โมเนยยปฏิปทา [นาลกสูตร]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้าที่ 627
ข้อความบางตอนจาก...โมเนยยปฏิปทา นาลกสูตร
[๓๘๐] ข้าพระองค์ ได้รู้ตามคำของอสิตฤษีโดยแท้ เพราะเหตุนั้น ข้าแต่พระโคดม ข้าพระองค์ทูลถามพระองค์ผู้ถึง ฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง พระองค์อันข้าพระองค์ ทูลถามแล้ว ขอจงตรัสบอกมุนีและปฏิปทาอันสูงสุดของมุนี แห่งบรรพชิตผู้แสวงหา การเที่ยวไปเพื่อภิกษา แก่ข้าพระองค์เถิด.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพยากรณ์ว่า เราจักบัญญัติปฏิปทาของมุนีที่บุคคล ทำได้ยาก ให้เกิดความยินดีได้ยาก แต่ท่าน เอาเถิดเราจักบอกปฏิปทาของมุนีนั้นแก่ท่าน. ท่านจงอุปถัมภ์ตน จงเป็นผู้มั่นคงเถิด พึงกระทำการด่า และการไหว้ในบ้านให้เสมอกัน พึงรักษาความประทุษร้ายแห่งใจ พึงเป็นผู้สงบ ไม่มีความเย่อหยิ่งเป็นอารมณ์. อารมณ์ที่สูงต่ำ มีอุปมาด้วยเปลวไฟในป่า ย่อมมาสู่คลองจักษุ เป็นต้น เหล่านารีย่อมประเล้าประโลมมุนี นารีเหล่านั้น อย่าพึงประเล้าประโลมท่าน.
มุนีละกามทั้งหลายทั้งที่ดีแล้วงดเว้นจากเมถุนธรรม ไม่ยินดียินร้ายในสัตว์ ทั้งหลายผู้สะดุ้งและมั่นคง. พึงกระทำตนให้เป็นอุปมาว่า เราฉันใด สัตว์เหล่านี้ก็ฉันนั้น สัตว์เหล่านี้ ฉันใด เราก็ฉันนั้น ดังนี้แล้ว ไม่พึงฆ่าเอง ไม่พึงใช้ผู้อื่นให้ฆ่า. มุนีละความปรารถนา และความโลภในปัจจัยที่ปุถุชนข้องอยู่แล้ว เป็นผู้มีจักษุ พึงปฏิบัติปฏิปทาของมุนีนี้ พึงข้ามความทะเยอทะยานในปัจจัย ซึ่งเป็นเหตุแห่งมิจฉาชีพที่หมายรู้กันว่านรกนี้เสีย. พึงเป็นผู้มีท้องพร่อง (ไม่เห็นแก่ท้อง) มีอาหารพอประมาณ มีความปรารถนาน้อย ไม่มีความโลภ เป็นผู้หายหิว ไม่มีความปรารถนาด้วยความอยาก ดับความเร่าร้อนได้แล้วทุกเมื่อ. มุนีนั้นเที่ยวไปรับบิณฑบาตแล้ว พึงไปยังชายป่า เข้าไปนั่งอยู่ที่โคนต้นไม้. พึงเป็นผู้ขวนขวายในฌาน เป็นนักปราชญ์ ยินดีแล้วในป่า พึงทำจิตให้ยินดียิ่ง เพ่งฌานอยู่ที่โคนต้นไม้.
ครั้นเมื่อล่วงราตรีไปแล้ว พึงเข้าไปสู่บ้าน ไม่ยินดีโภชนะที่ยังไม่ได้ และโภชนะที่เขานำไปแต่บ้าน. ไปสู่บ้านแล้ว ไม่พึงเที่ยวไปในสกุล โดยรีบร้อน ตัดถ้อยคำเสียแล้ว ไม่พึงกล่าววาจาเกี่ยวด้วยการแสวงหาของกิน. มุนีนั้นคิดว่า เราได้สิ่งใด สิ่งนี้ยังประโยชน์ให้สำเร็จ เราไม่ได้ก็เป็นความดี ดังนี้แล้ว เป็นผู้คงที่ เพราะการได้และไม่ได้ ทั้งสองอย่างนั้นแล ย่อมก้าวล่วงทุกข์เสียได้. เปรียบเหมือนบุรุษ แสวงหาผลไม้ เข้าไปยังต้นไม้แล้ว แม้จะได้ แม้จะไม่ได้ ก็ไม่ยินดี ไม่เสียใจ วางจิตเป็นกลางหลับไป ฉะนั้น. มุนีมีบาตรในมือเที่ยวไปอยู่ ไม่เป็นใบ้ ก็สมมติว่าเป็นใบ้ ไม่พึงหมิ่นทานว่าน้อย ไม่พึงดูแคลนบุคคลผู้ให้. ก็ปฏิปทาสูงต่ำ พระพุทธสมณะประกาศแล้ว มุนีทั้งหลายย่อมไม่ไปสู่นิพพานถึงสองครั้ง นิพพานนี้ควรถูกต้องครั้งเดียวเท่านั้น หามิได้. ก็ภิกษุผู้ไม่มีตัณหา ตัดกระแสกิเลสได้แล้ว ละกิจน้อยใหญ่ได้เด็ดขาดแล้ว ย่อมไม่มีความเร่าร้อน....
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้าที่ 631
ข้อความบางตอนจาก...อรรถกถานาลกสูตรที่ ๑๑_1 นาลกสูตร
มีคำเริ่มต้นว่า อานนฺทชาเต ผู้ที่ใจชื่นชม ดังนี้. พระสูตรนี้มีการเกิดขึ้นอย่างไร มีเรื่องเล่าว่าดาบสชื่อว่า นาลกะ เป็นหลานของอสิตฤษี เห็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตระ ปฏิบัติโมเนยยปฏิปทา (ปฏิบัติเพื่อความเป็นมุนี) จึงหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเป็นอย่างนั้น จำเดิมแต่นั้นได้บำเพ็ญบารมีแสนกัป ได้ทูลถามโมเนยยปฏิปทากะพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถาสองคาถา มีอาทิว่า อญฺญาตเมตํ ข้าพระองค์ได้รู้ตามคำของอสิตฤษี ดังนี้. ในวันที่ ๗ จากวันที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยังธรรมจักรให้เป็นไปแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์โมเนยยปฎิปทานั้นแก่นาลกดาบสโดยนัยมีอาทิว่า โมเนยฺยนฺเต อุปญฺญิสฺสํ เราจักบัญญัติปฏิปทาของมุนีแก่ท่านดังนี้.
ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ท่านพระอานนท์อันท่านพระมหากัสสปผู้ทำสังคายนาถามโมเนยยปฏิปทานั้น ประสงค์จะแสดงกระทำเรื่องราวทั้งหมดในขณะที่นาลกดาบสถูกชักชวนทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ปรากฏ จึงกล่าววัตถุคาถา ๒๐ คาถา มีอาทิว่า อานนฺทชาเต ดังนี้ ท่านเรียกเรื่องแม้ทั้งหมดนั้นว่า นาลกสูตร
บทว่า โมเนยฺยํ ได้แก่ เป็นของพระมุนี.
บทว่า อุตฺตมํ ปทํ คือ ปฏิปทาอันสูงสุด. บทที่เหลือในคาถานี้ ปรากฏชัดอยู่แล้ว. เมื่อนาลกดาบสได้กราบทูลถามอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงพยากรณ์โมเนยยปฏิปทาแก่นาลกดาบสนั้นโดยนัยมีอาทิว่า โมเนยฺยํ เตอุปญฺญสฺสํ เราจักบัญญัติปฏิปทาของมุนีแก่เธอ ดังนี้....
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้าที่ 660
ข้อความบางตอนจาก... อรรถกถานาลกสูตรที่ ๑๑_2 [ปรมัตถโชติกา]
พระนาลกเถระครั้นฟังดังนั้นแล้ว ได้เป็นผู้มีความปรารถนาน้อยในฐานะ ๓ คือ ในการเห็น๑ ในการฟัง๑ ในการถาม๑ เพราะเมื่อจบเทศนาพระนาลกเถระนั้น มีจิตเลื่อมใสถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าเข้าไปสู่ป่าไม่เกิดความโลเลว่า ทำอย่างไรดีหนอเราจะพึงได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าอีก นี้คือความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยในการเห็นของพระนาลกเถระนั้น.
อนึ่ง ไม่เกิดความโลเลว่า ทำอย่างไรดีหนอเราจะพึงได้ฟังพระธรรมเทศนาอีก นี้คือความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยในการฟังของพระนาลกเถระนั้น. อนึ่ง ไม่เกิดความโลเลว่า ทำอย่างไรดีหนอ เราจะพึงได้ถามโมเนยยปฏิปทาอีก นี้คือความเป็นผู้ปรารถนาน้อยในการถามของพระนาลกเถระนั้น. พระนาลกเถระนั้นเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยอย่างนี้ จึงเข้าไปยังเชิงภูเขา ไม่อยู่ตลอดสองวัน ณไพรสณฑ์แห่งหนึ่ง ไม่นั่งตลอดสองวัน ณ โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง ไม่เข้าไปบิณฑบาตลอดสองวัน ณ บ้านแห่งหนึ่ง. พระนาลกเถระเที่ยวจากป่าสู่ป่าจากต้นไม้สู่ต้นไม้ จากบ้านสู่บ้าน ปฏิบัติปฏิปทาอันสมควรแล้วตั้งอยู่ในผลอันเลิศ. เพราะภิกษุผู้บำเพ็ญโมเนยยปฏิปทาอย่างอุกฤษฏ์ จะมีชีวิตอยู่ได้ ๗ เดือนเท่านั้น บำเพ็ญอย่างกลางจะมีชีวิตอยู่ได้ ๗ ปี บำเพ็ญอย่างอ่อนจะมีชีวิตอยู่ได้ ๑๖ ปี พระนาลกเถระนี้บำเพ็ญอย่างอุกฤษฏ์ ฉะนั้นจะอยู่ได้ ๗ เดือน รู้ว่าตนจะสิ้นอายุจึงอาบน้ำ นุ่งผ้า คาคผ้าพันกาย ห่มสังฆาฏิสองชั้นบ่ายหน้าไปทางพระทศพล ถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ประคองอัญชลียืนพิงภูเขาหิงคุลิกะ ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงทราบว่า พระนาลกเถระปรินิพพานแล้ว จึงเสด็จไป ณ ภูเขานั้นพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ กระทำฌาปนกิจให้เก็บพระธาตุไปบรรจุยังเจดีย์แล้วเสด็จกลับ ด้วยประการฉะนี้.
จบอรรถกถานาลกสูตรที่ ๑๑