ปฐมทานสูตร ทุติยทานสูตร ทานวัตถุสูตร ... วันเสาร์ที่ ๑๗ ก.ค. ๒๕๕๓

 
บ้านธัมมะ
วันที่  12 ก.ค. 2553
หมายเลข  16710
อ่าน  5,698

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ

ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ

สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

สนทนาธรรมที่

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ วันเสาร์ ๑๗ ก.ค. ๒๕๕๓ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น.

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ ๔๗๔

ปฐมทานสูตร ว่าด้วยทาน ๘ ประการ

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ ๔๗๕

ทานวัตถุสูตร ว่าด้วยเหตุแห่งการให้ทาน

... นำสนทนาโดย ...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ ๔๗๒

ทานวรรคที่ ๔

๑. ปฐมทานสูตร ว่าด้วยทาน ๘ ประการ

[๑๒๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทาน ๘ ประการนี้ ๘ ประการเป็นไฉน คือ บางคนเมื่อประสบ (ปฏิคาหก คือ ผู้รับ) จึงให้ทาน ๑ บางคนให้ทานเพราะกลัว ๑ บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เขาให้แก่เราแล้ว ๑ บางคนให้ทาน เพราะนึกว่า เขาจักให้ตอบแทน ๑บางคนให้ทานเพราะนึกว่าทานเป็นการดี ๑ บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เราหุงหากินชนเหล่านี้หุงหากินไม่ได้ เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่ชนเหล่านี้ผู้ไม่หุงหากินไม่สมควร ๑ บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เมื่อเราให้ทาน กิตติศัพท์อันงามย่อมฟุ้งไป ๑บางคนให้ทานเพื่อประดับปรุงแต่งจิต ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทาน ๘ ประการนี้แล

จบ ปฐมทานสูตรที่ ๑

อรรถกถาปฐมทานสูตรที่ ๑

วรรคที่ ๔ ปฐมทานสูตรที่ ๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ .-

บทว่า อาสชฺช ทานํ เทติ ความว่า บุคคลบางคนให้ทานเพราะประจวบเข้า คือพอเห็นปฏิคาหก (ผู้รับ) มาถึง นิมนต์ให้ท่านนั่งครู่หนึ่ง กระทำสักการะแล้ว จึงให้ทานย่อมไม่ลำบากใจ ว่า จักให้. บทว่า ภยา ได้แก่ เพราะกลัวครหาว่าเป็นผู้ไม่ให้เป็นผู้ไม่ทำ หรือ เพราะกลัวอบายภูมิ. บทว่า อทาสิ เม ความว่า ให้ด้วยคิดว่าผู้นี้ได้ให้สิ่งชื่อนี้แก่เราในกาลก่อน. บทว่า ทสฺสติ เม ความว่า ให้ด้วยคิดว่า ผู้นี้จักให้สิ่งชื่อนี้แก่เราในอนาคต. บทว่า สาหุ ทานํ ความว่า ให้ด้วยคิดว่า ขึ้นชื่อว่าทาน ยังประโยชน์ให้สำเร็จ คือ ดี ได้แก่อันบัณฑิตมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นสรรเสริญแล้ว บทว่า จิตฺตาลงฺการจิตฺตปริกฺขารตฺถ ทาน เทติ ความว่า ให้เพื่อประดับและตกแต่งจิตในสมถะและวิปัสสนา เพราะว่า ทานย่อมทำจิตให้อ่อนโยน บุคคลผู้ได้รับทาน ย่อมมีจิตอ่อนโยนดีว่าเราได้แล้ว แม้บุคคลให้ทานนั้น ก็ย่อมมีจิตอ่อนโยนว่า เราให้ทานแล้ว เพราะฉะนั้น ทานนั้น ชื่อว่า ย่อมทำจิตของบุคคลทั้ง ๒ ฝ่ายให้อ่อนโยน เพราะเหตุนั้นนั่นแล ท่านจึงตรัสว่า อทนฺตทมนํ การฝึกจิตที่ยังไม่ได้ฝึก ดังพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า .-

อทนฺตทมน ทาน อทาน ทนฺตทูสก อเนน ปิยวาเจน โอณมนฺติ มนมฺติ จ

การให้ทาน เป็นเครื่องฝึกจิตที่ยังไม่ได้ฝึก การไม่ให้ทาน เป็นเครื่องประทุษร้ายจิตที่ฝึกแล้ว ชนทั้งหลายมีจิตโอนอ่อน และน้อมลงด้วยปิยวาจานี้ ก็บรรดาการให้ทาน ๘ ประการนี้ การให้เพื่อประดับจิตเท่านั้น เป็นสูงสุดแล

จบ อรรถกถาปฐมทานสูตรที่ ๑

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ ๔๗๔

๒. ทุติยทานสูตร ว่าด้วยการให้ทานด้วยศรัทธา เป็นต้น

[๑๒๒] ธรรม ๓ ประการนี้ คือ การให้ทานด้วย ศรัทธา ๑ การให้ทานด้วยหิริ ๑ การให้ทานอันหา โทษมิได้ ๑ เป็นธรรมที่สัปบุรุษดำเนินมาแล้ว บัณฑิตทั้งหลายกล่าวธรรม ๓ ประการนี้ ว่า เป็นทาง ไปสู่สวรรค์ ชนทั้งหลายย่อมไปสู่สรรค์ได้ ด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล

จบ ทานสูตรที่ ๒

อรรถกถาทุติยทานสูตรที่ ๒

ทุติยทานสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ .-

บุคคลย่อมให้ทานด้วยศรัทธาใด ศรัทธานั้น ท่านประสงค์เอาว่าศรัทธา บุคคลย่อมให้ทานด้วยหิริใด หิรินั้นท่านประสงค์เอาว่า หิริ. บทว่า กุสลญฺจ ทานํ ได้แก่ ทานที่หาโทษมิได้ บทว่า ทิวิย ได้แก่ เป็นทางไปสู่สวรรค์

จบ อรรถกถาทุติยทานสูตรที่ ๒

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ ๔๗๕

๓. ทานวัตถุสูตร ว่าด้วยเหตุแห่งการให้ทาน

[๑๒๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทานวัตถุ ๘ ประการนี้ ๘ ประการเป็นไฉน คือบางคนให้ทานเพราะชอบพอกัน ๑ บางคนให้ทานเพราะโกรธ ๑ บางคนให้ทานเพราะหลง ๑ บางคนให้ทานเพราะกลัว ๑ บางคนให้ทานเพราะนึกว่า บิดา มารดาปู่ ย่า ตา ยาย เคยให้มา เคยทำมา เราไม่ควรให้เสียวงค์ตระกูลดั้งเดิม ๑ บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เราให้ทานแล้ว เมื่อตายไปจักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ๑ บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เมื่อเราให้ทานนี้ จิตใจย่อมเลื่อมใส ความเบิกบานใจความดีใจ ย่อมเกิด ตามลำดับ ๑ บางคนให้ทานเพื่อประดับปรุงแต่งจิต ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทานวัตถุ ๘ ประการนี้แล

จบ ทานสูตรที่ ๓

อรรถกถาทานวัตถุสูตรที่ ๓

ทานวัตถุสูตรที่ ๓ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้. บทว่า ทานวตฺถูนิ ได้แก่ เหตุแห่งการให้ทาน บทว่า ฉนฺทา ทานํ เทติ ความว่า บุคคลไห้ทานเพราะความรัก บทว่า โทสา ความว่า เป็นผู้โกรธแล้วสิ่งใดมีอยู่ก็รีบหยิบเอาสิ่งนั้นให้ไปเพราะโทสะ บทว่า โมเหน ความว่า เป็นผู้หลงให้ไปเพราะโมหะ. บทว่า ภยา ความว่า เพราะกลัวครหา หรือ เพราะกลัวอบายภูมิก็หรือว่า เพราะกลัวครหาและอบายภูมินั้นนั่นแหละจึงให้ไป บทว่า กุลวํสํ ได้แก่เป็นประเพณีของตระกูล

จบ อรรถกถาทานวัตถุสูตรที่ ๓


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paew_int
วันที่ 12 ก.ค. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 12 ก.ค. 2553

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป

ปฐมทานสูตร

ว่าด้วยการให้ทาน ๘ ประการ

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงลักษณะประการต่างๆ ของการให้ทาน ๘ ประการดังนี้

๑. เมื่อประสบกับผู้รับ ก็ให้

๒. ให้เพราะกลัวคนอื่นจะนินทา หรือ กลัวอบายภูมิ

๓. ให้เพราะคิดว่า เขาเคยให้เรามาก่อน

๔. ให้ เพราะหวังว่าเขาจะให้ตอบ

๕. ให้ เพราะคิดว่า การให้ทานเป็นสิ่งที่ดี พระพุทธเจ้า เป็นต้นทรงสรรเสริญ

๖. ให้ แก่ผู้ไม่ได้หุงหากิน เพราะตนเองเป็นผู้หุงหากินได้

๗. ให้ เพราะต้องการชื่อเสียง

๘. ให้ เพื่อเกื้อกูลแก่การอบรมเจริญสมถะและวิปัสสนา.


ข้อความโดยสรุป

ทุติยทานสูตร

ว่าด้วยการให้ทานด้วยศรัทธา เป็นต้น

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงว่า ชนทั้งหลายจะไปสู่สวรรค์ได้ ด้วยธรรม ๓ ประการ คือ ให้ทานด้วยศรัทธา ให้ทานด้วยหิริ ให้ทานอันไม่มีโทษ


ข้อความโดยสรุป

ทานวัตถุสูตร

ว่าด้วยเหตุแห่งการให้ทาน

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงเหตุแห่งการให้ทาน ๘ ประการ ดังนี้ คือ

๑. ให้ เพราะรัก

๒. ให้ เพราะโกรธ

๓. ให้ เพราะหลง

๔. ให้ เพราะกลัว

๕. ให้ เพราะวงศ์ตระกูลเคยทำมา

๖. ให้ เพราะจักได้ไปสู่สวรรค์

๗. ให้ เพราะคิดว่า เมื่อให้ไปแล้วจะเกิดความเลื่อมใส เบิกบานใจ ดีใจ

๘. ให้ เพื่อเกื้อกูลแก่การอบรมเจริญสมถะและวิปัสสนา

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นได้ที่นี่ ครับ

ทาน ศีล ภาวนา

ต้องการข้อมูลประกอบการเทศน์ครับ

ทานเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต [ทานสูตร]

อภัยทาน

ธรรมทาน ย่อมชนะทานทั้งปวง

ฯลฯ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
opanayigo
วันที่ 13 ก.ค. 2553

ให้ทาน เพื่อละความตระหนี่ ที่เกาะติดอยู่ในจิตใจ

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ups
วันที่ 13 ก.ค. 2553

สาธุ

แม้การให้ก็ยากยิ่งที่จะเข้าใจ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
tanakase
วันที่ 13 ก.ค. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
kinder
วันที่ 13 ก.ค. 2553

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Jans
วันที่ 14 ก.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
orawan.c
วันที่ 14 ก.ค. 2553

ขออนุโมทนาอ.คำปั่นที่ค้นคว้ามาให้ศึกษา

เป็นประโยชน์อย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
manid
วันที่ 14 ก.ค. 2553

ก่อนการให้ทานควรตั้งจิตไว้อย่างไรจึงถูกต้อง

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
patcharin
วันที่ 16 ก.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
จิตและเจตสิก
วันที่ 20 มี.ค. 2558

สาธุ ขออนุโมทนา ฯ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
chatchai.k
วันที่ 22 มิ.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ