ปัญญาขั้นการฟัง

 
kanchana.c
วันที่  1 พ.ค. 2553
หมายเลข  16033
อ่าน  2,830

ปัญญาขั้นการฟังก็ไม่ใช่เกิดได้ง่ายๆ เพราะไม่รู้ว่าจะฟังอย่างไรถึงจะได้ประโยชน์สูงสุด เวลาฟังธรรม บางครั้งก็เข้าใจดี บางครั้งก็ไม่รู้เรื่องเลย ก็ทราบว่าทุกอย่างเป็นอนัตตา เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่เหตุปัจจัยอะไรที่ทำให้ฟังเข้าใจดี ซึ่งได้เคยได้ยินว่า “การฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา” ซึ่งท่านอาจารย์อธิบายว่า ฟังด้วยดีนั้นหมายถึงการใส่ใจในสิ่งที่ฟัง ก่อนที่พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงธรรม ทรงตรัสเรียกพระภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกขเว” ซึ่งแปลว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย” เพราะก่อนหน้านั้นภิกษุทั้งหลายอาจจะคิดอะไรก็ได้ แต่ต่อไปนี้พระองค์จะทรงแสดงธรรมแล้วนะ จงตั้งใจฟังให้ดี นั่นคือต้องใส่ใจในสิ่งที่ฟัง

เมื่อทราบอย่างนี้แล้ว เวลาฟังก็ตั้งใจ ไม่คิดเรื่องอื่น คิดพิจารณาตามเสียงที่ได้ยิน ทำให้เข้าใจมากขึ้น อย่างนี้ถึงจะเรียกว่า ฟังด้วยดี ซึ่งทำให้เกิดปัญญา มีหลายเรื่องเคยได้ยินมาตั้งแต่เด็ก รู้ว่าเป็นพุทธพจน์ แต่รู้ความหมายแค่ผิวเผิน เช่น “ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ” ก็คือตื้นๆ ง่ายๆ ว่า คนที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่ป่วยไข้นั้นเป็นสิ่งที่ประเสริฐสุด ทั้งๆ ที่เห็นว่าผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ก็ยังมีความทุกข์เดือดใจในเรื่องอื่นๆ เช่น เรื่องทำมาหาเลี้ยงชีพ เรื่องความวิตกกังวล กลุ้มใจต่างๆ มากมาย ก็ไม่เห็นว่าความมีสุขภาพแข็งแรงไม่ป่วยไข้นั้นจะดีกว่าคนเจ็บไข้ได้ ป่วยมากมายอะไร แต่เมื่อได้อ่านจากพระสูตร คือ โรคสูตร ก็รู้ว่าที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ และอธิบายสู่กันฟังนั้น เป็นความเข้าใจที่เผินมากๆ ถ้าเปรียบกับต้นไม้ ก็เป็นแค่เปลือกเท่านั้น ยังไม่ถึงแก่น เพราะในโรคสูตรที่ท่านอาจารย์อธิบายให้ฟังนั้น ไม่ได้หมายความแค่นั้น “โรค” เป็นภาษาบาลี แปลว่า ความเสียดแทง ซึ่งมีทั้งความเสียดแทงกาย และเสียดแทงใจ สิ่งที่เสียดแทงกายให้ได้รับความทุกข์ คือ โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ถ้าไม่ มีก็เป็นสิ่งที่ดี เป็นกุศลวิบาก ผลของกุศลกรรมที่ทำไว้แล้ว แต่ทุกคนต้องเคยทำอกุศลกรรม จึงต้องมีโรคบ้างตามสมควรแก่กรรมนั้น ส่วนสิ่งที่เสียดแทงใจนั้น คือ กิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ซึ่งปุถุชนมีกันทุกคน ดังนั้น ความไม่มีโรคที่เป็นลาภอันประเสริฐนั้น คือ ความไม่มีกิเลสนั่นเอง

จะเห็นอานิสงส์ของการฟังธรรมว่า ทำให้ได้ยินสิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน ถึงจะเคยได้ยินมาแล้วก็ทำให้เข้าใจมากขึ้น เป็นต้น ดังนั้นการฟังธรรม ศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรมมากเท่าไรก็ไม่พอ จนกว่าจะหมดกิเลสแล้วเท่านั้น


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 1 พ.ค. 2553

..ความไม่มีโรคที่เป็นลาภอันประเสริฐนั้น คือ ความไม่มีกิเลสนั่นเอง ..

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
bsomsuda
วันที่ 1 พ.ค. 2553

ฟังด้วยดีนั้นหมายถึง การใส่ ใจในสิ่งที่ฟัง จะเห็นอานิสงส์ของการฟังธรรมว่า ทำให้ได้ยินสิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน ถึงจะเคยได้ยินมาแล้ว ก็ทำให้เข้าใจมากขึ้น เป็นต้น

ดังนั้น การฟังธรรม ศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม มากเท่าไรก็ไม่พอ..จนกว่าจะหมดกิเลสแล้วเท่านั้น

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ชีวิตคือขณะจิต
วันที่ 2 พ.ค. 2553
ทรงตรัสเหตุให้อายุยืนไว้ใน อายุวัฒนกุมาร (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ หน้าที่ ๔๖๓) คือ การนอบน้อมต่อผู้มีพระคุณเป็นนิตย์ การนอบน้อมต่อผู้เจริญเป็นนิตย์ และทรงตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า ไม่ใช้อายุยืนอย่างเดียว ยังเจริญด้วย วรรณะ สุขะ พละ ตลอดอายุขัยด้วย.
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เมตตา
วันที่ 2 พ.ค. 2553

โรคที่เกิดทางใจนั้นเปรียบเหมือนลูกศรดอกที่สองทิ่มแทงซ้ำ เป็นศัตรูตัวจริง เป็นโรคที่รักษาให้หายยาก แต่ก็มีหนทาง...มียาที่จะรักษาโรคทางใจให้หายขาดได้

ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่...

ศัตรูจริงๆ อยู่ที่ไหน?

ยาที่ดีที่สุด คือ พระธรรม

...ขอกราบอนุโมทนาค่ะ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
choonj
วันที่ 2 พ.ค. 2553

ฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา ผมว่าต้องทำความเข้าใจคำว่า "ด้วยดี" ผมสังเกตเห็นว่า มีผู้ตั้งใจฟังอย่างดี เมื่อฟังเสร็จแล้วถามว่า เข้าใจไหม? ก็ได้คำตอบว่าเข้าใจ แต่แล้วก็ถามปัญหาเดิมอีก เพราะฉะนั้นก็ยังไม่ใช่ฟัง "ด้วยดี" ทั้งๆ ที่ตั้งใจฟังอย่าดีแล้ว

จึงต้องทราบว่า ความรู้บางอย่างไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ในที่เดียวหรือในทันที่ แล้วจะทราบได้ยังไง ท่านบอกว่าให้ฟังไปเรื่อยๆ ฟังดูแล้วเป็นเรื่อไม่น่าเชื่อ เพราะที่แล้วๆ มานั้นนะอะไรที่ไม่เข้าใจเมื่อเรียนและฟังดีๆ แล้วก็สามารถเข้าใจได้ แต่ไม่ใช่ธรรม ผู้ที่ฟังไปเรื่อยๆ จนเข้าใจและได้ปัญญาจึงถึงบางอ้อว่า ฟัง "ด้วยดี" คือ อย่างนี้นี่เอง ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 2 พ.ค. 2553

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 2 พ.ค. 2553

เวลาที่อกุศลจิตเกิดกับผู้ใด ผู้นั้นคือผู้ที่ถูกทำร้ายก่อนเป็นคนแรก นั่นคือ....กิเลสทุกข์ ตามด้วย.....วิบากกรรมและการเวียนเกิดเวียนตายไม่จบสิ้น

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
jangthi
วันที่ 4 พ.ค. 2553

กราบอนุโมทนาค่ะอาจารย์

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
อภิรมย์
วันที่ 6 พ.ค. 2553

ขอขอบคุณเจ้าของหัวข้อ และขออนุโมทนากับทุกความคิดเห็นที่ขยายความ ทำให้เข้าใจความมุ่งหมายในการฟังธรรมะมากขึ้น

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
paderm
วันที่ 6 พ.ค. 2553

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

[เล่มที่ 51] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้าที่ 49

มหาจุนทเถรคาถา

[๒๖๘] ได้ยินว่า พระมหาจุนทเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า การฟังดี เป็นเหตุให้การฟังเจริญ การฟังเป็นเหตุให้เจริญปัญญา บุคคลจะรู้ประโยชน์ก็เพราะปัญญา

[เล่มที่ 50] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 216

กุมาปุตตเถรคาถา

[๑๗๓] ได้ยินว่า พระกุมาบุตรเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า การฟังเป็นความดี ความประพฤติมักน้อยเป็นความดี การอยู่โดยไม่ห่วงใยเป็นความดีทุกเมื่อ การถามสิ่งที่เป็นประโยชน์เป็นความดี การทำตามโอวาทโดยเคารพ เป็นความดี กิจมีการฟังเป็นต้นนี้ เป็นเครื่องสงบของผู้ไม่มีกังวล.

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
Komsan
วันที่ 17 พ.ค. 2553

ขอขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ