เห็นสักแต่ว่าเห็น กับ เห็นไม่รู้ว่าเห็น

 
ups
วันที่  10 เม.ย. 2553
หมายเลข  15864
อ่าน  3,501

เรียน อาจารย์ประเชิญ

คำที่ว่าเห็นสักแต่ว่าเห็นโดยพระธรรมที่พระพุทธองค์ตรัส กับ เห็นไม่รู้ว่าเห็น นั้นมี ความแตกต่างกันอย่างไร และขอเชิญทุกท่านร่วมสนทนา

ขอบพระคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 10 เม.ย. 2553

ตามคำถาม พระพุทธพจน์ ที่เป็นภาษาบาลีมีว่า ทิฏฺเฐ ทิฏฺฐมตฺตํ ภวิสฺสติ

ในพระไตรปิฎกภาษาไทยนิยมแปลว่า เมื่อเห็นแล้วก็สักแต่ว่าเห็น และยังมีทวารอื่นๆ มีข้อความเหมือนกัน คือ สุตํ มุตํ วิญญาตํ เมื่อได้ยิน ... เป็นต้นซึ่งศึกษาย่อมทราบว่า พระพุทธองค์ตรัสกับผู้ฟังที่มีปัญญามาก คือ ท่านพระพาหิยะ เมื่อท่านฟังจบแล้ว ท่านก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ เพราะท่านแทงตลอดในอรรถของพระธรรมที่ทรงแสดง สำหรับคำที่ว่า เห็นแล้วไม่รู้ว่าเห็น เป็นลักษณะของจิตผู้ไม่มีปัญญา มีจิตประกอบด้วยอวิชชา โมหะ สรุปคือทั้ง ๒ ประโยคที่ท่านกล่าวถึง ตรงกันข้ามกัน โดยสิ้นเชิงครับ

ขอเชิญคลิกอ่าน

สักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยิน ฯลฯ หมายความว่าอย่างไร

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 10 เม.ย. 2553

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

เห็นสักแต่ว่าเห็น ไม่ใช่สักแต่ว่าเห็นเฉยๆ เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของปัญญาครับ เห็น แล้วก็รู้ว่าเห็นเป็นธรรมหรือเห็นความไม่เที่ยงของสภาพธรรมด้วยปัญญา แต่ไม่ใช่เห็น เฉยๆ ไม่รู้อะไร ดังคำที่นิยมพูดกันว่าเห็นแล้วก็อย่าปรุงแต่งเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งไม่ถูก เป็นไปไม่ได้เมื่อเห็นแล้วจะไม่ปรุงแต่งเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ขณะที่เห็นปัญญาสามารถ เกิดต่อรู้ว่าเป็นธรรม รู้ด้วยปัญญาจึงเป็นเห็นสักแต่ว่าเห็น เปรียบเหมือนจิตเห็นที่เห็น รูปแล้วก็ไม่ติดข้องเพราะเป็นเพียงการเห็นฉันใด การเห็นสักแต่ว่าเห็นด้วยปัญญาก็ไม่ มีกิเลสเกิดขึ้น สักแต่ว่าเห็นฉันนั้นครับ ส่วนคำว่าเห็นไม่รู้ว่าเห็นก็ไม่ได้รู้ตามความ เป็นจริงว่าเป็นธรรม เป็นเรื่องของความไม่รู้ครับ

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เมตตา
วันที่ 11 เม.ย. 2553

การอบรมความเห็นถูกเข้าใจถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ว่าเป็นเพียงลักษณะ
ของรูปธรรม และนามธรรม ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่จริงที่กำลังปรากฏอยู่นั้นเป็นแต่เพียง

ธรรมะ ไม่ใช่เรา เป็นสิ่งที่ควรอบรมให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นค่ะ

... กราบอนุโมทนาค่ะ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ชีวิตคือขณะจิต
วันที่ 11 เม.ย. 2553

ผมได้คลิกอ่าน สักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยิน ฯลฯ หมายความว่าอย่างไร

ขอยกข้อความมาสอบถาม

คำอธิบายจากอรรถกถา แต่เมื่อพระองค์จะทรงแสดงอาการที่จะพึงศึกษา จึงตรัสคำมีอาทิว่าทิฏฺเฐ ทิฏฺฐมตฺตํ ภวิสฺสติ เมื่อเห็นก็เป็นเพียงแต่เห็น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทิฏฺเฐ ทิฏฺฐมตฺตํ ได้แก่ สักว่าการเห็นรูปายตนะ ด้วยจักขุวิญญาณ. อธิบายว่า เธอพึงศึกษาว่า จักขุ-วิญญาณเห็นซึ่งรูปในรูปเท่านั้น หาเห็นสภาพลักษณะมีอนิจจลักษณะเป็นต้นไม่ ฉันใด รูปที่เหลือจักเป็นเพียงอันเราเห็นด้วยวิญญาณที่เป็นไปทางจักขุทวารนั้นเท่านั้น. อีกอย่างหนึ่ง อธิบายว่า การรู้แจ้งซึ่งรูปในรูปด้วยจักขุวิญญาณ ชื่อว่า เห็นรูปในรูปที่เห็น. ผมไม่เข้าใจข้อความนี้ครับ...เธอพึงศึกษาว่า จักขุวิญญาณเห็นซึ่งรูปในรูปเท่านั้น หาเห็นสภาพลักษณะมีอนิจจลักษณะ เป็นต้นไม่ ...ผมสงสัยว่า ถ้าเห็นรูปในรูปเท่านั้นเป็นการเห็นผิด หรือเห็นถูก ถ้าไม่เห็นอนิจจลักษณะเป็นการเห็นผิด หรือเห็นถูก
โปรดอธิบายด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ups
วันที่ 11 เม.ย. 2553

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 13 เม.ย. 2553

เรียนความเห็นที่ 4 จากคำถามที่ว่า

ผมไม่เข้าใจข้อความนี้ครับ ... เธอพึงศึกษาว่า จักขุวิญญาณเห็นซึ่งรูปในรูปเท่านั้น หาเห็นสภาพลักษณะมีอนิจจลักษณะ เป็นต้นไม่ ... ผมสงสัยว่า ถ้าเห็นรูปในรูปเท่านั้นเป็นการเห็นผิด หรือเห็นถูก ถ้าไม่เห็นอนิจจลักษณะเป็นการเห็นผิด หรือเห็นถูก จักขุวิญญาณหรือจิตเห็นมีหน้าที่รู้ในสิ่งที่ปรากฎทางตา หรือเห็นสี (รูป) เท่านั้น แต่ ไม่ได้เห็นความไม่เที่ยง (อนิจจลักษณะ) เพราะการเห็นความไม่เที่ยง เป็นหน้าที่ของ ปัญญา ไม่ใช่จักขุวิญญาณ จักขุวิญญาณจิต ไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยจึงไม่ สามารถรู้เห็นตามควาเมป็นจริงในความเป็นของไม่เที่ยงได้เลยครับ

ส่วนที่ถามว่าถ้าเห็นรูปในรูปเท่านั้นเป็นการเห็นผิดหรือไม่ การเห็นรูปในรูปหมายถึง จักขุวิญญาณหรือจิตเห็นเกิดขึ้นรู้สิ่งที่ปรากฎทางตาหรือเห็นสี จักขุวิญญาณจิตเมื่อ เกิดขึ้นไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย จึงไม่เห็นความไม่เที่ยง แต่ถามว่ามีความเห็นผิดไหม ในขณะนั้น ไม่มีความเห็นผิดครับ เพราะเพียงเห็นเท่านั้น ไม่ได้มีความเห็นว่าเที่ยง เป็นสัตว์บุคคลอะไร เพราะฉะนั้นไม่ได้หมายความว่าเมื่อไม่เห็นความไม่เที่ยงแล้วจะ ต้องเห็นผิดครับ แม้พระพุทธเจ้าก็ทรงเห็นรูปในรูปคือมีจิตเห็น (จักขุวิญญาณ) เกิดขึ้น พระองค์ก็ไม่มีความเห็นผิดครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
wannee.s
วันที่ 13 เม.ย. 2553

พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม ธรรมทั้งหลายไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เห็นมีจริง เป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ แต่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
เมตตา
วันที่ 13 เม.ย. 2553

จักขุวิญญาณทำกิจเพียงเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น

... ขออนุโมทนาค่ะ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
khampan.a
วันที่ 13 เม.ย. 2553

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด ลึกซึ้ง ยากที่จะเข้าใจ แต่ก็ไม่เหลือวิสัยสำหรับผู้ที่ตั้งใจศึกษา โดยมีจุดประสงค์ที่ถูกต้อง คือ เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกตามความเป็นจริงไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น เมื่อได้ศึกษาบ่อยๆ เนืองๆ ไม่ขาดการฟัง ไม่ขาดการพิจารณา ไตร่ตรอง ความรู้ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ แม้แต่ในเรื่องของจิต ก็เช่นเดียวกัน จิตเป็นสภาพธรรมที่มีจริง จิตเป็นจิต เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตน ในชีวิตประจำวัน ไม่มีขณะใดที่จะปราศจากจิตเลย มีจิตเกิดดับสืบต่ออยู่อย่างไม่ขาดสายเป็นชาติต่างๆ กล่าวคือ เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง เป็นวิบากบ้าง เป็นกิริยาบ้างแต่จะไม่ปะปนกันอย่างเด็ดขาด เพราะเป็นจิตคนละขณะกัน เป็นจิตที่ต่างประเภทกัน

จากข้อความที่ว่า เธอพึงศึกษาว่า จักขุวิญญาณเห็นซึ่งรูปในรูปเท่านั้น หาเห็นสภาพลักษณะมีอนิจจลักษณะ เป็นต้นไม่ ... เริ่มต้นต้องเข้าใจว่า จักขุวิญญาณ คือ อะไร? จักขุวิญญาณ คือ จิตเห็น จิตที่เห็นสีหรือสิ่งที่ปรากฏทางตา เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะสั้นๆ แล้วก็ดับไป จิตเห็นนี้ เป็นอเหตุกจิต ไม่มีเหตุใดๆ เกิดร่วมด้วย เป็นจิตที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ประเภทเท่านั้น คือ ผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิกสัญญาเจตสิก เจตนาเจตสิก เอกัคคตาเจตสิก ชีวิตินทริยเจตสิก และ มนสิการเจตสิก เท่านั้น จึงไม่มีความเห็นผิด รวมถึงไม่มีปัญญา ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เข้าใจถูกเห็นถูก เกิดร่วมด้วยในจิตเห็นนี้เลย ธรรม เป็นเรื่องจริง ตรง และไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะ เป็นจริงอย่าไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ครับ

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ชีวิตคือขณะจิต
วันที่ 14 เม.ย. 2553

ผมถามคำถามตามความเห็นที่ 4 แล้วก็เปิด Web ดูทุกวัน ไม่ได้ดูวันเดียวท่านวิทยากรตอบแล้ว ขอบพระคุณที่เมตตาธรรมขอถามต่อว่าความตอนหนึ่งในอรรถกถาของ พาหิยสูตร กล่าวว่า

... อีกอย่างหนึ่ง รูปที่จักขุวิญญาณเห็น ชื่อว่า ทิฏฐะ. จิต ๓ ดวงคือ สัมปฏิจฉนจิต สันตีรณจิต และโวฏฐัพพนจิต ที่เกิดขึ้นเหมือนอย่างนั้นนั่นแหล ะชื่อว่า ทิฏฐมัตตะ. พึงทราบความใน ข้อนี้อย่างนี้ว่า จิต ๓ ดวงนี้ ย่อมไม่กำหนัด ขัดเคือง ลุ่มหลง ฉันใด เมื่อรูปมาปรากฏ เราก็จักให้ชวนจิตเกิดขึ้นโดยประมาณสัมปฏิจฉนจิต เป็นต้นนั้นนั่นแหละ เราจะไม่ให้ก้าวล่วงประมาณนั้นเกิดขึ้นด้วยความกำหนัดเป็นต้น ฉันนั้น ...

คำถามคือ จิต 3 ดวง คือ สัมปฏิจฉนจิต สันตีรณจิต และโวฏฐัพพนจิต คือ จักขุวิญญาณเห็นซึ่งรูปในรูปเท่านั้น หาเห็นสภาพลักษณะ มีอนิจจลักษณะ เป็นต้นไม่ ใช่หรือไม่ครับ?

อีกคำถามหนึ่ง ... ที่อรรถกถากล่าวว่า เราก็จักให้ชวนจิตเกิดขึ้นโดยประมาณสัมปฏิจฉนจิตเป็นต้นนั้นนั่นแหละ เราจะไม่ให้ ก้าวล่วงประมาณนั้นเกิดขึ้นด้วยความกำหนัดเป็นต้น ... เรากระทำได้หรือ?

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
ups
วันที่ 14 เม.ย. 2553

เป็นหัวข้อที่ดูไม่ยากแต่ถ้าไม่ศึกษาความเป็นจริง ก็ยากยิ่ง ถึงแม้ได้ศึกษาแล้วไม่ว่าจะเป็นการฟัง การอ่าน ก็ยังยากแม้ธรรมะ ซึ่งเกิดและดับเป็นปกติในชีวิตประจำวัน

ขออนุโมทนาในกุศลจิตทุกท่าน

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
prachern.s
วันที่ 15 เม.ย. 2553

เรียนความเห็นที่ ๑๐

- สภาพที่แทงตลอดในลักษณะไตรลักษณ์ คือ ปัญญา ในจักขุวิญญาณไม่มีปัญญา

- หมายถึงกิจของปัญญาที่กระทำกิจนั้น ไม่ใช่เราครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
ชีวิตคือขณะจิต
วันที่ 15 เม.ย. 2553
ขอบพระคุณครับท่าน prachern.s ขอบพระคุณที่เมตตาธรรมครับ ตอบกระทู้นี้ถึง 2 ครั้ง
 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
เมตตา
วันที่ 24 เม.ย. 2553

ขอเชิญคลิกอ่านเพิ่มได้ที่ ...

ศึกษาธรรมทีละคำ

ลักษณะของปัญญา และเหตุผล

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ ...

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ