ว่าด้วยสงสารกำหนดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้เหมือนโครงกระดูกบุคคล [ปุคคลสูตร]
Khaeota
วันที่ 22 พ.ค. 2553
หมายเลข 16281
อ่าน 1,068
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้าที่ 521
ว่าด้วยสงสารกำหนดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้เหมือนโครงกระดูกบุคคล ๑๐. ปุคคลสูตร
[๔๔๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ฯ [๔๔๑] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ฯลฯ เมื่อบุคคลหนึ่งท่องเที่ยวไป มาอยู่ตลอดกัปหนึ่ง พึงมีโครงกระดูกร่างกระดูก กองกระดูก ใหญ่เท่าภูเขาเวปุลละนี้ ถ้ากองกระดูกนั้นพึงเป็นของที่จะขนมารวมกันได้ และกระดูกที่ได้สั่งสมไว้แล้ว ก็ไม่พึงหมดไป ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้ ฯ [๔๔๒] พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถาประพันธ์ต่อไปว่า เราผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ได้กล่าวไว้ดังนี้ว่า กระดูกของบุคคลคนหนึ่งที่สะสมไว้กัปหนึ่ง พึงเป็นกองเท่าภูเขา ก็ภูเขาที่เรากล่าวนั้น คือ ภูเขาใหญ่ชื่อเวปุลละ อยู่ทิศเหนือของ ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้เมืองราชคฤห์ อันมีภูเขาล้อมรอบ เมื่อใดบุคคลเห็นอริยสัจ คือทุกข์ เหตุเกิดแห่งทุกข์ ความล่วงพ้นทุกข์ และอริยมรรคมีองค์ ๘ อันยังสัตว์ให้ถึงความสงบทุกข์ด้วยปัญญาอันชอบ เมื่อนั้นเขาท่องเที่ยว ๗ ครั้งเป็นอย่างมาก ก็เป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ เพราะสิ้นสัญโญชน์ทั้งปวง ดังนี้แล ฯ จบสูตรที่ ๑๐ จบปฐมวรรคที่ ๑