วิปัสสนาภาวนา - ตอนที่ ๗.

 
พุทธรักษา
วันที่  5 เม.ย. 2553
หมายเลข  15841
อ่าน  1,279

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ข้อความบางตอน จากหนังสือ
ปรมัตถธรรมสังเขป ฯโดย
อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ผู้อบรมปัญญา "เป็นผู้ตรง" (ตรงต่อสภาพธรรม) เมื่อ "สติปัฏฐานเกิด" ก็ รู้ ว่า ต่างกับขณะที่ "หลงลืมสติ" เมื่อ สติปัฏฐาน (เริ่ม) เกิดในตอนต้นๆ นั้น "ยังไม่รู้ชัด" ในลักษณะของ นามธรรม และ รูปธรรม (เพราะฉะนั้น) "ความเพียร" ที่เกิดพร้อมสติปัฏฐาน-ที่ระลึกรู้ สังเกต-พิจารณา-ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม-ที่กำลังปรากฏ จึงเป็น "สัมมัปปธาน ๔"

สัมมัปปธาน ๔ คือ

สังวรปธาน ๑
ปหานปธาน ๑
ภาวนาปธาน ๑
อนุรักขนาปธาน ๑

"สังวรปธาน" คือ เพียรเพื่อไม่ให้อกุศลธรรม (ที่ยังไม่เกิดไม่เกิด) เกิดขึ้น

"ปหานปธาน" คือ เพียรเพื่อ-ละ-อกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว

"ภาวนาปธาน" คือ เพียรเพื่อให้-กุศลธรรม (ที่ยังไม่เกิดขึ้น) เกิดขึ้น

"อนุรักขนาปธาน" คือ เพียรเพื่อความเจริญ มั่นคง บริบูรณ์-ของกุศลธรรม-ที่เกิดขึ้นแล้ว

"ความเพียร" ซึ่งเป็น "สัมมัปปธาน ๔" นั้นย่อมเป็น "บาทให้สำเร็จ-ผล" ร่วมกับ "สัมปยุตตธรรมทั้งหลาย" ที่เกิดร่วมกับสภาพธรรมที่เป็น "อิทธิบาท ๔"

"อิทธิบาท ๔"

คือ

๑. "ฉันทิทธิบาท" ได้แก่ "ฉันทเจตสิก" ความพอใจที่จะสังเกต พิจารณา รู้-ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริง
* การยังผลสำเร็จให้เกิดขึ้น โดยอาศัยความพอใจนั้นพึงเห็น เช่น บุตรอำมาตย์ "ผู้ไม่ประมาทในการบำรุงพระราชา" จึงได้ฐานันดร โดยอาศัยการบำรุงนั้น

๒. "วิริยิทธิบาท" ได้แก่ "วิริยเจตสิก" ความเพียรที่จะสังเกต พิจารณา รู้-ลักษณะของนามธรรม และ รูปธรรมที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริง.
* การยังผลสำเร็จให้เกิดขึ้น โดยอาศัยความเพียรนั้นพึงเห็น เช่นกับ บุตรอำมาตย์ ผู้ยังพระราชาให้พอพระทัยโดย "ความเป็นผู้กล้าหาญในการงาน" แล้วได้ฐานันดร

๓. "จิตติทธิบาท" ได้แก่ "จิต" * ....การยังผลสำเร็จให้เกิดขึ้น โดยอาศัยจิต นั้น พึงเห็น เช่นกับ บุตรอำมาตย์ ผู้ได้ฐานันดร เพราะ "ความถึงด้วยดีแห่งชาติ"

๔. "วิมังสิทธิบาท" ได้แก่ "ปัญญาเจตสิก" ปัญญา ที่ไตร่ตรอง สังเกต พิจารณา-ลักษณะของสภาพธรรม.
* การยังผลสำเร็จให้เกิดขึ้น โดยอาศัย "ปัญญา" นั้นพึงเห็น เช่นกับบุตรอำมาตย์ ผู้ได้ฐานันดรโดย "กำลังแห่งภาวะ-อันเป็นที่อาศัย" (โดยความสามารถ) ของตนๆ

( * จาก สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาวิภังคปกรณ์ อิทธิปาทวิภังคนิทเทส)

ขออนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
พุทธรักษา
วันที่ 5 เม.ย. 2553

จากข้อความข้างต้น ขอความกรุณาขยายความ คำว่า "ความถึงด้วยดีแห่งชาติ" โดย "กำลังแห่งภาวะอันเป็นที่อาศัย" (โดยความสามารถ) ของตนๆ


ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
prachern.s
วันที่ 6 เม.ย. 2553

คำว่า "ความถึงด้วยดีแห่งชาติ" ท่านอธิบายอุปมาว่า บุตรอำมาตย์ได้ยศตำแหน่ง เพราะท่านเกิดในสกุลสูง คือเกิดเป็นลูกของอำมาตย์ ซึ่งโดยชาติสกุล เป็นตระกูลที่สูงศักดิ์ จิตก็เช่นเดียวกัน ที่จะเป็นอิทธิบาทต้องเป็นชาติกุศล ที่มีกำลัง ไม่ใช่ชาติวิบากหรือชาติอกุศล

ส่วนคำว่า โดย "กำลังแห่งภาวะอันเป็นที่อาศัย" (โดยความสามารถ) ของตนๆ ท่านอธิบายอุปมาที่ว่า ลูกของอำมาตย์ที่มีความสามารถ จึงได้ยศตำแหน่งได้ เหมือนปัญญาซึ่งเป็นสภาพรู้ทั่วในสาภาพธรรมตามความเป็นจริง จึงเป็นอิทธิบาท

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
inthanin
วันที่ 7 เม.ย. 2553

บัวใต้ตมจะเข้าใจอย่างไรกันเนี่ย

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
พุทธรักษา
วันที่ 7 เม.ย. 2553

พระธรรมคำสอนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสรู้ และ ทรงแสดง มีหลายระดับค่ะ ขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นภาวนา มีฉันทะในระดับไหน ก็แล้วแต่อัธยาศัยที่สะสมมา ไม่ใช่เรื่องบังคับเลยค่ะ

จากไม่รู้อะไรดีอะไรชั่วเลย มาเป็นรู้บ้าง และรู้มากขึ้นๆ ๆ จนกระทั่ง "ตรัสรู้" ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยค่ะ เหมือนว่ายน้ำทวนกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก เป็นการต่อสู้กับกิเลสของตนเองที่ได้สะสมมา

ก่อนจะเป็นดอกบัวที่บานรับแสงอาทิตย์ได้ ทุกคนต้องเป็นบัวในตมมาก่อนทั้งนั้น กระบวนการ เวลา และอุปสรรคนานาประการ นั้น ทราบดีอยู่

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 16 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ