ข้อวัตรของพระเจ้าจักรพรรดิ์
[เล่มที่ 15] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ 103
จักกวัตติสูตร
ท้าวเธอถามว่า พระพุทธเจ้าข้า ก็จักกวัตติวัตรอันประเสริฐนั้น เป็นไฉน. ราชฤาษีตอบว่า ดูก่อนพ่อ ถ้าเช่นนั้นพ่อจงอาศัยธรรมเท่านั้น สักการะธรรม ทำความเคารพธรรม นับถือธรรม บูชาธรรม ยำเกรงธรรม มีธรรมเป็นธงชัย มีธรรมเป็นยอด มีธรรมเป็นใหญ่ จงจัดการรักษาบอกกันและคุ้มครองอันเป็นธรรม ในชนภายใน ในหมู่พล ในหมู่กษัตริย์ผู้ได้รับราชาภิเษก ในหมู่กษัตริย์ประเทศราช ในพวกพราหมณ์และคฤหบดี ในชาวนิคมและชาวชนบททั้งหลาย ในพวกสมณพราหมณ์ ในเหล่าเนื้อและนก
ดูก่อนพ่อ การกระทำสิ่งที่เป็นอธรรม อย่าเป็นไปในแว่นแคว้นของลูก อนึ่ง บุคคลเหล่าใดในแว่นแคว้นของพ่อ ไม่มีทรัพย์ พ่อพึงให้ทรัพย์แก่บุคคลเหล่านั้นด้วย อนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใด ในแว่นแคว้นของลูก งดเว้นจากความเมาและความประมาทตั้งมั่นอยู่ในขันติและโสรัจจะ ฝึกตนแต่ผู้เดียว สงบตนแต่ผู้เดียวให้ตนดับกิเลสอยู่แต่ผู้เดียว พึงเข้าไปหาสมณพราหมณ์เหล่านั้น โดยกาลอันสมควรแล้วไต่ถามสอบถามว่า ท่านขอรับ กุศลคืออะไรอกุศลคืออะไร กรรมมีโทษ คืออะไร กรรมไม่มีโทษคืออะไร กรรมอะไรควรเสพ กรรมอะไรไม่ควรเสพ กรรมอะไรอันข้าพเจ้ากระทำอยู่ พึงเป็นไปเพื่อไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ สิ้นกาลนาน หรือว่ากรรมอะไรที่ข้าพเจ้ากระทำอยู่ พึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน พ่อได้ฟังคำของสมณพราหมณ์เหล่านั้นแล้ว สิ่งใดเป็นอกุศล พึงละเว้นสิ่งนั้นเสีย สิ่งใดเป็นกุศลพึงถือมั่นสิ่งนั้นประพฤติดูก่อนพ่อ นี้แล คือ จักกวัตติวัตรอันประเสริฐนั้น.
ขยายความจากอรรถกถา วัตรของพระเจ้าจักรพรรดิ์
เจ้าจงยังบุตรและภรรยา กล่าวคือชนภายในของเจ้า ให้ตั้งอยู่ในศีลสังวร จงให้วัตถุมีผ้าดอกไม้และของหอมเป็นต้น แก่พวกบุตรและภรรยานั้น และจงป้องกันอุปัทวะทั้งหมดให้แก่เขา. แม้ในเหล่าทหารเป็นต้นก็นัยนี้เหมือนกัน. แต่มีข้อแตกต่างกันดังนี้. เหล่าทหารอันพระราชาควรสงเคราะห์ด้วยการเพิ่มบำเหน็จรางวัลให้ ไม่ให้ล่วงเลยกาล เวลา.
กษัตริย์ผู้ได้รับการอภิเษก ควรสงเคราะห์ด้วยการให้รัตนะมีม้าอาชาไนยอันสง่างามเป็นต้น. กษัตริย์ที่เป็นประเทศราช ควรให้ยินดีแม้ด้วยการมอบให้ยานพาหนะอันสมควรแก่ความเป็นกษัตริย์นั้น. พราหมณ์ทั้งหลายควรให้ยินดีด้วยไทยธรรมมีข้าวน้ำและผ้าเป็นต้น. พวกคฤหบดี ควรสงเคราะห์ ด้วยการให้พันธุ์ข้าว ไถ ผาลและโคงาน เป็นต้น. ผู้อยู่ในนิคม ชื่อ เนคมะ (ชาวนิคม) และผู้อยู่ในชนบท ชื่อว่า ชนปทา (พวกชาวชนบท) ก็เหมือนกัน (คือควรสงเคราะห์ ด้วยการให้พันธุ์ข้าว ไถ ผาล และโคงาน เป็นต้น) . พวกสมณพราหมณ์ ผู้มีบาปสงบ มีบาปลอยเสียแล้ว ควรสักการะ ด้วยการถวายบริขารสำหรับสมณพราหมณ์. หมู่เนื้อและนก ควรให้โปร่งใจเสียได้ด้วยการให้อภัย.
บทว่า วิชิเต คือ ในถิ่นฐานที่อยู่ในอำนาจปกครองของตน.
บทว่า อธมฺมกาโร คือ การกระทำที่ไม่ชอบธรรม.
บทว่า มา ปวตฺติตฺถ อธิบายว่า จงยังการกระทำอันเป็นอธรรมนั้น ไม่ให้เป็นไป.
บทว่า สมณพฺราหฺมณา ได้แก่ผู้มีบาปสงบ คือมีบาปลอยเสียแล้ว.
บทว่า มทปฺปมาทา ปฏิวิรตา คือ งดเว้นจากความเมาด้วยอำนาจมานะ ๙ อย่าง และจากความประมาท กล่าวคือการปล่อยจิตไปในกามคุณ ๕.
บทว่า ขนฺติโสรจฺเจ นิวิฏฺ€า ความว่า ดำรงอยู่ในอธิวาสนขันติและในความเป็นผู้สงบเสงี่ยม.
บทว่า เอกมตฺตานํ ความว่า สมณพราหมณ์ทั้งหลายท่านกล่าวว่า ย่อมฝึกตน สงบระงับ ดับตนผู้เดียวด้วย การข่มกิเลสมีราคะเป็นต้นของตน.
บทว่า กาเลน กาลํ คือ ทุกเวลา.
บทว่า อภินิวชฺเชยฺยาสิ ความว่า พึงเว้นเสียซึ่งอกุศล ซึ่งเปรียบเหมือนคูถ เหมือนยาพิษ ละเหมือนไฟด้วยดี.
บทว่า สมาทาย คือ พึงยึดถือกุศล ซึ่งเปรียบเหมือนพวกดอกไม้ ที่มีกลิ่นหอม และ เปรียบเหมือนน้ำอำมฤต แล้วปฏิบัติโดยชอบ.
บัณฑิตตั้งอยู่ในกุศลธรรม นี้ แล้วพึงนำวัตรมาปฏิบัติสม่ำเสมอ. วัตรนั้นมี ๑๐ ประการ อย่างนี้ คือ วัตรที่พึงปฏิบัติในหมู่ทหารที่เป็นชนภายใน ๑ ในพวกกษัตริย์ ๑ ในกษัตริย์ประเทศราช ๑ ในพราหมณ์สละคฤหบดี ๑ ในชาวนิคม และชาวชนบท ๑ ในสมณพราหมณ์ ๑ ในหมู่มฤคและเหล่าปักษา ๑ การห้ามการกระทำอันไม่เป็นธรรม ๑ การมอบทรัพย์ให้แก่ผู้ไม่มีทรัพย์ ๑ การเข้าไปหาสมณพราหมณ์แล้วถามปัญหา ๑ แต่เมื่อถือเอาคฤหบดีและเหล่าปักษาชาติเป็นแผนกหนึ่งแล้วก็จะมี ๑๒ อย่าง.
บัณฑิตผู้ถือเอาคำที่มิได้กล่าวไว้ในครั้งก่อน พึงทราบว่าวัตรมี ๑๒ อย่าง โดยอาศัยการละราคะที่ไม่เป็นธรรมและวิสมโลภ โลภะที่ไม่สม่ำเสมอเป็นต้น.