศรีลังกานั้นผิดกับที่อินเดีย มากมาย (เฉพาะคนอินเดียที่มีโอกาสได้พบเท่านั้น)
เมื่อจะออกจากวิหาร มีเด็กเล็กๆ ทราบว่าเป็นนักเรียนชั้นอนุบาลเข้ามาไหว้พระมาก มาย คุณขยันบอกว่า ที่ศรีลังกานิยมพานักเรียนมาทัศนศึกษานอกสถานที่ อย่างที่วัด ซึ่งไม่ว่าเราจะไปที่ไหน ก็จะพบเด็กแต่งเครื่องแบบนักเรียน ซึ่งเป็นชุดขาว ทั้งชาย และหญิง ต่างๆ วัย ไปทัศนศึกษาทุกแห่ง
สถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของวัดนี้ คือ พระเจดีย์สีขาวบริสุทธิ์ที่อยู่ด้านหลังวิหาร เป็นที่บรรจุพระบัลลังก์ทองที่กษัติรย์มโหทรและกษัตริย์จุโลทรทรงยื้อแย่งกัน จน กระทั่งพระผู้มีพระภาคเสด็จมาห้าม และทรงเทศนาโปรดให้เกิดความสันติสุข บัลลังก์ ทองคำนี้จึงถูกนำขึ้นถวายเพื่อเป็นพุทธบูชา (อันนี้ไม่ได้จำ เพราะลอกมา) เราได้เดิน ประทักษิณรอบเดียว เพราะเกือบเที่ยงแล้ว อากาศร้อนมาก จนพื้นทรายรอบๆ พระเจดีย์ นั้นก็ร้อนไปด้วย จนเดินเกือบไม่ได้ ตอนนั้นไม่ได้ระลึกถึงลักษณะของร้อนว่าเป็น รูปธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้นเลย
เมื่อจะออกจากวัด เห็นแม่อุ้มลูกน้อยซึ่งเป็นทารกวัยไม่น่าจะถึง ๑ เดือนมาไหว้ต้นพระ ศรีมหาโพธิ์ คุณขยันบอกว่า คนศรีลังกานิยมทำกัน เพราะปลูกฝังให้มีศรัทธาในพระ พุทธศาสนาตั้งแต่ยังไม่รู้เดียงสาอย่างนี้ คนศรีลังกาจึงรักษาพระศาสนาให้อยู่รอด อย่างมั่นคงจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะเป็นเมืองขึ้นชาติตะวันตกหลายร้อยปีก็ตาม และชาติ ต่างๆ เหล่านั้นก็พยายามเปลี่ยนศาสนา โดยใครนับถือศาสนาของเขา ก็จะได้เรียนฟรี บ้าง หรือให้ทำงานมีเงินเดือนดีบ้าง แต่ก็เปลี่ยนได้เพียงบางส่วนเท่านั้น คนส่วนใหญ่ ก็ยังนับถือพระพุทธศาสนา ใช้ชีวิตแบบวิถีพุทธโดยปลูกฝังตั้งแต่เด็ก ให้เห็นคุณค่า ทางจิตใจมากกว่าวัตถุ ซึ่งตรงกันข้ามกับบางประเทศที่เรียกตัวเองว่า เป็นเมืองพุทธ เด็กบ้านเรานั้นพอเริ่มรู้ความ พ่อแม่ก็ส่งไปกวดวิชาเพื่อแข่งกันเข้าโรงเรียนดีๆ เพื่อจะ ได้มีอาชีพดีๆ ที่หาเงินได้มากๆ ซึ่งเงินมากๆ นั้นไม่มีวันพอกับความต้องการ จึงมีการฉ้อ ราษฎร์บังหลวงขนานใหญ่ เกือบทุกคนจะบอกว่า โกงบ้างไม่เป็นไร ไม่ทราบว่าเป็นคำ สอนของศาสดาองค์ใด หรือผู้ที่นับถือเงินเป็นพระเจ้า บ้านเมืองถึงวุ่นวายสับสนแบ่ง แยกกันอย่างนี้
ออกไปไกลตัวอีกแล้ว ลืมไปว่า พระธรรมนั้นมีไว้เพื่อให้ตนเองน้อมประพฤติปฏิบัติ ตาม ไม่ต้องไปกะเกณฑ์คนอื่น ระลึกลักษณะของสภาพจิตของตนเองดีกว่าว่า เป็น กุศลหรืออกุศล ถ้าเป็นกุศลก็ควรเจริญ ถ้าเป็นอกุศลก็ควรละ
แต่ละวรรค เล่าเรื่องที่ได้ยินได้ฟังดีมาก ถ้ายังมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่รู้ด้วยใจ ที่อยากจะบอก ในแต่ละวรรคนั้นๆ โปรดบอกมาเถิด
... ทรงประกอบด้วยพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณอันยิ่งใหญ่ที่ ทรงแสดงธรรมอันลึกซึ้ง รู้ตามได้ยากนี้แก่พุทธบริษัทผู้ที่สะสมปัญญาบารมีมามากพอ ที่จะรู้ตามได้
ชาวศรีลังกามีศรัทธามาก แต่ขาดความเข้าใจในธรรมะที่ถูกต้อง
ขออนุโมทนาคุณ kanchana.c ค่ะ
รบกวนถามเกี่ยวกับคุณขยัน ซึ่งเป็นชาวศรีลังกา ว่าจะสามารถติดต่อได้อย่างไรค่ะ ... เพราะดิฉันสนใจจะไปประเทศนี้ค่ะ และต้องการไกด็อย่างคุณขยัน ... กรุณาด้วยน่ะค่ะ
ขอบคุณค่ะคุณ kanchana.c
เรียนคุณ Mira
email address ของคุณขยัน คือ bampasuk@yahoo.co.uk คุณขยันทำงานให้บริษัททัวร์ในศรีลังกา ชื่อบริษัท Jetwing แต่ยังหา email add. ไม่ได้ อาจจะหาจาก google ก็ได้ค่ะ ถ้าไม่สะดวกจะติดต่อกับคุณเกรียงศักดิ์ (คุณขาว) ที่เบอร์ 089 797 4488 ก็ได้ค่ะ คุณขาวกำลังจะพาคณะไปถวายบาตรที่มหินทะเล (ตามที่ได้เล่าไว้แล้วในเรื่องนี้) ในวันที่ ๒๓ ก.ค. นี้ค่ะ ติดต่อตอนนี้คงทัน เพราะไม่ต้องทำวีซ่า และต้องได้พบกับคุณขยันแน่นอนค่ะ
ขอบคุณที่ติดตามอ่านเรื่องค่ะ