การเข้านิโรธสมาบัติ [วิสุทธิมรรคแปล]

 
JANYAPINPARD
วันที่  4 พ.ค. 2553
หมายเลข  16056
อ่าน  8,291

วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 288

[เข้าอย่างไร]

ปัญหากรรมข้อว่า "อนึ่ง การเข้านิโรธสมาบัตินั้นมีได้อย่างไร" แก้ว่า การเข้านิโรธสมาบัตินั้นย่อมมีได้แก่ (พระอริยะชั้นสูง) ผู้เพียรพยายามด้วยอำนาจแห่งสมถะและวิปัสนา ทำบุพกิจแล้ว ทำเนวสัญญานาสัญญายตนะให้ดับไปอยู่ การเข้านิโรธสมาบัตินั้นมีได้อย่างนี้

ก็แลความ (ต่อไป) นี้เป็นความสังเขปในการเข้านิโรธสมาบัตินั้น คือ ผู้ใดเพียงพยายามด้วยอำนาจสมถะอย่างเดียว ผู้นั้นได้บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนสมบัติแล้วก็หยุด ส่วนผู้ใดเพียรพยายามด้วยอำนาจวิปัสนาอย่างเดียว ผู้นั้นบรรลุผลสมาบัติแล้วก็หยุด แต่ผู้ใดเพียรพยายามด้วยอำนาจสมถะและวิปัสนาทั้ง ๒ (เป็นคู่กัน) ทีเดียว ทำบุพกิจแล้ว ทำเนวสัญญานาสัญญาตนะให้ดับไป ผู้นั้นย่อมเข้านิโรธสมาบัตินั้นได้

ส่วนความ (ต่อไป) นี้ เป็นความพิสดาร คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ปรารถนาจะเข้านิโรธ ทำภัตกิจ ล้างมือและเท้าดีแล้ว (ไป) นั่ง ณ อาสนะอันลาดไว้ดีแล้ว ในโอกาสที่สงัด คู้บัลลังก์ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอเข้าปฐมฌาน ออกแล้ว (ทำวิปัสนา) พิจารณาสังขารทั้งหลายในปฐมฌานนั้น โดยความไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตา

[วิปัสสนา ๓]

อันวิปัสสนานั่นมี ๓ อย่าง คือ สังขารปริคัณหณกวิปัสนา (วิปัสนาที่กำหนดสังขาร) ผลสมาบัติวิปัสนา (วิปัสนาสำหรับเข้าสมาบัติ) นิโรธสมาบัติวิปัสสนา (วิปัสนาสำหรับเข้านิโรธสมาบัติ) ในวิปัสนา ๓ นั้น สังขารปริคัณหณกวิปัสนา จะเป็นอย่างอ่อนหรืออย่างกล้าก็แล้วแต่ ย่อมเป็นปทัสถานแห่งมรรคอยู่นั้นเอง ผลสมาบัติวิปัสนา เป็นอย่างกล้าจึงควร เป็นเช่นกับมรรคภาวนา ส่วนนิโรธสมาบัติวิปัสนา เป็นอย่างไม่อ่อนนัก ไม่กล้านัก จึงควร เพราะเหตุนั้น ผู้เข้านิโรธสมาบัตินั่น จึงชื่อว่า (ทำวิปัสนา) พิจารณาสังขารทั้งหลายนั้น ด้วยวิปัสนาอันไม่อ่อนนัก ไม่กล้านัก

[ลำดับการเข้าต่อไป]

ลำดับนั้น เข้าทุติยฌาน ออกแล้ว (ทำวิปัสนา) พิจารณาสังขารทั้งหลายในทุติยฌานนั้น อย่างที่กล่าวแล้วนั้นเหมือนกัน ต่อนั้น เข้าตติยฌาน ฯลฯ ต่อนั้น เข้าวิญญาณัญจายตนะ ออกแล้ว (ทำวิปัสนา) พิจารณาสังขารทั้งหลายในวิญญาณัญจายตนะนั้น อย่างนั้นแหละ ครั้นแล้ว เข้าอากิญจัญญายตนะ ออกแล้วทำบุพกิจ ๔ อย่าง คือ นานาพัทธอวิโกปนะ ไม่ยังพัสดุที่เนื่องกับภิกษุต่างรูปให้กำเริบ สังฆปฏิมานนะ (คำนึงถึง) การรอคอยแห่งสงฆ์ สัตถุปักโกสนะ (คำนึงถึง) การรับสั่งให้หาแห่งพระศาสดา อัทธานปริเฉท (คำนึงถึงกำหนดกาลแห่งชีวิต ...


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ