สงบจากโมหะ

 
Nareopak
วันที่  24 มิ.ย. 2553
หมายเลข  16583
อ่าน  2,465

สัมมาสมาธิ คือ สงบจากโลภะ โทสะ โมหะ สงบจากโลภะและโทสะพอจะเข้าใจ แต่สงบจากโมหะเป็นอย่างไรค่ะ และต้องสงบพร้อมกันทั้งโลภะ โทสะ โมหะหรือไม่จึงจะเป็นสัมมาสมาธิ ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในความกรุณาของท่านผู้ให้คำตอบค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 25 มิ.ย. 2553

ขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้นเอกัคคตาเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยเป็นสัมมาสมาธิ ขณะที่จิตเป็นกุศล สงบจากโลภะ โทสะ และโมหะ คือในขณะแห่งกุศลจิตเกิดขึ้นนั้น ไม่ถูกอกุศลใดๆ ครอบงำได้ ดังนั้นกุศลทุกระดับจึงสงบจากโลภะ โทสะ โมหะ ถ้าเป็นกุศลขั้นสูงสุด คืออรหัตตมรรค ย่อมสงบจากโมหะ เป็นสมุจเฉท ไม่เกิดขึ้นอีกเลย..

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wannee.s
วันที่ 25 มิ.ย. 2553

ขณะที่กุศลจิตเกิดประกอบด้วยปัญญาก็ได้ ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็ได้ แต่กุศลทุกประเภท ทำให้จิตสงบจากโลภะ โทสะ โมหะ ชั่วขณะค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
choonj
วันที่ 25 มิ.ย. 2553

ผมมีความเห็นว่า สองในเก้าอกุศลมูลคือ อวิชาและตันหา สมถะและวิปัสสนา ย่อมถึงการบริบูรณ์ด้วยภาวนา เมื่อวิปัสสนาเจริญอยู่ย่อมละอวิชา เมื่อสมถะเจริญอยู่ย่อมละตันหา เมื่ออกุศลถูกละ ก็สงบจากโลภะ โทสะ และ โมหะ เพราะโมหะเกิดกับโลภะด้วย โทสะด้วย ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 25 มิ.ย. 2553

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บุคคลผู้ที่ยังมีกิเลส ยังเต็มไปด้วยกิเลสนานาประการ มีโลภะ โทสะโมหะ เป็นต้น ในชีวิตประจำวันจึงมีขณะที่ไม่สงบ อย่างมากมาย เพราะเหตุว่ามีอกุศลจิตเกิดมากกว่ากุศล นี่เป็นธรรมดาของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ขณะใดที่จิตเป็นอกุศล ขณะนั้นย่อมไม่สงบ แต่ในทางตรงกันข้าม ขณะใดที่จิตเป็นกุศล ขณะนั้นย่อมสงบจากอกุศล กุศลกับอกุศล จะไม่เกิดร่วมกันอย่างเด็ดขาด

การศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมอบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน เกื้อกูลต่อการเจริญขึ้นของกุศลธรรม เมื่อปัญญาเจริญขึ้น เพิ่มมากขึ้น ก็จะเป็นเหตุให้จิตใจสงบจากกิเลส สงบจากอกุศล ตามระดับขั้นของความเข้าใจ จนกว่าจะถึงความเป็นผู้สงบจากกิเลส สงบจากอกุศล โดยประการทั้งปวง เมื่อบรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ ครับ ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Nareopak
วันที่ 25 มิ.ย. 2553

ขอคำอธิบายและยกตัวอย่างที่เป็นการดำเนินชีวิตประจำวันได้ไหมค่ะ (ที่อธิบายมาแล้วตามความคิดเห็นของทุกๆ ท่านพอจะเริ่มเข้าใจ แต่ยังไม่กระจ่างใจค่ะ) ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 25 มิ.ย. 2553

เรียนความเห็นที่ 5

ไปทีละคำนะครับ สัมมาสมาธิ คือ ความตั้งมั่นโดยชอบ แน่นอนครับว่าจะต้องเป็นกุศลหรือเป็นจิตฝ่ายดี เป็นสมาธิที่เป็นไปในกุศล เมื่อเป็นกุศลแล้วจะไม่มีโลภะ โทสะ โมหะเกิดด้วยเลยเพราะที่กล่าวมาเป็นกิเลส นั่นคือสงบจากโลภะ โทสะและโมหะ คำว่าสงบจึงหมายถึงไม่มีอกุศลเกิดขึ้นจึงสงบ ยกตัวอย่างในชีวิตประจำวันนะครับ ขณะที่ให้ทาน เป็นกุศลจิตใช่ไหมครับ แต่เมื่อจิตเกิดจะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยใน ขณะนั้น เอกัคคตาเจตสิกคือความตั้งมั่นของจิตก็เกิดร่วมด้วยเพราะฉะนั้น สมาธิที่เกิด (เอกัคคตาเจตสิก) กับกุศลจิตคือขณะให้ ขณะนั้นเป็นสัมมาสมาธิ เป็นความตั้งมั่นโดยชอบเพราะเป็นกุศลนั่นเองครับ ขณะนั้นมีโลภะ โทสะ โมหะไหมครับ ไม่มี เพราะจิตขณะนั้นเป็นกุศล ที่คุณสงสัยคือว่า สงบจากโลภะ โทสะ พอจะเข้าใจแล้วโมหะยังสงสัยว่าสงบอย่างไร เราก็ต้องเข้าใจคำจำกัดความของคำว่าสงบและคำว่าโมหะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paderm
วันที่ 25 มิ.ย. 2553

โมหะ คือความหลงหรือความไม่รู้ ขณะใดที่อกุศลเกิดขณะนั้นมีโมหะเกิดร่วมด้วยขณะนั้นไม่รู้ความจริง ส่วนคำว่าสงบ หมายถึงขณะที่อกุศลไม่เกิด เป็นกุศลชื่อว่าสงบก็ได้หรือดับกิเลสหมดก็สงบเช่นกัน เมื่อพิจารณาในชีวิตประจำวัน ตามที่ยกตัวอย่างในการให้ทาน จิตเป็นกุศล ไม่มีโมหะเกิดขึ้น จึงสงบจากโมหะ (เพราะไม่มีโมหะเกิดด้วย) หรือขณะที่ฟังธรรมเข้าใจ จิตเป็นกุศลมีปัญญาเกิดร่วมด้วย ปัญญาคือ (อโมหะ) โมหะ คือความไม่รู้ อโมหะก็ต้องเป็นความรู้ เพราะฉะนั้นขณะที่ฟังธรรม ขณะที่เข้าใจปัญญาเกิด จึงสงบจากโมหะ สงบจากความไม่รู้คือโมหะไม่เกิด ปัญญาเกิดแทน ความรู้เกิดแทนครับ จึงสงบจากโมหะ เป็นต้น ส่วนผู้ที่ดับกิเลสเป็นพระอรหันต์จะไม่มีโมหะเกิดอีกเลย จึงเป็นผู้สงบจากโมหะอย่างเด็ดขาด

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
paderm
วันที่ 25 มิ.ย. 2553

เรื่อง สงบจากโมหะเพราะปัญญา (อโมหะ) เกิด

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้าที่ 257

ส่วนในกาลใด สัตว์ทั้งหลายบวชแล้ว ทะเลาะกันเรื่องธรรม ในกาลนั้น ประทับอยู่ด้วยอริยวิหาร เพื่อยังกุศลมูล คือ อโมหะ (ปัญญา) ให้เกิดขึ้นแก่สัตว์เหล่านั้นว่า ไฉนหนอ สัตว์ทั้งหลายเห็นปฏิบัตินี้ ยังความพอใจให้เกิดขึ้นในปฏิบัตินี้ พึงยังโมหะให้สงบด้วยอโมหะ (ปัญญา)


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 253

[๖๘๙] คำว่า สงบ ในคำว่า มุนีนั้น เมื่อชนทั้งหลายไม่สงบก็เป็นผู้สงบ วางเฉย ความว่า ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เข้าไปสงบเงียบ ดับระงับแล้ว เพราะเป็นผู้มีราคะ โทสะ โมหะ ฯลฯ อกุสลาภิสังขารทั้งปวงสงบ เงียบ เข้าไปสงบ เย็น ดับ หายไป ระงับแล้ว เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่าเป็นผู้สงบ.

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ajarnkruo
วันที่ 26 มิ.ย. 2553

กุศลทุกขั้นสงบจากอกุศลทุกประเภท แต่ก็สงบต่างกันตามระดับ ตามกำลังของกุศลประเภทนั้นๆ ทุกขณะที่กุศลเกิด มีสมาธิ (เอกัคคตาเจตสิก) เกิดร่วมด้วย เป็นสัมมาสมาธิ ขณะนั้นสงบชั่วขณะ ไม่เรียกว่าสัมมาสมาธิก็ได้ เพราะสภาพของกุศลทั้งหมดนั้นสงบ หมายรวมทั้งจิตและเจตสิกฝ่ายดีที่เกิดร่วมกันที่ทำให้จิตสงบ เวลาที่กุศลเกิด อกุศลประเภทใดๆ ก็ตามแม้หนึ่งชนิด จะเกิดร่วมกับกุศลในขณะนั้นไม่ได้ โมหะเกิดร่วมกับกุศลใดๆ ไม่ได้ กุศลต้องเป็นกุศล อกุศลต้องเป็นอกุศล ถ้าโมหะเกิดกับจิตใด แม้ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ แต่มีโมหะ จิตนั้นก็ต้องเป็นอกุศลเท่านั้น ไม่เป็นอื่น

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Nareopak
วันที่ 26 มิ.ย. 2553

ขออนุโมทนาในคำตอบและตัวอย่างที่ทำให้เข้าใจขึ้นค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
orawan.c
วันที่ 28 มิ.ย. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
รากไม้
วันที่ 7 ก.ค. 2553

ส่วนใหญ่ที่ไปเจริญสมาธิกัน ก็เต็มไปด้วย โลภะ โทสะ และโมหะ กันทั้งนั้น แต่ไม่มีใครล่วงรู้เลย จึงต้องหลงเข้าไปติดฌาณ หลงใหลในความสงบ ยึดเอาว่าความนิ่งเงียบว่า นั่นคือสัมมาสมาธิแล้ว ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก จริงๆ แล้ว สัมมาสมาธิ เกิดขึ้นได้ยากมากครับ ...คือต้องสะสมทั้งปัญญา ความเพียร สติสัมปชัญญะ ให้บริบูรณ์เสียก่อน ด้วยการศึกษาพระธรรมให้มากๆ / ที่ว่ายากนั้น ก็คือตามที่ท่าน อ.ประเชิญ ได้กล่าวไว้ว่า สัมมาสมาธิ เป็นอรหัตตมรรค ซึ่งเข้าถึงได้ยากยิ่ง
ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
xbird
วันที่ 22 มิ.ย. 2558

อนุโมทนาสาธุครับ หากแต่ก่อนพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้ ไม่ทราบว่าขณะที่เจริญฌานนั้น ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ และ ไม่มีโมหะ เป็นกุศลฌานใช่ไหมครับ

ขอบคุณผู้ให้ความกระจ่าง

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ