มิจฉาทิฏฐิเท่านั้น ชื่อว่ามีโทษมากกว่าอนันตริยกรรม
ขอเชิญอ่านข้อความจากอรรถกถา
[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 195
อรรถกถาสูตรที่ ๓
ในสูตรที่ ๓ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
บทว่า มิจฺฉาทิฏฺฐิปรมานิ นี้ มีวิเคราะห์ว่า มิจฉาทิฏฐิเป็นอย่างยิ่งของโทษเหล่านั้น เหตุนั้นโทษเหล่านั้นชื่อว่า มิจฺฉาทิฏฐิปรมานิ โทษทั้งหลายมีมิจฉาทิฏฐิเป็นอย่างยิ่ง. อธิบายว่า อนันตริยกรรม ๕ ชื่อว่ากรรมมีโทษมาก. มิจฉาทิฏฐิเท่านั้น ชื่อว่ามีโทษมากกว่าอนันตริยกรรม ๕ แม้เหล่านั้น.
ถามว่า เพราะเหตุไร. ตอบว่า เพราะอนันตริยกรรม ๕ นั้น มีเขตกำหนด. ด้วยว่า ท่านกล่าวอนันตริยกรรม ๔ อย่างว่า ให้เกิดในนรก. แม้สังฆเภทก็เป็นกรรมตั้งอยู่ในนรกชั่วกัปเท่านั้น. อนันตริยกรรมเหล่านั้นมีเขตกำหนดที่สุด ก็ยังปรากฏด้วยประการอย่างนี้. ส่วนนิยตมิจฉาทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดอันดิ่ง ไม่มีเขตกำหนด เพราะนิยตมิจฉาทิฏฐินั้นเป็นรากเหง้าของวัฏฏะ. การออกไปจากภพ ย่อมไม่มีสำหรับคนผู้ประกอบด้วยนิยตมิจฉาทิฏฐินั้น. ชนเหล่าใด เชื่อฟังถ้อยคำของคนผู้ประกอบด้วยนิยตมิจฉาทิฏฐินั้น แม้ชนเหล่านั้นก็ย่อมปฏิบัติผิด. อนึ่ง ทั้งสวรรค์ ทั้งมรรค ย่อมไม่มีแก่คนผู้ประกอบด้วยนิยตมิจฉาทิฏฐินั้น ในคราวกัปพินาศ เมื่อมหาชนพากันเกิดในพรหมโลก บุคคลผู้เป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิ ไม่เกิดในพรหมโลกนั้น (แต่กลับ) เกิดที่หลังจักรวาล. ถามว่า ก็หลังจักรวาลไฟไม่ไหม้หรือ. ตอบว่า ไหม้. บางอาจารย์กล่าวว่า ก็เมื่อหลังจักรวาลแม้ถูกไฟไหม้อยู่ คนผู้เป็นนิยตมิจฉาทิฏฐินี้ ก็ถูกไฟไหม้อยู่ในโอกาสแห่งหนึ่งในอากาศ.