แนวทางเจริญสติปัฏฐานในพระพุทธศาสนาสำหรับประชาชนทั่วไป
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ข้อความบางตอนจากการสนทนาธรรม ณ อาคารมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๒ ถอดเทปบันทึกเสียงโดย คุณย่าสงวน สุจริตกุล
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กรุณาช่วยแนะนำ หรือ แนะแนวเนื่องจากมีผู้เขียนมาถามว่าอยากได้คำแนะนำเกี่ยวกับ "แนวทางเจริญสติปัฏฐาน" ในพระพุทธศาสนา (แนวทางเจริญวิปัสสนา) สำหรับประชาชนทั่วไป
ท่านอาจารย์ อยากได้คำแนะนำ "เพื่อจะทำ" หรือ "ให้ทำ"หรือแนะนำให้ "รู้" ว่า พระพุทธศาสนา เป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงธรรม ที่พระองค์ทรงตรัสรู้เพื่อให้บุคคลอื่นได้ "เข้าใจถูกต้อง-ตรงตามความเป็นจริง"เช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงตรัสรู้
หมายความว่า ควรรู้ หรือ เข้าใจ ตั้งแต่ต้น ว่า พระพุทธศาสนา เป็นคำสอนของใครของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสอนเรื่องอะไร ทรงสอนเรื่องความจริง หรือ สัจจธรรม "สัจจธรรม" ที่สามารถรู้ตาม จนถึงประจักษ์แจ้งความจริง และ ดับความไม่รู้ ดับกิเลสได้ ตามลำดับขั้นของปัญญา เพราะฉะนั้น "พระพุทธศาสนา" จึงเป็นเรื่องของ "ปัญญา" ทั้งหมด
คำสอนในพระพุทธศาสนา ทั้งหมดไม่ได้มีคำแนะนำให้ทำแต่ เป็นเรื่องของบุคคล ผู้ศึกษานั้นเอง ที่ควรเข้าใจตั้งแต่ต้น ว่าตนเองได้ "รู้จัก" พระพุทธศาสนาแล้วหรือยัง ว่า คำสอนของพระพุทธเจ้า ทรงสอนอะไร ทรงสอน ให้ "เข้าใจสัจจธรรม" ไม่ใช่สอนให้ทำ โดยที่ไม่เข้าใจอะไรเลย
ทรงสอนให้เข้าใจว่า "ขณะนี้" มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏซึ่งตั้งแต่เกิดจนตายก็เกิดดับสืบต่อตลอดเวลา ไม่ขาดสาย แต่ไม่เคยรู้จักสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง ว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั้น คือ อะไร และ มีการ "ยึดถือสภาพธรรมเหล่านั้น" ว่าเป็น "ตัวตน" ซึ่งหากจะเข้าใจจริงๆ ว่า ขณะไหนเป็นเรา เป็นตัวตนก็คือ เมื่อได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระองค์
เมื่อได้ฟังแล้ว เกิดความเข้าใจ ก็จะทราบตามความเป็นจริง ว่าไม่มีสิ่งที่เคยยึดถือ ว่า เป็นตัวตน เป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล ฯมีแต่สภาพธรรมที่เกิด-ดับ-สืบต่อ-ตามเหตุ ตามปัจจัยซึ่งหมายถึง"สภาพธรรม ที่มีจริงๆ แต่ละขณะ"เท่านั้น
คำสอนของพระองค์ ก็คือปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ตามลำดับ
"ปริยัติ" คือ การฟัง (ศึกษา) พระธรรม และ เข้าใจในสิ่งที่ได้ฟังเข้าใจ ว่า ทรงแสดงสภาพธรรมตามความเป็นความจริง โดยผู้ที่แสดงธรรม คือ ผู้ที่ทรงตรัสรู้ "สัจจธรรม" โดยประการทั้งปวง
พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรม เพื่อให้ผู้ฟัง เกิดความเข้าใจ ในสิ่งที่ยังเคยไม่เข้าใจเพื่อให้มี "ความเห็น ความเข้าใจ ที่ถูกต้อง" และ เพื่อให้มี "ความรอบรู้" ในสิ่งที่ได้ฟัง ไม่ว่าพระองค์จะทรงกล่าวถึงสภาพธรรมใดๆ ที่มีจริงๆ (ที่พิสูจน์ได้จริงๆ ตามปกติ ในชีวิตประจำวัน) เช่น การเห็น การได้ยิน การคิดนึก โลภะ โทสะ ฯลฯ ก็เพื่อให้รู้จักสภาพธรรมที่มีจริงเหล่านี้ ตามความเป็นจริงคือ รู้ว่า เป็น "ธรรมะ"
"ธรรมะ" คือ สิ่งที่มีจริง (มีลักษณะ) เมื่อมีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้นแล้ว ก็ดับไป ไม่เหลือเลย ไม่กลับมาอีกเลย
นี่ คือ "คำสอน" เรื่องสิ่งที่มีจริง จากผู้ที่ทรงตรัสรู้ซึ่ง เป็น "ปริยัติ" อันเป็นปัจจัยที่นำไปสู่ "ปฏิปัตติ" (การปฏิบัติ) เพราะถึงแม้ว่าจะฟัง และ เข้าใจในสิ่งที่ได้ฟังเข้าใจว่า "ธรรมะ" คือ อะไรแต่ "ธรรมะ" เกิดดับสืบต่อกัน อย่างรวดเร็วมาก จนเหมือนกับไม่ดับเลย เมื่อยังไม่มีปัจจัยพอที่ปัญญาสามารถประจักษ์การเกิด-ดับของสภาพธรรมได้ก็ยังไม่สามารถประจักษ์การเกิด-ดับของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ และผู้ฟัง ก็ย่อมรู้กำลังปัญญาของตนเอง ว่ายังไม่สามารถประจักษ์ การเกิด-ดับ ของสภาพธรรมในขณะนี้ได้เพียงปัญญาขั้นการฟัง
เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นการฟังคำสอน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง คือ เข้าใจขั้นการฟัง ว่า สภาพธรรมที่มีจริง มีการเกิด-ดับจริงๆ แต่ เมื่อยังไม่ประจักษ์แจ้งก็อดทนที่จะอบรมเจริญปัญญา (เจริญสติปัฏฐาน) ด้วยความเห็นถูก ความเข้าใจถูกจนกว่าจะค่อยๆ "ละคลายการยึดถือสภาพธรรม" ว่าเป็นตัวตน เป็นเรา หรือ เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดจนกว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ค่อยๆ ปรากฏ ตามความเป็นจริงกับปัญญาที่ได้อบรมมากขึ้นๆ
"ปฏิปัตติ" เป็นปัญญาอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งเกิดจากปัญญาขั้นการฟัง หรือ ปัญญาขั้น "ปริยัติ"คือ ฟังแล้วเข้าใจ ว่าสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่ปัญญาสามารถรู้ลักษณะได้นั้น ต้องเป็น "ขณะนี้" ไม่ใช่ขณะอื่นเพราะขณะอื่น สภาพธรรมเกิดแล้ว ดับแล้ว ไม่มีแล้ว ปัญญาจึงรู้ไม่ได้ ในสิ่งที่ไม่มีแล้วและสภาพธรรมที่ยังไม่เกิด ก็ยังไม่มี ปัญญาจึงรู้ไม่ได้ ในสิ่งที่ไม่มี
ปัญญาขั้น "ปฏิปัตติ" สามารถที่จะละคลายความยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ที่ไม่เคยรู้มาก่อนถ้าได้ฟังพระธรรม และเกิดความรู้ ก็ คือ รู้ ตามความเป็นจริง ว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้ ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล
แนวทางเจริญสติปัฏฐาน หรือ แนวทางเจริญวิปัสสนาในพระพุทธศาสนาจึงเป็นเรื่องของ"การอบรมเจริญปัญญา" ไม่ใช่ เรื่องของ "การทำ"
ขออนุโมทนา
การกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ด้วยความเป็นเรา ที่อยากรู้ อยากได้ อยากเป็นโดยไม่ได้มีการฟัง หรือ ศึกษาให้เข้าใจในสิ่งที่ทรงตรัสรู้จนกระทั่งเกิดความเข้าใจเป็น "ปัญญาของตนเอง" เสียก่อนไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า.
ปริยัติ เป็นเหตุปัจจัยที่นำปสู่ การปฏิบัติ และผลของการปฏิบัติ คือ ปฏิเวธ (การประจักษ์แจ้งสภาพธรรม) พระธรรมคำสอน เป็นเรื่องของเหตุและผลเหตุ ต้องสมควรแก่ผล...ผล ก็ต้องสมควรเหตุเหตุที่ไม่ถูก จะทำให้เกิดผลที่ถูก ไม่ได้ ฉันใด"ผลที่ถูก" ก็ต้องเกิดจาก "เหตุที่ถูก" ฉันนั้น.