ปฏิปทาส่วนโลกิยะและโลกุตระ [อาเนญชสัปปายสูตร]

 
JANYAPINPARD
วันที่  4 พ.ค. 2553
หมายเลข  16057
อ่าน  1,266

[เล่มที่ 22] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ 125

๖. อาเนญชสัปปายสูตร

ว่าด้วยปฏิปทาส่วนโลกิยะและโลกุตระ

[๘๐] ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้ :- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่นิคมชื่อกัมมาสธรรมของชาวกุรุ ในแคว้นกุรุ สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับพระดำรัสแล้ว.

[๘๑] พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสดังนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กามไม่เที่ยง เป็นของว่างเปล่า เลือนหายไปเป็นธรรมดา ลักษณะของกามดังนี้ ได้ทำความล่อลวงเป็นที่บ่นถึงของคนพาล กามทั้งที่มีในภพนี้ ทั้งที่มีในภพภายหน้า และกามสัญญาทั้งที่มีในภพนี้ ทั้งที่มีในภพภายหน้าทั้งสองอย่างนี้ เป็นแก่งแห่งมาร เป็นวิสัยแห่งมาร เป็นเหยื่อแห่งมาร เป็นโคจรของมาร บาปอกุศลทางใจเหล่านี้ คือ อภิชฌาบ้าง พยาบาทบ้าง สารัมภะบ้าง เป็นอยู่ในกามนี้ กามนั่นเอง ย่อมเป็นอันตรายแก่อริยสาวก ผู้ตามศึกษาอยู่ในธรรมวินัยนี้.

[๘๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นในเรื่องกามนั้นดังนี้ว่า กามทั้งที่มีในภพนี้ ทั้งที่มีในภพภายหน้า และกามสัญญาทั้งที่มีในภพนี้ ทั้งที่มีในภพภายหน้า ทั้งสองอย่างนี้ เป็นแก่งแห่งมาร เป็นวิสัยแห่งมาร เป็นเหยื่อแห่งมาร เป็นโคจรของมาร บาปอกุศลทางใจเหล่านี้ คืออภิชฌาบ้าง พยาบาทบ้าง สารัมภะบ้าง เป็นไปอยู่ในกามนี้ กามนั่นเองย่อมเป็นอันตรายแก่อริยสาวกผู้ตามศึกษาอยู่ในธรรมวินัยนี้ ถ้ากระไรเราพึงมีจิตเป็นมหัคคตะอย่างไพบูลย์ อธิษฐานใจครอบโลกอยู่...

[๙๑] ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ปฏิบัติแล้วอย่างนี้ ย่อมได้เฉพาะอุเบกขาด้วยคิดว่า สิ่งที่ไม่มีก็ไม่พึงมีแก่เรา และจักไม่มีแก่เรา เราจะละสิ่งที่กำลังมีอยู่ และมีมาแล้วนั้นๆ เสีย เธอไม่ยินดี ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจอุเบกขานั้นอยู่ เมื่อเธอไม่ยินดี ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจอุเบกขานั้นอยู่ วิญญาณก็ไม่เป็นอันอาศัยอุเบกขานั้น และไม่ยึดมั่น อุเบกขานั้น ดูก่อนอานนท์ ภิกษุผู้ไม่มีความยึดมั่น ย่อมปรินิพพานได้.

อา. น่าอัศจรรย์จริง พระพุทธเจ้าข้า ไม่น่าเป็นไปได้ พระพุทธเจ้าข้า อาศัยเหตุนี้ เป็นอันว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบอกปฏิปทาเครื่องข้ามพ้นโอฆะแก่พวกข้าพระองค์แล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วิโมกข์ของพระ-อริยะเป็นไฉน.

[๙๒] พ. ดูก่อนอานนท์ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ ซึ่งกามทั้งที่มีในภพนี้ ทั้งที่มีในภพภายหน้า และกามสัญญาทั้งที่มีในภพนี้ ทั้งที่มีในภพภายหน้า ซึ่งรูปทั้งที่มีในภพนี้ ทั้งที่มีในภพภายหน้าและรูปสัญญาทั้งที่มีในภพนี้ ทั้งที่มีในภพภายหน้า ซึ่งอาเนญชสัญญา ซึ่งอากิญจัญญายตนสัญญา ซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา ซึ่งสักกายะเท่าที่มีอยู่นี้ ซึ่งอมตะ คือ ความหลุดพ้นแห่งจิตเพราะไม่ถือมั่น ....


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 27 ธ.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ