อายุบวร ... ศรีลังกา 16 มหินตาเล

 
kanchana.c
วันที่  11 เม.ย. 2553
หมายเลข  15875
อ่าน  1,890

มหินตาเล

จากอนุราธปุระ เดินทางมาที่มหินตาเล เพื่อนมัสการสถานที่ท่านพระมหินทเถระพบกับ พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะเป็นครั้งแรก ข้อความในอรรถกถาเรียกสถานที่นี้ว่า มิสสก บรรพตหรือเจติยบรรพต หมายถึงภูเขาแห่งเจดีย์

คุณขยันได้เล่าประวัติบรรพบุรุษของชาวสิงหลว่า เดิมอยู่ที่อินเดีย พระธิดาของพระ ราชาองค์หนึ่งได้เสียกับสิงโต และมีลูกชายด้วยกัน ๓ คน ต่อมาลูกชายคนเล็กได้ฆ่า สิงโตผู้เป็นบิดา และได้อพยพมาอยู่เกาะตอนใต้ของอินเดียในปีที่พระพุทธเจ้า ปรินิพพาน เมื่อขึ้นมาบนเกาะ ได้วางฝ่ามือบนทราย เมื่อยกมือขึ้นมาปรากฏว่าฝ่ามือ เป็นสีแดง จึงเรียกเกาะนี้ว่า ตัมพปัณณิทวีป ซึ่งแปลว่า เกาะของผู้มีฝ่ามือแดง เรา จะเห็นรูปปั้นต่างๆ ที่ทาสีแดงไว้บนฝ่ามือ

และเมื่อพระมหินทเถระมาที่เกาะลังกานั้น ข้อความในอรรถกถาแสดงไว้ว่า มีพวกนาค ยักษ์ รากษสอาศัยอยู่มาก คำว่า นาค ยักษ์ รากษส นั้น คุณขยันอธิบายว่า นาค หมาย ถึง พวกที่อาศัยอยู่ใกล้แม่น้ำ มหาสมุทร ยักษ์ หมายถึง พวกที่อยู่ในป่า และรากษส หมายถึง พวกที่อยู่บนภูเขา แม้ขณะนั้นจะมีพระพุทธศาสนาในอินเดียแล้วก็ตาม แต่ก็ ยังไม่เผยแพร่มาถึงเกาะลังกา ชาวเกาะจึงนับถือมหาสมุทร ต้นไม้ ภูเขา เมื่อท่านพระ มหินทเถระแสดงธรรมครั้งแรกนั้น ได้แสดงเปตวัตถุ ซึ่งแสดงเรื่องกรรมชั่ว และผลของ กรรมชั่วที่ทำให้เกิดเป็นเปรตลักษณะต่างๆ และวิมานวัตถุ ซึ่งแสดงเรื่องกรรมดี และผล ของกรรมดีที่ทำให้เกิดเป็นเทพดาในวิมานต่างๆ ทำให้ชาวเกาะได้บรรลุธรรมเป็นอัน มาก

มหินตาเลตั้งอยู่บนเขา แต่ขึ้นลงสะดวก เพราะมีบันไดหินกว้างขวางแข็งแรง ตอนแรก ชักท้อใจว่าจะขึ้นไหวไหม เพราะเห็นว่าต้องขึ้นเป็นพันๆ ขั้น แต่คุณขยันก็บอกว่า คณะ เราสามารถเอารถมาจอดในที่สูงขึ้น จะได้ขึ้นบันไดไม่มากนัก ตอนนั้นฝนตก ต้องกาง ร่ม แต่ก็ดีที่อากาศไม่ร้อน เดินขึ้นไม่ทันเหนื่อยก็ถึงที่ราบกว้าง มีพระพุทธรูป และพระ เจดีย์เล็กๆ ซึ่งทราบว่าเป็นอัมพัตถลเจดีย์ สถานที่ท่านพระมหินทเถระและพระเจ้า เทวานัมปิยติสสะพบกันเป็นครั้งแรก และที่พระเจดีย์นี้ยังบรรจุพระธาตุของท่านพระ มหินทเถระ ผู้เป็นพระอรหันต์ โอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช ผู้นำมรดกอันล้ำค่าที่พระ อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมอบให้ชาวโลกมามอบให้ชาวเกาะลังกา หลังจากพระผู้มี พระภาคปรินิพพานแล้ว ๒๐๐ กว่าปี

มองขึ้นไป ก็จะเห็นพระเจดีย์ใหญ่สีขาวบริสุทธิ์บนยอดเขาที่สูงขึ้นไปอีก ทราบว่าเป็น พระเจดีย์ที่ประดิษฐานพระอุณาโลม (กระดูกหน้าผาก) ของพระผู้มีพระภาค ต้องขึ้นเขา อีกแล้ว คราวนี้ไม่เป็นบันได ต้องปีนไปตามก้อนหิน แต่มีราวบันไดเหล็กให้เกาะ ไม่สูง นัก ก็ทุลักทุเลพอสมควรสำหรับคนวัยใกล้เกษียณอย่างพวกเรา แต่เมื่อขึ้นไปถึงแล้ว ก็ ได้เห็นทิวทัศน์สวยงามรอบๆ มหินทเล อากาศหลังฝนตกสดชื่น สะอาดมาก ได้เวียน เทียนประทักษิณรอบพระมหาเจดีย์อีกเช่นเคย รู้สึกดีมากๆ ที่ได้มาเห็นและนมัสการ สถานที่นี้ ได้ทราบว่า ไม่ค่อยมีคนไทยมาถึงที่นี่

มองไปข้างหน้า เห็นยอดเขาที่เป็นก้อนหินก้อนใหญ่ มีหลังคา ทราบว่าเป็นสถานที่ที่ ท่านพระมหินทเถระและคณะพระธรรมทูตเหาะจากอินเดียมาลงบนยอดเขานั้นเป็นครั้ง แรก แล้วจึงจะลงมาพบกับพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะที่อัมพัตถลเจดีย์ที่อยู่ข้างล่าง มี พระสงฆ์ศรีลังกาขึ้นไปชมบนยอดเขานั้นหลายรูป คุณขยันถามพวกเราว่า มีใครจะขึ้น ไปไหม เมื่อไม่มีใครไป ขอนมัสการข้างล่าง คุณขยันก็ทำท่าโล่งใจ เพราะไม่อย่างนั้น จะต้องพาปีนขึ้นไปบนเขาอีก

เมื่อลงมาพร้อมกันแล้ว คุณขยันผู้คุ้นเคยกับเจ้าอาวาสทุกแห่ง ก็พาไปกราบนมัสการ เจ้าอาวาสในกุฏิ พอเข้าไปไฟฟ้าก็ดับ อาคารนั้นมืดสนิท มีสามเณรนำชามาให้ดื่ม ต้อง ใช้ไฟฉายจึงพอมองเห็น สักพักหนึ่ง ไฟฟ้าจึงมา เจ้าอาวาสได้นำพระบรมสารีริกธาตุ ขนาดเล็ก ๒ องค์ มาให้ชม ท่านเล่าว่า ขุดพบในเจดีย์เก่า (ชี้ภาพถ่ายให้ดูด้วย) พวก เราได้ชมอย่างใกล้ชิด และขอความกรุณาให้ท่านนำมาเทินบนศีรษะของพวกเราทุกคน เพื่อเป็นสิริมงคลด้วย

เจ้าอาวาสเล่าให้ฟังว่า วัดนี้สอนปริยัติธรรมแก่ภิกษุสามเณร มีเณรจำพรรษาอยู่ที่นี่ ประมาณ ๕๐ รูป ต้องรับภาระเรื่องอาหารและการศึกษาสามเณรทุกอย่าง ชาว บ้านบริเวณนี้ฐานะก็ไม่ดี และที่มหินทเลก็ไม่ค่อยมีนักแสวงบุญจากต่างเมือง เช่น เมือง ไทยมามากนัก และที่ศรีลังกา พระเณรจะฉันอาหารในบาตร แม้จะไม่บิณฑบาตก็ตาม และบาตรเหล็กสำหรับสามเณรนั้นเก่าแก่ จนรั่วชำรุดแล้ว จึงขอบิณฑบาตบาตรจาก เมืองไทยสำหรับสามเณรตามแต่จะศรัทธา เพราะที่ศรีลังการาคาแพงมาก คือ ๓,๒๐๐ รูปี ไม่อยากให้ใครทำคนเดียว ขอให้ช่วยๆ กัน พวกเราจึงรับปากว่าจะจัดการส่งไปให้ พร้อมกันนั้นก็ได้ถวายปัจจัยเพื่อเป็นค่าภัตตาหารถวายพระภิกษุสามเณรในวัดนี้ด้วย ท่านเจ้าอาวาสให้สามเณรหลายรูปมาสวดมนต์ให้พร เสียงใสๆ หน้าตายังไร้เดียงสา ของสามเณรเหล่านั้นจับใจเรามาก เพราะทราบว่าเมื่อมาบวชเป็นสามเณรแล้วก็จะสึก ไม่ได้ จึงให้คุณขยันเป็นล่ามเรียนท่านว่า ขออนุโมทนาในกุศลที่บวชเป็นสามเณร ขอ ให้ช่วยกันเผยแพร่พระสัทธรรมให้รุ่งเรืองต่อไป เมื่อคุณขยันกล่าวอย่างนั้นแล้ว เจ้า อาวาสก็หัวเราะชอบใจ ไม่ทราบว่าจะแปลเป็นอย่างอื่นหรือเปล่า เพราะที่เราพูดนั้น ด้วยความซาบซึ้งจริงใจ ไม่เห็นมีอะไรต้องขำเลย แต่ก็ถึงเวลาต้องลาจากพร้อมกับ สัญญาบุญที่จะนำบาตรสำหรับสามเณรมาถวายในโอกาสต่อไป


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
raynu.p
วันที่ 15 เม.ย. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เมตตา
วันที่ 15 เม.ย. 2553

กราบอนุโมทนาค่ะ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
aditap
วันที่ 16 เม.ย. 2553

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 17 เม.ย. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ING
วันที่ 20 เม.ย. 2553

ขอขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
orawan.c
วันที่ 23 เม.ย. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
พรรณี
วันที่ 22 ก.ค. 2554

ขออนุโมทนาในกุศลจิตกับคณะเดินทางในครั้งนั้นด้วยค่ะ และไม่ทราบว่าได้นำบาตร

ไปถวายเป็นที่เรียบร้อยแล้วหรือยังคะ ถ้าถวายแล้วก็เป็นอันแล้วไป แต่ถ้ายังดิฉันใคร่

จะร่วมปัจจัยถวายด้วย

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
kanchana.c
วันที่ 22 ก.ค. 2554

เรียนคุณพรรณี ขออนุโมทนาในกุศลจิตที่จะร่วมปัจจัยถวายค่ะ แต่เมื่อเรากลับมาแล้ว

ก็ได้บอกบุญกับผู้มีจิตศรัทธา และระดมทุนที่บ้านของดิฉัน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในวันนั้น

สามารถซื้อบาตรแสตนเลส ราคาใบละ ๑,๐๐๐ บาท ได้มากกว่าจำนวนสามเณรที่

มหินทเล และคุณขาว ผู้นำทัวร์ของเราก็ได้จัดทัวร์ไปถวายเองที่ศรีลังกา คุณขยันก็เลย

พาไปถวายที่วัดอื่นอีก และได้ทำบุญอย่างอื่นเพ่ิมอีกหลายอย่าง เช่น ถวายร่ม และแว่น

สายตายาวสำหรับผู้สูงอายุ ที่เล่ายืดยาวเพื่อให้อนุโมทนาร่วมกันค่ะ จะเห็นว่า บุญต่อ

บุญ เป็นอย่างนี้ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
พรรณี
วันที่ 23 ก.ค. 2554

ขออนุโมทนากับคุณกาญจนาและคณะทุกท่านค่ะ อ่านแล้วปิติไปกับกุศลที่

คุณกาญจนาได้กระทำเป็นอย่างยิ่งค่ะ ขอบพระคุณที่กรุณาตอบมาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ