ว่าด้วยไฟ ๗ กอง [อรรถกถาปฐมอัคคิสูตรที่ ๓]
[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๒ หน้าที่ 111
อรรถกถาปฐมอัคคิสูตรที่ ๓
ปฐมอัคคิสูตรที่ ๓ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
กิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้นแม้ทั้งหมด ชื่อว่า อคฺคิ (ไฟ) เพราะอรรถว่า ตามเผาผลาญ. ส่วนบทเป็นต้นว่า อาหุเนยฺยคฺคิ นี้พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ สักการะท่านเรียกว่า อาหุนะ ชนเหล่าใดย่อมควรซึ่งอาหุนะ เหตุนั้น ชนเหล่านั้น ชื่อว่า อาหุเนยยา ชนผู้ควรซึ่ง อาหุนะ จริงอยู่ มารดาและบิดาทั้งหลาย ย่อมควรซึ่งอาหุนะ
เพราะท่านทั้งสองเป็นผู้มีอุปการมากแก่บุตรทั้งหลาย บุตรทั้งหลายปฏิบัติผิดในมารดาและบิดาทั้ง ๒ นั้น ย่อมบังเกิดในอบาย มีนรกเป็นต้น เพราะเหุตุนั้น ถึงแม้มารดาและบิดา จะมิได้ตามเผาผลาญอยู่ก็จริง ถึงกระนั้นท่านทั้ง ๒ ก็ยังเป็นปัจจัยแก่การตามเผาผลาญอยู่ ดังนั้น ท่านเรียก มารดาบิดาว่า อาหุเนยยัคคิ เพราะอรรถว่าตามเผาผลาญนั่นแล. ก็เจ้าบ้านท่านเรียกว่า คหบดี จริงอยู่ คหบดีนั้นมีอุปการะมากแก่มาตุคาม ด้วยการมอบให้ที่นอน เสื้อผ้า และเครื่องประดับเป็นต้น
มาตุคามผู้นอกใจสามีนั้น ย่อมบังเกิดในอบาย มีนรกเป็นต้น เพราะเหตุนั้น สามีแม้นั้น ท่านก็เรียกว่า คหปตัคคิ เพราะอรรถว่าตามเผาผลาญ โดยนัยก่อนนั่นแล. ส่วนในคำว่า ทกฺขิเณยฺยคฺคิ นี้ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้. ปัจจัย ๔ ชื่อว่า ทักษิณา ภิกษุสงฆ์ชื่อว่า ทักขิเณยยบุคคล ผู้ควรแก่ทักษิณา จริงอยู่ ภิกษุสงฆ์นั้น ย่อมเป็นผู้มีอุปการะมาก แก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย ด้วยการประกอบไว้ในกัลยาณธรรมทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ คือ ในสรณะ ๓ ศีล ๕ ศีล ๑๐ การบำรุงมารดาและบิดา การบำรุงสมณะและพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรม คฤหัสถ์ผู้ปฏิบัติผิดในภิกษุสงฆ์นั้น ด่า บริภาษซึ่งภิกษุสงฆ์ ย่อมบังเกิดในอบายทั้งหลาย มีนรก เป็นต้น เพราะเหตุนั้น ภิกษุสงฆ์นั้น ท่านเรียกว่า ทักขิเณยยัคคิ
ไฟคือทักขิเณยยบุคคล เพราะอรรถว่า ตามเผาผลาญโดยนัยก่อน นั่นแล. ไฟตามปกติที่เกิดแต่ไม้ชื่อว่า กัฏฐัคคิ ไฟเกิดแต่ไม้.
จบ อรรถกถาปฐมอัคคิสูตรที่ ๓