ความหมายของทุกข์ โดยนัยต่างๆ
[เล่มที่ 77] พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 316
จริงอยู่ ขึ้นชื่อว่าทุกข์นี้มีประการต่างๆ เป็นอเนก คือ ทุกขทุกข์ (ทุกข์เพราะทนได้ยาก) วิปรินามทุกข์ (ทุกข์เพราะเปลี่ยนแปลง) สังขารทุกข์ (ทุกข์ของสังขาร) ปฏิจฉันนทุกข์ (ทุกข์ปกปิด) อัปปฏิจฉันนทุกข์ (ทุกข์เปิดเผย) ปริยายทุกข์ (ทุกข์โดยอ้อม) นิปปริยายทุกข์ (ทุกข์โดยตรง) .
บรรดาทุกข์เหล่านั้น ทุกขเวทนาที่เป็นไปทางกายและจิต ชื่อว่าทุกขทุกข์ เพราะเป็นทุกข์ทั้งโดยสภาวะทั้งโดยชื่อ.
สุขเวทนา ชื่อว่า วิปรินามทุกข์ เพราะเหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์ โดยการเปลี่ยนแปลง.
อุเบกขาเวทนา และสังขารทั้งหลายที่เหลือเป็นไปในภูมิ ๓ ชื่อว่า สังขารทุกข์ เพราะถูกความเกิดและดับบีบคั้น ก็ความบีบคั้น (ด้วยความเกิดและดับ) ย่อมมีแม้แก่มรรคและผลทั้งหลายเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น พึงทราบว่าธรรมเหล่านั้น ชื่อว่า สังขารทุกข์ ด้วยอรรถว่า นับเนื่องด้วยทุกขสัจจะ.
ความป่วยไข้ทางกายและจิตมีปวดหู ปวดฟัน ความเร่าร้อนเกิดแต่ราคะ ความเร่าร้อนเกิดแต่โทสะเป็นต้น ชื่อว่า ปฏิจฉันนทุกข์ เพราะต้องถามจึงรู้และเพราะก้าวเข้าไปแล้วก็ไม่ปรากฏ ท่านเรียกว่า ทุกข์ไม่ปรากฏดังนี้บ้าง
ความป่วยไข้มีการถูกลงกรรมกรณ์ ๓๒ เป็นต้น เป็นสมุฏฐาน ชื่อว่า อัปปฏิจฉันนทุกข์ เพราะไม่ถามก็รู้ได้ และเพราะเข้าถึงแล้วก็ปรากฏ ท่านเรียกว่า ปรากฏทุกข์บ้าง.
ทุกข์แม้ทั้งหมดมีชาติเป็นต้น อันมาแล้วในวิภังค์ แห่งทุกขสัจจะ เว้นทุกขทุกข์ที่เหลือ ชื่อว่า ปริยายทุกข์ เพราะเป็นวัตถุ (ที่อาศัยเกิด) แห่งทุกข์นั้นๆ .
ทุกขทุกข์ ชื่อว่า นิปปริยายทุกข์