เห็นทะเลแล้วคิดอะไร
ได้มีโอกาสสนทนาธรรมที่อ่าวมะนาว จ. ประจวบคีรีขันธ์ อาจารย์คำปั่นได้กรุณาแปลความหมายของ ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีความหมายว่า เมืองที่มีภูเขาเรียงราย มีภูเขามาประจวบกัน และยังได้สอบถามคำขวัญของ จ.ประจวบคีรีขันธ์จากชาวเมืองมาให้อีกค่ะ คำขวัญคือ เมืองทองเนื้อเก้า มะพร้าวสัปรถ สวยสด หาด เขา ถ้ำ งามล้ำน้ำใจ ที่อ่าวมะนาวนั้นสวยงามมากมองออกไปทางทะเลแล้วเห็นเกาะเล็กเกาะน้อยอยู่หลายเกาะ อ. คำปั่นได้ถามพวกเราว่า "เห็นทะเลแล้วคิดอะไร" วกเข้า มาให้พิจารณาธรรมกันว่า ในพระสูตรนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า จงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง เกาะเปรียบเหมือนพระธรรม ทะเลนั้นเปรียบเหมือนอวิชชา ความไม่รู้ ดุจน้ำท่วมทับถมให้จมลงไป ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาระลึกรู้ลักษณะสภาพ-ธรรมตามความเป็นจริง ขณะที่สติปัฏฐานเกิดขณะนั้นมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง เปรียบน้ำทะเลไม่สามารถท่วมทับเกาะได้ อ.คำปั่นเปรียบให้ได้เข้าใจพระธรรมได้ไพเราะมาก....
ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนา อ. คำปั่น ค่ะ
"...ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะที่สติปัฏฐานเกิดขณะนั้นมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่ พึ่ง เปรียบน้ำทะเลไม่สามารถท่วมทับเกาะได้..."
ขอขอบพระคุณพี่เมตตา
และขออนุโมทนาทุกท่านที่มีโอกาสเข้าร่วมสนทนาธรรมที่อ่าวมะนาวทุกท่านครับ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
[เล่มที่ 40] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑- หน้าที่ 343
"ผู้มีปัญญา พึงทำเกาะ (ที่พึ่ง) ที่ห้วงน้ำ ท่วมทับไม่ได้ ด้วยความหมั่น ด้วยความไม่ ประมาท ด้วยความระวัง และด้วยความฝึก. "
บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า ทีป กยิราถ ความว่า ผู้มีปัญญาประกอบพร้อมแล้วด้วยปัญญาอันรุ่งเรืองในธรรม พึงทำคือพึงกระทำได้แก่อาจทำ เกาะคืออรหัตตผล อันเป็นที่พึ่งพำนักของตนในสาครคือสงสารอันลึกยิ่ง โดยความเป็นที่พึ่งอันได้ยากยิ่งนี้ ด้วยธรรมอันเป็นเหตุ ๔ ประการเหล่านี้ คือ;ด้วยความหมั่น กล่าวคือ ความเพียร ๑ ด้วยความไม่ประมาท กล่าวคือการไม่อยู่ปราศจากสติ ๑ ด้วยความระวัง กล่าวคือปาริสุทธิศีลสี่ ๑ ด้วยความฝึกอินทรีย์ ๑.
ถามว่า "พึงทำเกาะเช่นไร ?" แก้ว่า "พึงทำเกาะที่ห้วงน้ำท่วมทับไม่ได้." อธิบายว่า พึงทำเกาะที่ห้วงน้ำ คือ กิเลสทั้ง ๔ อย่าง ไม่สามารถจะท่วมพัดคือกำจัดได้; แท้จริง พระอรหัต อันโอฆะไม่สามารถจะท่วมทับได้เลย.
เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ครับ
การมีธรรมเป็นเกาะเป็นที่พึ่งคือการเจริญสติปัฏฐาน
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
เห็นทะเลแล้วคิดถึง น้ำตาของคนที่เกิดมาต้องพลัดพรากจากของรักทั้งหลาย น้ำตาของคนมีมากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้งสี่ สังสารวัฏฏ์เป็นภัยใหญ่ที่น่ากลัว เพราะฉะนั้น ควรสะสมปัญญา สะสมบุญกุศล เพื่อต้านทานสิ่งที่จะเกิดขึ้นค่ะ
เห็นทะเลแล้วคิดว่า "เห็น" แล้วก็ไม่รู้ "เห็น" ตามเป็นจริง สิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏแล้ว ก็ไม่รู้จักสิ่งที่ปรากฏทางตาตามความเป็นจริง คิดนึกเกิดแล้วดับแล้ว ก็ไม่รู้จักคิดนึกตามความเป็นจริง ทั้งวันหลงแต่ในโลกของเรื่องราว ความไม่รู้ท่วมทับ โลภะตรึงไว้ให้ติดข้อง ไม่ยอมสละ อัตภาพนี้ได้มายากแสนยาก แต่อายุมนุษย์ก็แสนน้อยเต็มไปความประมาท รายล้อมด้วยภัยอันตรายจากห้วงกิเลส ยากที่ใครจะข้ามพ้นโดยง่าย ไม่มีอะไรเป็นที่พึ่งอีกแล้ว นอกจากปัญญาที่่เข้าใจธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ขออนุโมทนาเกร็ดธรรมอันล้ำค่าฝากมาจากการสนทนาธรรมที่อ่าวมะนาวครับ
เห็นทะเลแล้วคิดว่า หิมะบนภูเขาเมื่อละลายและฝน ย่อมยังธารน้ำน้อยให้เต็ม ธารน้ำน้อยย่อมยังธารน้ำใหญ่ให้เต็ม ธารน้ำใหญ่ย่อมยังแม่น้ำน้อยให้เต็ม แม่น้ำน้อย ย่อมยังแม่น้ำใหญ่ให้เต็ม แม่น้ำใหญ่ย่อมยังทะเลให้เต็ม ปัญญาที่เข้าใจธรรม ก็เริ่มจากธารน้ำน้อยๆ จนเป็นมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ ซึ่งต้องอาศัยความเพียรที่จะต้องไหลไป ไหลไป ครับ