งมงายอย่างยิ่ง
อวิชชา หรือ โมหะ เป็นความหลง ความไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โมหะ เป็นไฟที่เผาบุคคลผู้ไม่รู้ความจริง ซึ่งความจริงก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ (ไม่พ้นจากความเป็นขันธ์ ความเป็นอายตนะ) และ ประการที่สำคัญ เพราะยังมีโมหะ นี้เอง จึงทำให้หมู่สัตว์ ไม่พ้นไปจากวัฏฏะ ยังวนเวียนอยู่ในวัฏฏะ ไม่พ้นไปจากทุกข์ทั้งปวง ยังต้องประสบกับความทุกข์ทั้งทางกายและทางใจอยู่ร่ำไปไม่มีวันจบสิ้น จะมีชีวิตต่อไปเพื่อสะสมอวิชชาต่อไป...เป็นผู้งมงาย
โดยพิเศษ...เป็นผู้งมงายอย่างยิ่ง...หรือจะค่อยๆ สะสมความรู้จริง ความเข้าใจสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ อยู่ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ด้วยความละเอียดรอบคอบ พร้อมทั้งซักถามจากกัลยาณมิตรผู้มีปัญญา ก็จะเป็นเหตุให้ความรู้ความเข้าใจ ค่อยๆ เพิ่มขึ้น เจริญขึ้น ค่อยๆ ละคลายความหลง ความไม่รู้ ความงมงาย (ความงมงาย ก็คือความไม่รู้ คือ โมหะ นั่นเอง) ไปตามลำดับ จนกว่าจะดับได้อย่างเด็ดขาดเมื่อถึงความเป็นพระอรหันต์
[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ ๕๘๘
บทว่า อริยธมฺเม อโกวิเท ความว่า ชนเหล่าใด เว้นการทำไว้ในใจ ซึ่งการเรียนและการซักถามในธรรมทั้งหลาย มีขันธ์และอายตนะเป็นต้นทั่วทุกอย่าง เป็นผู้ชื่อว่าไม่ฉลาดในธรรม ชนเหล่านั้นถูกความงมงายครอบงำแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า ชื่อว่า เป็นผู้งมงายโดยพิเศษ.
(ข้อความบางตอนจาก... ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ อัคคิสูตร)
...ขออนุโมทนาค่ะ...
ความว่า ชนเหล่าใด เว้นการทำไว้ในใจ ซึ่งการเรียนและการซักถามในธรรมทั้งหลาย
คำว่า "เว้นการทำไว้ในใจ" มีความหมายอย่างไรคะ
เรียน ความเห็นที่ 1
คำว่า "เว้นการทำไว้ในใจ" ควรจะหมายถึงการไม่ใส่ใจ การไม่มนสิการ หรือ การไม่พิจารณา ครับ
อวิชชาและอกุศลทุกอย่างทำให้จิตใจเศร้าหมอง ไม่รู้ความจริง งมงายอย่างยิ่ง แต่ธรรมของพระผู้มีพระภาค ทำให้เกิดปัญญาความเข้าใจถูก เห็นถูก ถ่ายถอนปุถุชนผู้มืดบอดปุถุชนผู้เขลา ให้ค่อยๆ ออกมาจากความเป็นผู้งมงายอย่างยิ่ง สู่ความเป็นผู้รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมอันเป็นสัจจะ สู่การดับกิเลสตามลำดับขั้น และนำออกจากทุกข์ทั้งปวงได้ในที่สุดครับ
พึงกระทำความสนิทสนมกับสัตบุรุษ เพราะรู้สัทธรรมของสัตบุรุษ ย่อมมีความเจริญ ไม่มีความเสื่อม ฯลฯ