สันโดษ
[เล่มที่ 11] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 444
สามัญญผลสูตร
บทว่า สนฺตุฏฺโฐ ในข้อความว่า อิธ มหาราช ภิกฺขุ สนฺตุฏฺโฐโหติ นี้ ความว่า เป็นผู้ประกอบด้วยความยินดีปัจจัยตามมีตามได้. ก็สันโดษนี้นั้น มี ๑๒ อย่าง. อะไรบ้าง สันโดษในจีวร ๓ อย่าง คือ ยถาลาภสันโดษ ยถาพลสันโดษยถาสารุปปสันโดษ. ในบิณฑบาตเป็นต้น ก็อย่างนี้. สันโดษ ๑๒ ประเภทนั้น มีอธิบายดังต่อไปนี้ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้จีวรดีก็ตาม ไม่ดีก็ตาม เธอใช้สอยจีวรนั้นเท่านั้น ไม่ปรารถนาจีวรอื่น ถึงได้ก็ไม่รับ นี้เป็นยถาลาภสันโดษในจีวรของเธอ. ต่อมาภายหลัง เธอมีกำลังน้อยตามธรรมดาก็ดี ถูกความป่วยไข้ครอบงำก็ดี ถูกชราครอบงำก็ดี เมื่อห่มจีวรหนักย่อมลำบาก เธอเปลี่ยนจีวรนั้นกับภิกษุผู้ชอบพอกัน แม้ใช้สอยจีวรเบาอยู่ ก็ยังเป็นผู้สันโดษอยู่นั่นเอง นี้เป็นยถาพลสันโดษในจีวรของเธอ. ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้ปัจจัยอย่างประณีต ครั้นเธอได้บาตรและจีวรเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นบาตรจีวรมีค่ามากหรือมีจำนวนมาก เธอถวายด้วยคิดว่า นี้สมควรแก่พระเถระทั้งหลายผู้บวชนาน นี้สมควรแก่ภิกษุพหูสูต นี้สมควรแก่ภิกษุไข้ นี้จงมีแก่ภิกษุผู้มีลาภน้อย ดังนี้หรือรับเอาจีวรเก่าของภิกษุเหล่านั้น หรือเลือกเก็บผ้าที่ไม่มีชายจากกอง หยากเยื่อเป็นต้น แม้เอาผ้าเหล่านั้นมาทำเป็นสังฆาฏิครอง ก็ยังเป็นผู้สันโดษอยู่นั่นเอง นี้เป็นยถาสารุปปสันโดษในจีวรของเธอ.
อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินยนี้ ได้บิณฑบาตเศร้าหมองหรือประณีตเธอใช้สอยบิณฑบาตนั้นเท่านั้น ไม่ปรารถนาบิณฑบาตอื่น ถึงได้ก็ไม่รับ นี้เป็นยถาลาภสันโดษในบิณฑบาตของเธอ. ก็ภิกษุใดได้บิณฑบาตที่ไม่ถูกกับร่างกายปกติ หรือไม่ถูกกับโรคของคน ซึ่งเธอบริโภคแล้วจะไม่สบาย เธอให้บิณฑบาตนั้นแก่ภิกษุผู้ชอบพอกัน แม้ฉันโภชนะที่สบายแต่มือของภิกษุนั้นทำสมณธรรมอยู่ ก็ยังเป็นผู้สันโดษอยู่นั่นเอง นี่เป็นยถาพลสันโดษในบิณฑบาตของเธอ. ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้บิณฑบาตประณีตจำนวนมาก เธอถวายบิณฑบาตนั้นแก่พระเถระผู้บวชนาน แก่ผู้พหูสูต แก่ผู้มีลาภน้อย แก่ภิกษุไข้เหมือนจีวรนั้น แม้รับเศษอาหารของภิกษุนั้นๆ หรือเที่ยวบิณฑบาตแล้วฉันอาหารที่ปนกัน ก็ยังเป็นผู้สันโดษอยู่นั่นเอง นี้เป็นยถาสารุปปสันโดษในบิณฑบาตของเธอ.
อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้เสนาสนะที่พอใจหรือไม่พอใจ ไม่ดีใจไม่เสียใจเพราะเสนาสนะนั้น ยินดีตามที่ได้เท่านั้น โดยที่สุดแม้เป็นเครื่องปูลาดถักด้วยหญ้า นี้เป็นยถาลาภสันโดษในเสนาสนะของเธอ. ก็ภิกษุใดได้เสนาสนะที่ไม่ถูกกับร่างกายปกติ หรือไม่ถูกกับโรคของตน ซึ่งเมื่อเธออยู่จะไม่สบาย เธอให้เสนาสนะนั้นแก่ภิกษุผู้ชอบพอกันแม้อยู่ในเสนาสนะที่สบายซึ่งเป็นของภิกษุนั้น ก็ยังเป็นผู้สันโดษอยู่นั่นเองนี้เป็นยถาพลสันโดษในเสนาสนะของเธอ. ภิกษุอีกรูปหนึ่งมีบุญมาก ได้เสนาสนะที่ประณีตจำนวนมาก มีถ้า มณฑป เรือนยอดเป็นต้น เธอให้เสนาสนะเหล่านั้นแก่พระเถระผู้บวชนานผู้พหูสูต ผู้มีลาภน้อย และเป็นไข้ เหมือนจีวร แม้อยู่ในเสนาสนะแห่งใดแห่งหนึ่ง ก็ยังเป็นผู้สันโดษอยู่นั่นเอง นี้เป็นยถาสารุปปสันโดษในเสนาสนะของเธอ. ก็ภิกษุใดพิจารณาเห็นอย่างนี้ว่า ชื่อว่าเสนาสนะชั้นดีเยี่ยมเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท นั่งในเสนาสนะนั้นย่อมง่วงเหงาซบเซาหลับไป เมื่อตื่นขึ้นอีกก็ครุ่นคิดแต่เรื่องกาม แล้วไม่รับเสนาสนะเช่นนั้นแม้ถึงแล้วเธอห้ามเสนาสนะนั้น แม้อยู่ในที่แจ้งหรือโคนไม้เป็นต้น ก็ยังเป็นผู้สันโดษอยู่นั่น เอง แม้นี้ก็เป็นยถาสารุปปสันโดษในเสนาสนะ.
อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้เภสัชเศร้าหมองหรือประณีต เธอยินดีตามที่ได้นั้นๆ เท่านั้น ไม่ปรารถนาเภสัชอื่น ถึงได้ก็ไม่รับ นี้เป็นยถาลาภสันโดษในคิลานปัจจัยของเธอ. ก็ภิกษุใดต้องการน้ำมัน ได้น้ำอ้อย เธอให้น้ำอ้อยนั้นแก่ภิกษุผู้ชอบพอกัน แล้วถือเอาน้ำมันแต่มือของภิกษุนั้น หรือแสวงหาของอื่นนั่นเทียว แม้เมื่อได้เภสัช ก็ยังเป็นผู้สันโดษอยู่นั่นเอง นี้เป็นยถาพล-สันโดษในคิลานปัจจัยของเธอ. ภิกษุอีกรูปหนึ่งมีบุญมาก ได้เภสัชที่ประณีต มีน้ำมัน น้ำอ้อยเป็นต้นจำนวนมาก เธอให้เภสัชนั้นแก่พระเถระผู้บวชนาน ผู้พหูสูต ผู้มีลาภน้อยและผู้เป็นไข้ เหมือนจีวร แล้วเยียวยาอัตตภาพด้วยเภสัชอย่างใดอย่างหนึ่งที่ภิกษุเหล่านั้นนำมา ก็ยังเป็นผู้สันโดษอยู่นั้นเอง.
อนึ่ง ภิกษุใดวางสมอแช่เยี่ยวโคไว้ในภาชนะใบหนึ่ง มีคนมาบอกกล่าวถึงของอร่อย ๔ อย่างในภาชนะหนึ่งว่า ถือเอาเถิดท่านเจ้าข้า ถ้าต้อง การ ดังนี้ เธอคิดว่า ถ้าโรคของเธอจะหายแม้ด้วยของอร่อยอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๔ อย่างนั้น ถึงอย่างนั้น ชื่อว่าสมอแช่เยี่ยวโค พระพุทธเจ้าเป็นต้น ทรงสรรเสริญแล้ว ดังนี้ ห้ามของอร่อย ๔ อย่าง ทำเภสัชด้วยสมอแช่เยี่ยวโคเท่านั้น ย่อมเป็นผู้สันโดษอย่างยิ่งแท้ นี้เป็นยถาสารุปป-สันโดษในคิลานปัจจัยของเธอ. ก็บริขาร ๘ คือ ไตรจีวร บาตร มีดตัดไม้ชำระฟัน เข็ม ประคดเอวและผ้ากรองน้ำ ย่อมควรแก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยความยินดีปัจจัยตามมีตามได้ ๑๒ อย่างนี้ สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า ไตรจีวร บาตร มีด เข็ม ประคดเอว รวมทั่งผ้ากรองน้ำ เป็น ๘ เหล่านี้ เป็นบริขารของภิกษุผู้ประกอบความเพียร. พึงทราบความที่บริขาร ๘ เป็นบริขารเท่านี้ก่อน. ก็เครื่องปูลาดซึ่งปูไว้ในที่นั้น หรือกุญแจ ย่อมควรแก่ภิกษุผู้มีบริขาร ๙ อย่าง เข้าไปสู่ที่นอน. ผ้าปูนั่งหรือท่อนหนัง ย่อมควรแก่ภิกษุผู้มีบริขาร ๑๐ อย่าง. ไม้เท้าหรือหลอดน้ำมัน ย่อมควรแก่ภิกษุผู้มีบริขาร ๑๑ อย่าง ร่มหรือรองเท้า ย่อมควรแก่ภิกษุผู้มีบริขาร ๑๒ อย่าง. ก็บรรดาภิกษุเหล่านี้ ภิกษุผู้มีบริขาร ๘ เท่านั้น ชื่อว่าผู้สันโดษนอกนี้ชื่อว่าไม่สันโดษ แต่ไม่ควรเรียกว่า มักมาก เลี้ยงยาก. จริงอยู่ ภิกษุเหล่านี้เป็นผู้มักน้อยเทียว เป็นผู้สันโดษ เป็นผู้เลี้ยงง่าย เป็นผู้มีความประพฤติเบาพร้อมเทียว แต่พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ตรัสพระสูตรนี้สำหรับภิกษุเหล่านั้น ตรัสสำหรับภิกษุผู้มีบริขาร ๘ ด้วยว่า ภิกษุผู้มีบริขาร ๘ นั้น เอามีดเล็กและเข็มใส่ในผ้ากรองน้ำแล้ววางไว้ภายในบาตร คล้องบาตรที่จะงอยบ่า พันกายที่ไตรจีวร หลีก ไปสบายตามปรารถนา. ไม่มีสิ่งของที่ชื่อว่าเธอจะต้องกลับมาถือเอา. เมื่อจะทรงแสดงความที่ภิกษุนั้นเป็นผู้มีความประพฤติเบาพร้อมด้วยประการฉะนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ภิกษุนี้เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเครื่องบริหารกายเป็นต้น.