ความหมายของคำว่าเจตนา [ธรรมสังคณี]

 
Khaeota
วันที่  24 พ.ค. 2553
หมายเลข  16303
อ่าน  4,352

[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 314

ความหมายของคำว่าเจตนาเจตยตีติ

เจตนา ธรรมที่ชื่อว่า เจตนา เพราะอรรถว่า ตั้งใจ อธิบายว่า ย่อมยังสัมปยุตธรรมกับตนให้เป็นไปในอารมณ์ เจตนานั้นมีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้.

เจตยิกลกฺขณา มีการตั้งใจเป็นลักษณะ คือ มีความจงใจเป็นลักษณะอายูหนรสา มีการประมวลมาเป็นรส. จริงอยู่ เจตนาที่เป็นไปในภูมิ ๔ ชื่อว่า ไม่มีความจงใจเป็นลักษณะก็หาไม่.

เจตนาทั้งหมด มีความตั้งใจเป็นลักษณะทั้งนั้น ก็เจตนาที่มีการประมวลมา เป็นรสย่อมเป็นทั้งกุศล และอกุศลทั้งนั้น เพ่งถึงฐานะแห่งการประมวลมาซึ่งกุศลกรรม และอกุศลกรรมแล้ว สัมปยุตธรรมที่เหลือก็มีกิจเพียงบางส่วนเท่านั้น แต่ว่าเจตนามีอุตสาหะยิ่งนัก มีความพยายามยิ่งนัก คือมีอุตสาหะสองเท่า มีความพยายามสองเท่า ด้วยเหตุนั้นอาจารย์ในปางก่อน จึงกล่าวว่า ก็แล เจตนานี้ ตั้งอยู่ในสภาพความเป็นเจ้าของแท้ เจ้าของนา เรียกว่า เจ้าของแท้ เหมือนอย่างว่าบุรุษเจ้าของนาชวนบุรุษรวมแรงกัน ๕๕ คน หยั่งลงนาพร้อมกัน โดยบอกว่า เราจักเกี่ยวข้าว ดังนี้ เจ้าของนามีความอุตสาหะยิ่ง มีความพยายามยิ่ง คือมีความอุตสาหะสองเท่า มีความพยายามสองเท่า ย่อมบอกกล่าวถึงเขตมีคำว่า พวกท่านจงเกี่ยวติดต่อกันไป ดังนี้ แล้วจัดแจงสุราอาหารและของหอม เป็นต้น นำไปให้ชนเหล่านั้น ย่อมชี้ทางให้เท่าๆ กัน ฉันใด

ข้ออุปไมยนี้ บัณฑิตพึงทราบฉันนั้นเถิด จริงอยู่ เจตนาเหมือนบุรุษเจ้าของนา ธรรมทั้งหลายเป็นกุศล ๕๕ ที่เกิดขึ้นด้วยสามารถเป็นองค์ของจิต เหมือนบุรุษผู้ร่วมแรงกัน ๕๕ คน เพราะเพ่งถึงฐานะแห่งการประมวลมา ซึ่งกุศลกรรม และอกุศลกรรม เจตนาก็มีความอุตสาหะสองเท่า มีความพยายามสองเท่า เหมือนเวลาที่บุรุษเจ้าของนาทำการอุตสาหะสองเท่า มีความพยายามสองเท่า บัณฑิตพึงทราบความที่เจตนา นั้นมีความประมวลมาเป็นรส ด้วยประการฉะนี้.

ก็เจตนานั้น มีการจัดแจงเป็นปทัฏฐาน (สวิทหนปจฺจุปฏานา) จริงอยู่ เจตนานี้เมื่อจัดแจง ย่อมปรากฏเหมือนศิษย์ผู้ใหญ่ และนายช่างใหญ่ เป็นต้น ผู้สามารถทำกิจของตนและของผู้อื่นให้สำเร็จ. เหมือนอย่างว่า ศิษย์ผู้ใหญ่ เห็นพระอุปัชฌาย์มาแต่ไกล เมื่อตนเองสาธยายอยู่ ก็ยังเตือนศิษย์ผู้น้อยนอกนี้ ให้สาธยายตามอัชฌาศัยของตนๆ เมื่อศิษย์ผู้ใหญ่นั้น เริ่มสาธยาย ศิษย์ผู้น้อยแม้เหล่านั้น ก็สาธยาย เพราะคล้อยตามศิษย์ผู้ใหญ่นั้น ฉันใด และเปรียบเหมือนนายช่างใหญ่ เมื่อตนเองถาก ก็ยังช่างถากแม้นอกนี้ ให้เป็นไปในกรรมคือ การถากของตนๆ เพราะว่าเมื่อนายช่างใหญ่นั้นเริ่มถาก ช่างถากเหล่านั้น ก็ย่อมถากตามนายช่างใหญ่นั้น ฉันใด และเปรียบเหมือนแม่ทัพ เมื่อตนเองรบ ก็เตือนนักรบแม้นอกนี้ให้ทำการรบ เพราะว่า เมื่อแม่ทัพเริ่มทำการรบ นักรบแม้เหล่านั้นก็ทำการรบตามแม่ทัพนั้น ฉันใด แม้เจตนานี้ ก็ฉันนั้น แม้เป็นไปในอารมณ์ด้วยกิจของตนอยู่ ก็ยังสัมปยุตตธรรมแม้อื่นๆ ให้เป็นไปในการกระทำของตนๆ เพราะว่า เมื่อเจตนานั้น เริ่มกิจของตน แม้ธรรมที่สัมปยุตกับเจตนานั้นก็เริ่ม

เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า เจตนา นั้นทำกิจของตนและของผู้อื่นให้สำเร็จ เหมือนศิษย์ผู้ใหญ่ และนายช่างใหญ่ เป็นต้น. ก็เจตนานี้ พึงทราบว่า ปรากฏเป็นไปโดยภาวะที่ให้สัมปยุตธรรม ให้อุตสาหะในการระลึกถึงการงานที่รีบด่วนเป็นต้น ดังนี้.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
คุณจิต
วันที่ 27 ก.ค. 2554

ขออนุโมทนาบุญ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 15 เม.ย. 2559

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
orawan.c
วันที่ 19 เม.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 17 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
swanjariya
วันที่ 6 พ.ค. 2565

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ