กิเลส
เราสะสมกุศล และอกุศลมากมายในสังสารวัฏฏ์ แต่การฟังธรรมเป็นกุศล
ที่เป็นปัจจัยแก่ปัญญา เป็นกุศลทีมีอานิสงส์อย่างยิ่ง เพราะเป็นเหตุให้เว้น
อกุศลทั้งหลาย และเจริญกุศลทั้งหลายค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ในสังสารวัฏฏ์อันยาวนานที่ผ่านมา เราได้สะสมกิเลสมามาก (กิเลส หมายถึงเครื่องเศร้าหมองของจิต) กิเลส เป็นนามธรรม เป็นอกุศลเจตสิก เกิดร่วมกับอกุศลจิต เมื่อเกิดแล้วก็ดับไปแต่ก็สะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกขณะไม่หายไปไหน โกรธขณะนี้มาจากไหน ถ้าไม่เคยสะสมความโกรธมา ความติดข้องในขณะนี้ มาจากไหน ถ้าไม่เคยได้สะสมความติดข้องมา นี่คือ ความเป็นจริง กิเลส เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย เมื่อสะสมกิเลสมามาก กิเลสจึงเกิดมากเป็นธรรมดา ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในชีวิตประจำวัน ในวันหนึ่งๆ แม้ว่าจะได้พบพระพุทธศาสนา ได้ฟังพระธรรมในแนวทางที่ถูกต้องแล้ว แต่เมื่อเทียบกันระหว่างฟังพระธรรม กับ ฟังเรื่องอื่นๆ แล้ว ก็จะเห็นได้ว่า ฟังเรื่องๆ อื่นมากกว่าฟังพระธรรม นี่เป็นความจริง ส่วนมากมักไหลไปด้วยอำนาจของกิเลสประการต่างๆ ธรรมฝ่ายดี อันได้แก่ ปัญญา จึงมีน้อย และเจริญช้ามาก ดังนั้น เมื่อปัญญายังน้อย จึงไม่มีกำลังที่จะกำจัดหรือดับกิเลสได้ กิเลสจึงเกิดบ่อยมากในชีวิตประจำวัน ทั้งโลภะ ความติดข้องต้องการ โทสะ ความโกรธความขุ่นเคืองใจ โมหะ ความหลง ความไม่รู้ อิสสา (ความ ริษยา) มัจฉริยะ ความตระหนี่ เป็นต้น
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงพระธรรม เพื่อให้ผู้ฟังผู้ศึกษา รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง การศึกษาพระธรรมนี้เอง เป็นหนทางเพื่อการดับกิเลสดับอกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ในเบื้องต้นเมื่อปัญญายังไม่เพียงพอ ย่อมดับกิเลสไม่ได้ แต่เมื่อค่อยๆ รู้ตามความเป็นจริงว่า เป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ก็ย่อมจะไม่เดือดร้อนกับกิเลสที่เกิดขึ้น ดังนั้น จึงต้องอบรมเจริญปัญญาต่อไป ที่สำคัญที่สุด คือ ไม่ขาดการฟังพระธรรม เพราะกิเลสที่มีมากต้องอาศัยปัญญาเท่านั้น จึงจะดับให้หมดสิ้นได้ ครับ ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอรบกวน คุณ khampan.a ขยายความประโยคนี้ด้วยครับ
"เป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ก็ย่อมจะไม่เดือดร้อนกับกิเลสที่เกิดขึ้น" ...นั้นหมายถึงว่าอย่างไร เพราะถ้าหากท่านผู้อ่านปัญญายังไม่ถึงพร้อม อาจจะเข้าใจผิดกับประโยคนี้ได้ครับ
ในความเห็นผม คิดว่าปัญญานี้เป็นขั้นโลกุตรปัญญา ซึ่งแตกต่างจาก โลกิยะปัญญา ...จึงใคร่ขอให้ช่วยขยายความด้วยครับ เพื่อความกระจ่าง
ขอบพระคุณ และอนุโมทนาครับ