ยามต้องการเหตุผลย่อมปรารถนาบัณฑิต
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 325
๒. มหาสารชาดก
ยามคับขัน ย่อมปรารถนาผู้กล้าหาญ
ยามปรึกษางาน ย่อมปรารถนาคนผู้ไม่พูดพล่าม
ยามมีข้าวน้ำ ย่อมปรารถนาผู้เป็นที่รักของตน
ลยามต้องการเหตุผล ย่อมปรารถนาบัณฑิต
พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๓๖๖
[๖๗] สติ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน?
สติ ความตามระลึก ความหวนระลึก
สติ กิริยาที่ระลึก ความทรงจำ ความไม่เลื่อนลอย ความไม่ลืม
สติ สตินทรีย์ สติพละ สัมมาสติ
ในสมัยนั้นอันใด นี้ชื่อว่า สติมีในสมัยนั้น.
จะรู้ได้อย่างไรว่ามีสติ
ในขณะที่รู้ลักษณะของสภาพธรรม เช่น รู้ว่าความแข็งเป็นรูปธรรมอย่างหนึ่ง การเห็นเป็นนามธรรมอย่างหนึ่ง ก็รู้ได้ว่าขณะนั้นมีสติ ข้อสำคัญก็คือรู้ว่าขณะหลงลืมสติและขณะมีสตินั้นต่างกัน เช่น ขณะที่เดินหรือรับประทานอาหารนั้น บางครั้งก็หลงลืมสติ และบางขณะก็มีสติ ซึ่งก็จะรู้ความต่างกันได้ด้วยตัวเอง สติอาจจะเกิดขึ้นบ้างหลังจากที่หลงลืมสติไปมาก สภาพที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นเป็นสติ ไม่ใช่ตัวตน เราบังคับให้สติเกิดไม่ได้ เพราะสติเป็นนามธรรมชนิดหนึ่งไม่ใช่ตัวตน สติจะเกิดได้ก็เมื่อมีเหตุปัจจัย
สติทำกิจระลึก ปัญญาทำกิจรู้ความจริง ฉะนั้น ขณะที่สติปัฏฐานเกิดขึ้นพร้อมด้วยสติและสัมปชัญญะ จึงรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ตามระดับของสติปัญญาของแต่ละคน ซึ่งความคมกล้าของปัญญาไม่เท่ากัน