อายุบวร ... ศรีลังกา 18 เมืองแคนดี้

 
kanchana.c
วันที่  11 เม.ย. 2553
หมายเลข  15877
อ่าน  2,156

เมืองแคนดี้

เกาะลังกาเป็นเกาะเล็กๆ กว้างประมาณ ๒๐๐ กว่ากิโลและยาว ๔๐๐ กว่ากิโล (จำตัว เลขที่แน่นอนไม่ได้) จึงไปไหนมาไหนได้ในเวลาอันรวดเร็ว แม้ว่ารถจะวิ่งได้ ๓๕ กม. ต่อชั่วโมงก็ตาม

หลังจากแวะตามทางเรื่อยมาแล้ว ก็ถึงเมืองแคนดี้ ในเวลาบ่ายสอง ถึงเร็วจนน่าแปลก ใจ มีเวลาเหลือก่อนที่จะไปชมการแสดงพื้นเมืองในเวลาบ่ายสี่โมงครึ่ง คุณขยันจึงพา แวะช็อปปิ้งจตุจักร ประตูน้ำ ใบหยกของเมืองแคนดี้ ซึ่งเราขอรอในรถ เพราะอยากจะ พัก และขอกลับไปโรงแรมก่อนโดยไม่ชมการแสดงพื้นเมือง เพราะเคยดูแล้ว

เมืองแคนดี้เป็นเมืองหลวงสุดท้ายของศรีลังกาก่อนที่จะตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ได้ทราบว่า มีการสู้รบกันก่อนจะตกเป็นอาณานิคม และเมื่อชาวศรีลังกาทราบว่า อังกฤษยึดพระธาตุเขี้ยวแก้วไว้ได้ ก็วางอาวุธยอมแพ้ หลังจากนั้นก็เกิดความแห้ง แล้งอย่างหนัก เพราะฝนไม่ตกตามฤดูกาล ทางศรีลังกาจึงเจรจากับอังกฤษ ขอพระ เขี้ยวแก้วมาประดิษฐานไว้ที่เมืองแคนดี้อย่างเดิม (อันนี้คุณขยันไม่ได้เล่า แต่อ่านข้อ มูลจากเว็บไซต์ ไม่ได้ตรวจสอบจากที่อื่นอีก)

เมืองแคนดี้มีภูเขาล้อมรอบ มองลงมาเห็นทะเลสาบที่สวยงาม มีแม่น้ำมหาเวลี แม่น้ำที่ ยาวที่สุดในเกาะลังกา ซึ่งยาวกว่า ๓๐๐ กม. ไหลผ่าน มีวัดมัลลิกา ดาลลา ที่ ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้ว เป็นสถานที่สำคัญที่สุด นอกจากนั้นยังมีสวนพฤกษศาสตร์ (Royal Botanic Garden) ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย เราได้พักโรงแรม Mahaweli Reach ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำมหาเวลีด้วย เป็นโรงแรมระดับ ๕ ดาว ที่อาหารเย็นอร่อยมาก โดย เฉพาะอาหารมองโกเลีย แถมยังมีเพลงป๊อบสมัยเราเป็นสาว ที่ขับร้องโดยนักร้องชาว ศรีลังกาที่เป็นเพื่อนกับคุณขยันผู้กว้างขวาง คุณขยันจึงพานักร้องมาแนะนำให้พวกเรา รู้จัก และได้ขอเพลงด้วย

วัดพระเขี้ยวแก้ว หรือวัดมัลลิกา ดาลลา เปิดให้กราบนมัสการวันละ ๓ เวลา คือ ใน เวลา ๖ โมงเช้า ๑๐ โมงเช้า และ ๖ โมงเย็น เราได้กราบนมัสการรอบ ๖ โมงเช้า แต่ ต้องไปถึงเวลาประมาณตีห้าครึ่ง เพราะมีขั้นตอนการเข้ามากพอสมควร

เมื่อไปถึงนั้น มีชาวศรีลังกาซึ่งส่วนใหญ่แต่งชุดขาว ยืนเข้าแถวยาวเหยียด ได้ทราบ ว่ามาเข้าแถวตั้งแต่ตีสี่ แต่พวกเราได้รับสิทธิพิเศษ มาเข้าประตูด้านข้าง ที่มีตำรวจทั้ง ชายและหญิงดูแลอย่างเข้มงวด ต้องผ่านเครื่องตรวจสอบอาวุธด้วย เมื่อเข้าไปใน บริเวณวัด ก็ได้ยินเสียงกลองบูชาพระเขี้ยวแก้วตามพระราชประเพณีตั้งแต่พระเจ้าเทวา นัมปิติสสะ โดยคนตีกลองและเจ้าหน้าที่ทั้งหลายก็แต่งตัวตามแบบราชสำนักในครั้ง โบราณ

พวกเราได้เข้าไปนั่งคอยในที่พิเศษหน้าหอมณเฑียรทันตธาตุ ประตูหอมณเฑียรทันต ธาตุยังปิดอยู่ มีชาวศรีลังกานำอาหารและดอกไม้มาถวายเข้าแถวยาวเหยียด เพื่อจะ เดินผ่านประตูไปโดยไม่ได้เข้าไปกราบนมัสการข้างใน แต่เขาก็ยิ้มแย้ม พากันมาจับ ผ้าไตรจีวรที่พวกเรานำไปถวายสักการะ พร้อมกับกล่าวคำ สาธุการๆ เช่นเคย ได้ทราบ ว่าพวกเขาจะได้กราบนมัสการอย่างใกล้ชิดปีละครั้ง ในวันที่ ๑๓ เมษายน ซึ่งถือว่าเป็น วันปีใหม่ของศรีลังกา

ระหว่างนั่งรอได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัย กล่าวคำถวายผ้าไตรจีวร และคำขอขมา พระรัตนตรัยที่ได้ล่วงเกินโดยไม่ได้ตั้งใจ เพื่อความสำรวมระวังในกาลต่อไป ทุกคนต้องคิดอยู่ตลอดเวลา แต่คิดอย่างไรจึงเป็นกุศล และคิดถึงบุคคลใดจะเป็น กุศลอย่างสูงสุด ถ้าไม่ใช่คิดถึงพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น เมื่อได้มานั่งอยู่หน้าหอมณเฑียรที่ประดิษฐานพระทันตธาตุ ใกล้ชิดกับพระทันตธาตุที่ เป็นส่วนหนึ่งของพระวรกายของพระองค์อย่างนี้แล้ว ก็ควรจะนึกถึงพระคุณของ พระองค์ แต่ก็นึกคิดได้ตามที่ได้ศึกษามาเท่านั้น ตามกำลังสติปัญญาที่มีเพียงเล็กน้อย เข้าใจแล้วที่พระอริยสาวกในสมัยพุทธกาลสามารถกล่าวถึงพระพุทธคุณของพระผู้มี พระภาคได้ทั้งคืน เมื่อมีผู้มาถามว่า พระพุทธคุณมีเพียงเท่านี้หรือ ท่านก็กล่าวว่า ยังมี อีกมาก แต่ท่านรู้เพียงเล็กน้อย เหมือนปีกนกที่สัมผัสกับอากาศเวลาบิน พระพุทธคุณ เหมือนกับอากาศทั้งหมด หรือเหมือนจะงอยปากนกที่จุ่มลงในมหาสมุทร ความรู้ของ เราน้อยนิดยิ่งกว่านั้นอีกหลายแสนเท่า ได้แต่ทราบว่า พระองค์ทรงบำเพ็ญเพียรเพื่อ ตรัสรู้พระสัทธรรมที่ลึกซึ้ง เพื่อจะนำสัตว์ออกจากสังสารวัฏฏ์ เมื่อตรัสรู้แล้ว ก็ทรงมีพระ พุทธกิจมากมาย พระองค์ทรงพักผ่อนเพียงเล็กน้อย เวลาทั้งหมดทรงประกาศพระ สัทธรรม นำสัตว์ผู้บำเพ็ญบารมีมาให้พ้นจากทุกข์ คือ ดับกิเลส เช่นเดียวกับพระองค์ กุศลจิตที่เกิดการนึกถึงพระพุทธคุณ ที่เป็นพุทธานุสติ คงจะเกิดน้อยนิด เพราะการ ศึกษาปริยัตินั้นก็ยังน้อยนิดเช่นกัน ทำให้รู้ว่า ต้องศึกษาพระธรรมต่อไปทั้งในชีวิตนี้ และต่อๆ ไปจนกว่าจะสิ้นสุดสังสารวัฏฏ์

นั่งอยู่ไม่นานนัก ประตูหอมณเฑียรก็เปิดออก ได้ทราบว่า มีผู้ถือกุญแจถึง ๓ คน มีชาว ศรีลังกาเดินออกมาหลายคน ท่านเหล่านี้คือผู้นำภัตตาหารและดอกไม้เข้าไปถวายข้าง ใน ซึ่งจะผลัดเปลี่ยนกันไปทุกวัน บางท่านก็มาจากต่างจังหวัดไกลๆ แต่ก็มีที่พักในวัด ให้ เมื่อพวกเราเข้าไปข้างใน มีพระภิกษุศรีลังกานำดอกเขี้ยวกระแตขาวหอมมากมาให้ บูชา ได้เห็นแต่พระสถูปที่ประดับด้วยสร้อยสังวาล และอัญญมณีที่มีผู้นำมาถวายมาก มาย ไม่ทันได้สังเกตภายในหอมณเฑียร เพราะมีเวลาไม่มากนัก

เมื่อลงมาข้างล่างอาคาร ก็ได้เวียนเทียนประทักษิณหอมณเฑียรที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้ว และจุดโคมประทีปที่นำมาจากกรุงเทพ ถวายไว้ที่นี่เลย และจากนั้นก็ได้นมัสการพระพุทธรูปในอาคารหลายหลังภายในวัด เป็นอันว่า การมา ทำบุญที่ศรีลังกา ก็จบลงที่วัดพระเขี้ยวแก้วแห่งนี้ ด้วยจิตที่ปีติโสมนัสในกุศลที่กระทำ ไว้ เหมือนได้ฝังทรัพย์ไว้ดีแล้ว เป็นบุญนิธิ ที่ไม่มีสิ่งใดสามารถทำอันตรายได้ ไม่ว่าจะ เป็นภัยจากโจร จากน้ำ จากไฟ และบุคคลอันไม่เป็นที่รัก บุญนี้จะติดตามไปทุกแห่ง ทุกเวลาที่ระลึกถึง แม้กลับมากรุงเทพแล้ว คิดถึงการไปทำบุญนี้ครั้งใด ก็ยังแช่มชื่นใจ ทุกครั้ง

ก่อนจะออกจากแคนดี้ ได้แวะชมสวนพฤกษศาสตร์ที่อยู่ใกล้วัดพระเขี้ยวแก้ว มีพื้นที่ กว้างใหญ่ ๑๔๗ เอเคอร์ เริ่มสร้างในสมัยกษัตริย์องค์หนึ่งที่ประทับอยู่แคนดี้ ในปี ค.ศ. ๑๓๗๔ มีพันธุ์ไม้กว่า ๕,๐๐๐ ชนิด มีสวนสมุนไพร และเรือนกล้วยไม้ พวกเราชาวต่าง ประเทศเสียค่าผ่านประตูคนละ ๖๐๐ รูปี (๒๐๐ บาท) และเช่นเคยมีเด็กนักเรียนมา ทัศนศึกษามากมาย

สวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้สวยงามมาก มีต้นไม้ขนาดใหญ่มากมาย เพราะได้รับการดูแล อย่างดี ได้เห็นต้นสาละใหญ่มาก ที่ออกดอกตั้งแต่โคนต้นจนถึงกลางต้น หอมตลบไป ทั่วบริเวณ อดคิดถึงเรื่องที่เคยอ่านในมหาปรินิพพานสูตรไม่ได้ ที่กล่าวว่า เมื่อใกล้จะ ปรินิพพานนั้น ต้นสาละออกดอกมากมาย คงเป็นอย่างนี้เอง เห็นต้นสาละต้นนี้ต้นเดียว ก็คุ้ม เหมือนได้รับรางวัลจากการมาทำบุญครั้งนี้แล้ว


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
เมตตา
วันที่ 16 เม.ย. 2553

ด้วยจิตที่ปีติโสมนัสในกุศลที่กระทำไว้ เหมือนได้ฝังทรัพย์ไว้ดีแล้ว เป็นบุญนิธิ

ที่ไม่มีสิ่งใดสามารถทำอันตรายได้ ไม่ว่าจะเป็นภัยจากโจร จากน้ำ จากไฟ

และบุคคลอันไม่เป็นที่รัก บุญนี้จะติดตามไปทุกแห่งทุกเวลาที่ระลึกถึง...

...ขอกราบอนุโมทนาค่ะ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
aditap
วันที่ 16 เม.ย. 2553

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 17 เม.ย. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ING
วันที่ 20 เม.ย. 2553

ขอขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
orawan.c
วันที่ 24 เม.ย. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
พรรณี
วันที่ 22 ก.ค. 2554

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของท่านผู้เขียนค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ