แสดงสรณคมน์ขาด ไม่ขาด และผล
[เล่มที่ 39] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 12
แสดงสรณคมน์ขาด ไม่ขาด และผล
บัดนี้ จะแสดงสรณคมน์ขาดเป็นต้น ที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า จะแสดงสรณคมน์ขาดและไม่ขาดทั้งผล ทั้งสรณะที่ควรถึง ดังต่อไปนี้.
การขาดสรณคมน์ ของบุคคลผู้ถึงสรณคมน์อย่างนี้ มี ๒ อย่าง คือมีโทษและไม่มีโทษ การขาดสรณคมน์เพราะการตาย ชื่อว่าไม่มีโทษ การขาดสรณคมน์เพราะหันไปนับถือศาสดาอื่น และประพฤติผิดในพระศาสดานั้น ชื่อว่ามีโทษ. การขาดแม้ทั้ง ๒ นั้น ย่อมมีแก่พวกปุถุชนเหล่านั้น สรณะของปุถุชนเหล่านั้น ย่อมชื่อว่าเศร้าหมอง เพราะประพฤติไปด้วยความไม่รู้ ความสงสัยและความรู้ผิด และเพราะประพฤติไม่เอื้อเฟื้อเป็นต้น ในพระพุทธคุณทั้งหลาย ส่วนพระอริยบุคคลหามีสรณะที่ขาดไม่ และหามีสรณะเศร้าหมองไม่ เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ [สัมมาทิฏฐิ] จะพึงนับถือศาสดาอื่น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส ส่วนพวกปุถุชน ยังไม่ถึงการขาดสรณะตราบใด ตราบนั้น ก็ยังชื่อว่าเป็นผู้มีสรณะไม่ขาด การขาดสรณะของปุถุชนเหล่านั้น ย่อมมีโทษ มีความเศร้าหมองและอำนวยผลที่ไม่น่าปรารถนา การขาดสรณะที่ไม่มีโทษ ก็ไม่มีผล เพราะหาวิบากมิได้. ส่วนการไม่ขาดสรณะว่าโดยผล ก็ย่อมอำนวยผลที่น่าปรารถนาอย่างเดียว เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า
ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ชนเหล่านั้นละกายมนุษย์ไปแล้ว ก็จักไม่เข้าถึงอบายภูมิ จักทำหมู่เทพให้บริบูรณ์ ดังนี้
ก็ในข้อนั้น พึงทราบอธิบายแห่งคาถาอย่างนี้ว่า ชนเหล่าใด ถึงสรณะด้วยการตัดอุปกิเลสได้ขาดด้วยสรณคมน์ ชนเหล่านั้น จักไม่ไปอบาย.ส่วนชนนอกนั้น จักไม่ไปอบาย ก็ด้วยการถึงสรณะ