ประวัติจิตตคฤหบดี
[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 61
๓. ประวัติจิตตคฤหบดี
ในสูตรที่ ๓ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
ด้วยบทว่า ธมฺมกถิกานํ ท่านแสดงว่า จิตตคฤหบดีเป็นเลิศกว่าพวกอุบาสกผู้เป็นธรรมกถึก ได้ยินว่า ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ เขาบังเกิดในเรือนสกุล กรุงหังสวดี ต่อมาได้ฟังธรรมกถา เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาอุบาสกคนหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นเลิศกว่าอุบาสกผู้เป็นธรรมกถึก จึงกระทำกุศลยิ่งยวดขึ้นไป ปรารถนาตำแหน่งนั้น. เขาเวียนว่ายไปในเทวดาและมนุษย์ตลอดแสนกัป ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ บังเกิดในเรือนแห่งนายพรานเนื้อ ฯลฯ
เขาเวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์พุทธันดรหนึ่ง ในพุทธุปบาทกาลนี้ ก็บังเกิดในสกุลเศรษฐี ณ นครมัจฉิกาสัณฑะ แคว้นมคธ. เวลาเขาเกิด ฝนดอกไม้ ๕ สี ตกลงตามเขตประมาณแค่หัวเข่าทั่วพระนคร ครั้งนั้น บิดามารดาของเขาคิดว่า บุตรของเรานำชื่อของตนมาด้วยตนเองแม้ในวันเกิด ทั่วพระนครก็วิจิตรด้วยดอกไม้ ๕ สี จึงขนานนามเขาว่าจิตตกุมาร ย่อมาเขาดำรงอยู่ในฆราวาสวิสัย เมื่อบิดาล่วงลับไป ก็ได้ตำแหน่งเศรษฐีในนครนั้น.
สมัยนั้น พระเถระชื่อว่า มหานามะ ในจำนวนพระเถระปัญจวัคคีย์ ไปถึงนครมัจฉิกาสัณฑะ จิตตคฤหบดีเลื่อมใสในอิริยาบถของท่าน จึงรับบาตรนำมายังเรือน บูชาด้วยบิณฑบาตท่านฉันเสร็จแล้ว ก็นำไปยังสวนชื่ออัมพาตการาม สร้างที่อยู่ถวายพระเถระ ณ ที่นั้น ถือปฏิญญาเพื่อท่านอยู่รับบิณฑบาตในเรือนตนเป็นนิตย์ แม้พระเถระเห็นอุปนิสัยของจิตตคฤหบดีนั้น เมื่อแสดงธรรมจึงแสดงเฉพาะสฬายตนวิภังค์เท่านั้น ไม่ช้านัก จิตตคฤหบดีก็บรรลุพระอนาคามิผล เพราะตนมีการพิจารณาเห็นสังขารอันทุกข์บีบคั้นแล้วในภพก่อน
แม้จิตตคฤหบดีนั้น เฝ้าพระศาสดาแล้ว เมื่อจะกลับไปเมืองของตน ก็ได้ถวายทุกสิ่งทุกอย่างที่นำมาด้วยเกวียนทั้งหลายแก่ภิกษุสงฆ์ เหล่าเทวดาก็ช่วยกันทำรัตนะ ๗ เต็มเกวียนที่ว่างเปล่า ในระหว่างมหาชนเกิดพูดกันขึ้นว่า จิตตคฤหบดีช่างมีการทำสักการะและการนับถือจริงหนอ พระศาสดาทรงสดับเรื่องนั้นจึงตรัสพระคาถาในพระธรรมบท ดังนี้ว่า สทฺโธ สีเลน สมฺปนฺโน ยโส โภคสนปฺปิโต ยํ ยํ ปเทสํ ภชติ ตตฺถ ตตฺเถว ปูชิโต คนผู้มีศรัทธา ถึงพร้อมด้วยศีล เพียบพร้อมด้วยยศและโภคสมบัติ ไปยังประเทศใดๆ คนเขาก็บูชาในประเทศนั้นๆ ตั้งแต่นั้นมา จิตตคฤหบดีนั้น ก็มีอุบาสกที่เป็นอริยสาวก ๕๐๐ คนห้อมล้อมเที่ยวไป ต่อมาภายหลัง พระศาสดา เมื่อทรงสถาปนาเหล่าอุบาสกไว้ในตำแหน่งต่างๆ ตามลำดับ ทรงทำกถาชื่อจิตตสังยุตให้เป็นอัตถุปปัตติเหตุเกิดเรื่อง จึงทรงสถาปนาท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกอุบาสก ผู้เป็นธรรมกถึก แล
จบอรรถกถาสูตรที่ ๓