ความสุขที่ยอดเยี่ยมในโลก [มุจจลินทสูตร]

 
JANYAPINPARD
วันที่  8 เม.ย. 2553
หมายเลข  15853
อ่าน  1,951

[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 161

๑. มุจจลินทสูตร

ว่าด้วยความสุขที่ยอดเยี่ยมในโลก

[๕๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ ประทับอยู่ที่ควงไม้มุจลินท์ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลา ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขด้วยบัลลังก์อันเดียวตลอด ๗ วัน

สมัยนั้น อกาลเมฆใหญ่เกิดขึ้นแล้ว ฝนตกพรำตลอด ๗ วัน มีลมหนาวประทุษร้าย ครั้งนั้นแล พญามุจลินทนาคราชออกจากที่อยู่ของตน มาวงรอบพระกายของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยขนดหาง ๗ รอบ แผ่พังพานใหญ่เบื้องบนพระเศียรด้วยตั้งใจว่า ความหนาวอย่าได้เบียดเบียนพระผู้มีพระภาคเจ้า ความร้อนอย่าได้เบียดเบียนพระผู้มีพระภาคเจ้า สัมผัสแห่งเหลือบยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานอย่าได้เบียดเบียนพระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นพอล่วงสัปดาห์นั้นไป

พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากสมาธินั้นครั้งนั้น พญามุจลินทนาคราชทราบว่า อากาศโปร่ง ปราศจากเมฆแล้วจึงคลายขนดหางจากพระกายพระผู้มีพระภาคเจ้า นิรมิตเพศของตนยืนอยู่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า ประนมอัญชลีนมัสการพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่. ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า วิเวกเป็นสุขของผู้ยินดี มีธรรมอันสดับแล้ว พิจารณาเห็นอยู่ ความไม่เบียดเบียน คือ ความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย เป็นสุขในโลก ความเป็นผู้ มีราคะไปปราศแล้ว คือ ความก้าวล่วงซึ่งกาม ทั้งหลายเสียได้ เป็นสุขในโลก ความนำออกซึ่ง อัสมิมานะเสียได้ นี้แลเป็นสุขอย่างยิ่ง.

จบมุจจลินทสูตรที่ ๑

คำอธิบายจากอรรถกถาบางตอน

บทว่า มุจลินฺโท นาม นาคราชา ได้แก่ พระยานาคผู้มีอานุภาพมาก บังเกิดในนาคภพอยู่ภายใต้สระโบกขรณี ใกล้ต้นมุจลินท์นั้นแหละ.

บทว่า สกภวนา แปลว่า จากภพนาคของตน.

บทว่า สตฺตกฺขตฺตุํ โภเคหิปริกฺขิปิตฺวา ความว่า เอาขนดแห่งร่างของตนล้อมพระกายพระผู้มีพระภาคเจ้า ๗ รอบ.

บทว่า อุปริมุทฺธนิ มหนฺตํ ผณํ วิหจฺจ ความว่า แผ่พังพานใหญ่ของตนเบื้องบนส่วนพระเศียรของพระผู้มีพระภาคเจ้า. ปาฐะว่า ผณํ กริตฺวา ดังนี้ก็มี. อรรถก็อันนั้นแหละ. ได้ยินว่า พระยานาคนั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ก็พระผู้มีพระ-ภาคเจ้าประทับอยู่ ณ โคนไม้ใกล้ภพของเรา และฝนพรำตลอด ๗ วันนี้ ยังเป็นไปอยู่ ควรจะได้ที่พักสำหรับพระองค์. พระยานาคนั้นเมื่อไม่สามารถจะนิรมิตปราสาทอันแล้วด้วยรัตนะ ๗ ก็คิดว่า เมื่อเราทำอย่างนี้ จักชื่อว่าไม่ได้ยึดกายให้เป็นสาระ เราจักทำความขวนขวายทางกายแก่พระ-ทศพล จึงนิรมิตกายให้ใหญ่ ใช้ขนดล้อมพระศาสดา ๗ รอบแล้วแผ่พังพานไว้ในเบื้องบน. ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาขันธกะว่า ภายในวงล้อมมีขนาดเท่าห้องภัณฑาคารที่เก็บของในโลหปราสาท แต่ในอรรถกถามัชฌิมนิกายท่านกล่าวไว้ว่า มีขนาดเท่าภายใต้โลหปราสาท ได้ยินว่าพระยานาคมีอัธยาศัยดังนี้ว่า พระศาสดาจักประทับอยู่ด้วยอิริยาบถที่ทรงมุ่งมาดปรารถนา.

ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งอยู่ตามเดิมนั่นแหละยับยั้งอยู่สัปดาห์หนึ่ง. ก็ที่นั้นได้เป็นประหนึ่งกูฏาคาร มีหน้าต่างปิดมิดชิดประตูมีลิ่มสลักสนิทดี.

คำมีอาทิว่า มา ภควนฺตํ สีตํ เป็นคำแสดงเหตุที่พระยานาคนั้นทำอย่างนั้น. จริงอยู่ พระยานาคนั้นคิดว่า ขอความหนาว ความร้อน สัมผัสแห่งเหลือบเป็นต้น อย่าเบียดเบียนพระผู้มีพระภาคเจ้าเลย จึงได้กระทำอย่างนั้นอยู่. ในการกระทำอันนั้น เฉพาะความร้อนย่อมไม่มี เพราะฝนตกพรำตลอด ๗ วัน ก็จริง ถึงอย่างนั้นถ้าฝนขาดเม็ดเป็นระยะๆ ความร้อนก็จะพึงมี ความร้อนแม้นั้น ก็อย่าได้เบียดเบียนเลย เพราะฉะนั้น พระยานาคนั้นคิดอย่างนั้นก็ควรแล้ว แต่ในข้อนี้ อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ศัพท์ว่า อุณหะ ความร้อนเป็นการระบุถึงเหตุในการเอาขนดล้อมให้ไพบูลย์กว้างขวาง. ก็เมื่อทำวงล้อมของขนดเล็ก ไออุ่นอันเกิดจากร่างของพระยานาคจะพึงเบียดเบียนพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่เพราะกระทำวงขนดกว้างขวาง ความร้อนเช่นนั้นก็เบียดเบียนไม่ได้ เพราะฉะนั้น พระยานาคจึงได้ทำเช่นนั้นอยู่....


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 17 ธ.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ