มหาปเทส ๔ [มหาวรรค]

 
orawan.c
วันที่  9 พ.ค. 2553
หมายเลข  16109
อ่าน  22,598

[เล่มที่ 7] พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 161

พระพุทธานุญาตมหาปเทส ๔

[๙๒] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายเกิดความรังเกียจในพระบัญญัติบางสิ่งบางอย่างว่า สิ่งใดหนอ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตไว้ สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาต จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสประทานสำหรับอ้าง ๔ ข้อ ดังต่อไปนี้ :-

๑. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่เราไม่ได้ห้ามไว้ว่า สิ่งนี้ไม่ควร หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นไม่ควรแก่เธอทั้งหลาย

๒. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่เราไม่ได้ห้ามไว้ว่า สิ่งนี้ไม่ควร หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ควร ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควรแก่เธอทั้งหลาย

๓. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่เราไม่ได้อนุญาตไว้ว่า สิ่งนี้ควร หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นไม่ควรแก่เธอทั้งหลาย

๔. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่เราไม่ได้อนุญาตไว้ว่า สิ่งนี้ควร หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ควร ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควรแก่เธอทั้งหลาย.

ข้อความอธิบายจากอรรถกถา

มหาปเทส ๔

เพื่อประโยชน์ที่ภิกษุทั้งหลายจะได้ถือไว้เป็นแบบ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสมหาปเทส (คือ หลักสำหรับอ้างใหญ่) ๔ ข้อเหล่านั้นว่า ยํ ภิกฺขเว มยา อิทํ น กปฺปติ เป็นต้น

พระธรรมสังคาหกเถระทั้งหลาย เมื่อถือเอาสูตรสอบสวนดูในมหาปเทสนั้น ได้เห็นความข้อนี้ว่า :-

ด้วยพระบาลีว่า ฐเปตฺวา ธญฺญผลรสํ นี้ ธัญญชาติ ๗ ชนิดเป็นอันห้ามแล้วว่า ไม่ควรในปัจฉาภัต. มหาผล ๙ อย่างคือ ผลตาล ผลมะพร้าว ผลขนุน ผลสาเก น้ำเต้า ฟักเขียว แตงไท แตงโม ฟักทอง เป็นอันทรงห้าม และอปรัณณชาติทุกชนิด มีคติอย่างธัญญชาติเหมือนกัน. มหาผลและอปรัณณชาตินั้น ไม่ได้ทรงห้ามไว้ก็จริง ถึงกระนั้น ย่อมเข้ากับสิ่งที่เป็นอกัปปิยะ, เพราะเหตุนั้น จึงไม่ควรในปัจฉาภัต.

น้ำปานะ ๘ อย่างทรงอนุญาตไว้ น้ำปานะแห่งผลไม้เล็กมี หวาย มะขาม มะงั่ว มะขวิด สะคร้อและเล็บเหยี่ยวเป็นต้น มีคติอย่างอัฏฐบานแท้ น้ำปานะแห่งผลไม้เหล่านั้น ไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ก็จริง. ถึงกระนั้น ย่อมเข้ากับสิ่งที่เป็นกัปปิยะ เพราะฉะนั้น จึงควร.

ในกุรุนทีแก้ว่า จริงอยู่ เว้นรสแห่งเมล็ดข้าวกับทั้งสิ่งที่อนุโลมเสียแล้ว ขึ้นชื่อว่าน้ำผลไม้อื่น ที่ไม่ควร ย่อมไม่มี น้ำผลไม้ทุกชนิดเป็นยามกาลิกแท้.

จีวรพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตไว้ ๖ ชนิด. จีวรอื่นอีก ๖ ชนิดที่อนุโลมจีวรเหล่านั้น คือ ผ้าทุกุละ ผ้าแคว้นปัตตุนนะ ผ้าเมืองจีน ผ้าเมืองแขก ผ้าสำเร็จด้วยฤทธิ์ ผ้าเทวดาให้ พระธรรมสังคาหกเถระทั้งหลายอนุญาตแล้ว.

บรรดาผ้าเหล่านั้น ผ้าปัตตุนนะนั้น ได้แก่ ผ้าที่เกิดด้วยไหมในปัตตุนประเทศ. ผ้า ๒ ชนิด เรียกตามชื่อของประเทศนั่นเอง. ผ้า ๓ ชนิด นั้น อนุโลมผ้าไหม ผ้าทุกุละ อนุโลมผ้าป่าน นอกจากนี้ ๒ ชนิด อนุโลมผ้าฝ้ายหรือผ้าทุกอย่าง.

บาตรพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้าม ๑๑ อย่าง อนุญาต ๒ อย่าง คือ บาตรเหล็ก บาตรดิน. ภาชนะ ๓ อย่าง คือ ภาชนะเหล็ก ภาชนะดิน ภาชนะทองแดง อนุโลมแก่บาตรนั้นแล.

กระติกน้ำ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตไว้ ๓ อย่าง คือ กระติกโลหะ กระติกไม้ กระติกผลไม้. ภาชนะน้ำ ๓ อย่าง คือ คนโทน้ำ ขันทองห้าว หม้อตักน้ำ อนุโลมกระติกน้ำ ๓ อย่างนั้นแล. แต่ในกุรุนทีแก้ว่า สังข์สำหรับใส่น้ำฉัน และขันน้ำ อนุโลมแก่กระติกเหล่านั้น.

ประคดเอวทรงอนุญาตไว้ ๒ ชนิด คือ ประคดทอเป็นแผ่น ประคดไส้สุกร ประคดเอวที่ทำด้วยผืนผ้า และด้วยเชือกอนุโลมประคด ๒ ชนิดนั้น

ร่มทรงอนุญาตไว้ ๓ ชนิด คือ ร่มขาว ร่มรำแพน ร่มใบไม้, ร่ม ใบไม้ใบเดียว อนุโลมตามร่ม ๓ ชนิดนั้นเอง แม้ของอื่นๆ ที่เข้ากับสิ่งที่ควรและไม่ควร ผู้ปฏิบัติพึงพิจารณาดูบาลีและอรรถกถาแล้วทราบตามนัยนี้ เถิด.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
Jans
วันที่ 8 มิ.ย. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 20 พ.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ