นัยของโจรสูตร

 
จักรกฤษณ์
วันที่  16 ก.ค. 2553
หมายเลข  16744
อ่าน  3,258

ผมขออนุญาตเรียนถามท่านวิทยากรเกี่ยวกับพระสูตรนี้ครับ

๔. โจรสูตร

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกอัฏฐก นวกนิบาต เล่ม ๔ หน้า ๖๗๖

[๑๙๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหาโจรประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ย่อมพลันเสื่อม ตั้งอยู่ไม่นาน องค์ ๘ ประการเป็นไฉน คือ

ประหารคนที่ไม่ประหารตอบ ๑

ถือเอาสิ่งของไม่เหลือ ๑

ลักพาสตรี ๑

ประทุษร้ายกุมารี ๑

ปล้นบรรพชิต ๑

ปล้นราชทรัพย์ ๑

ทำงานใกล้ถิ่นเกินไป ๑

ไม่ฉลาดในการเก็บ ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหาโจรประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้แล ย่อมพลันเสื่อม ตั้งอยู่ไม่นาน

[๑๙๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหาโจรประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ย่อมไม่เสื่อมเร็ว ตั้งอยู่ได้นาน องค์ ๘ ประการ เป็นไฉน คือ

ไม่ประหารคนที่ประหาร ๑

ไม่ถือเอาของจนไม่เหลือ ๑

ไม่ลักพาสตรี ๑ ไม่ประทุษร้ายกุมารี ๑

ไม่ปล้นบรรพชิต ๑

ไม่ปล้นราชทรัพย์ ๑

ไม่ทำงานใกล้ถิ่นเกินไป ๑

ฉลาดในการเก็บ ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหาโจรประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ นี้แล ไม่เสื่อมเร็ว ตั้งอยู่ได้นาน

จบ โจรสูตรที่ ๔

เมื่อพิจารณาเฉพาะพระสูตรนี้แล้ว อาจทำให้เข้าใจไปได้ว่า เป็นข้อแนะนำสำหรับผู้ที่จะเอาดี ไม่ได้ริจะเป็นโจร ก็ให้ประพฤติปฏิบัติ เพื่อไม่ให้เสื่อม ดังนี้ จึงขอเรียนถามว่า นัยสำคัญของพระสูตรนี้ ท่านทรงตรัสสั่งสอนอะไร จึงจะเข้าใจได้ถูกต้องครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 17 ก.ค. 2553

เข้าใจว่าพระธรรมที่ทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษานั้น เพื่อสอนให้ผู้ฟังเป็นคนดี มีคุณธรรม สูงสุด คือสอนให้ละกิเลสทั้งหมด เป็นพระอรหันต์ ถ้าเป็นคฤหัสถ์ ก็เป็นคฤหัสถ์ที่ดี เป็นบรรพชิต ก็เป็นบรรพชิตที่ดี บางคนที่เป็นโจรอยู่แล้ว ก็ไม่ทรงละเลย ที่จะแนะนำให้เป็นโจรที่เลวน้อยที่สุด แต่โดยพื้นฐานการเป็นโจร เป็นอาชีพที่ทุจริต ล่วงศีล ขัดต่อศีลธรรมอันดีงาม ขัดต่อกฏระเบียบทางสังคม ดังนั้น ผู้ฉลาดจึงไม่ควรประกอบอาชีพนี้ แต่สำหรับบางคน บางกาละ เขาไม่มีทางเลือกอื่น จึงทำลงไปครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 17 ก.ค. 2553

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เป็นความจริงทุกประการ ความจริงเป็นอย่างไร ก็ทรงแสดงตามความเป็นจริงอย่างนั้น เพื่อให้ผู้ศึกษา ได้เข้าใจธรรม ตามความเป็นจริง ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตน ข้อความในโจรสูตรนี้ ไม่ได้แสดงว่าให้ไปเป็นโจร ไม่ได้มีการสนับสนุน ให้เป็นโจร แต่โจรคือใคร เพราะอกุศลที่ได้สะสมมา มีกำลังมากขึ้น ได้กระทำทุจริตกรรมประการต่างๆ เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน จึงมีการสมมติว่าเป็นโจร เพราะแท้ที่จริงแล้วมีแต่ความเป็นไปของสภาพธรรมเท่านั้น ในเมื่อเต็มไปด้วยอกุศลอย่างนี้ ถ้ามีทางใด ที่จะเป็นเครื่องเตือน ให้มีอกุศลน้อยลงให้ลดความไม่ดีลง ก็ย่อมจะเป็นประโยชน์ เพราะถ้าเทียบกันระหว่าง อกุศลน้อยลงเลวน้อยลง กับ การมีอกุศลเพิ่มขึ้น เลวมากยิ่งขึ้นแล้ว การมีอกุศลน้อยลง เลวน้อยลง ย่อมจะดีกว่า (ตามความเป็นจริง อกุศล ไม่ดี ทั้งนั้น ไม่ว่าจะน้อย หรือมากก็ตาม) แต่จะให้ดีที่สุด ก็ต้อง ไม่มีอกุศล ไม่มีกิเลสอีกเลย ซึ่งจะต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ajarnkruo
วันที่ 18 ก.ค. 2553

ขอแสดงความเห็นส่วนตัวดังนี้ครับ

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทราบอัธยาศัย ของสัตว์โลกทั้งหมด ซึ่งแตกต่างกัน แต่ละคนที่เกิดมา มีการดำรงชีวิต มีการประกอบอาชีพที่หลากหลาย ตามการสะสมความถนัด ในทางนั้นๆ บางคนก็ทำอาชีพสุจริต ในขณะที่บางคนทำอาชีพทุจริต ตามกำลังของกุศล และ อกุศล ที่ได้สะสมมาเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์

ซึ่งจะไม่พ้นไปจากสภาพธรรม คือ จิต เจตสิก รูป ผู้ที่เกิดในภพภูมิมนุษย์ เป็นผู้ที่ยังมีการพัวพันติดข้องอยู่ในรูปต่างๆ อย่างมาก โลภะที่เป็นไปกับการประกอบอาชีพต่างๆ จึงไม่พ้นที่จะเนื่องด้วยรูป ถ้าไม่ใช่พระอนาคามีบุคคลแล้ว ในขณะที่โลภะเกิดติดข้องในรูป ทุกคนต่างก็ทำเพราะความต้องการในรูปแทบทั้งสิ้น ลาภ ยศ สรรเสริญสุข สิ่งเหล่านี้แทบไม่ได้พ้นไปจากการมีรูปเป็นที่ตั้งของความปรารถนา

คนธรรมดาทำอาชีพที่สุจริต แต่ด้วยโลภะ ก็ไม่พ้นไปจากโลภะที่หวังในรูป โจรก็เช่นเดียวกัน โจรก็มีโลภะเหมือนกัน แต่ว่าสำหรับโจร โลภะมีกำลังมากถึงกับทำให้เป็นผู้ที่หวังได้รูป ที่ต้องการในทางทุจริต นี่ก็แสดงถึง ระดับความต้องการที่มีมากถึงขั้นที่สามารถปล้น ลักขโมย ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ได้ แต่ไม่ควรลืมว่า

เป็นธรรมทั้งหมด ถ้าไม่แบ่งแยกโจร หรือ ไม่ใช่โจร โลภะก็มีลักษณะอย่างนั้น ไม่เปลี่ยนลักษณะเป็นอย่างอื่น แต่ต่างกันตรงที่ว่า โลภะที่สะสมมานั้น มีกำลังมากถึงขั้นกระทำทุจริตกรรมหรือไม่ หรือเพียงแต่ติดข้อง และกระทำเพื่อการเลี้ยงชีพ ซึ่งก็ไม่ได้เบียดเบียนใคร แต่ทั้งสอง ก็ไม่พ้นไปจากอกุศลประเภทเดียวกัน

ถ้าหากจะพิจารณาจากตัวอย่างของโจรในสมัยพุทธกาล ก็จะเห็นว่า แม้แต่ผู้ที่เป็นโจร แต่ละคนก็สะสม อกุศล และ กุศล มาไม่เหมือนกัน ฉะนั้น ระดับความไม่ดีและคุณธรรมภายในของแต่ละคนจึงต่างกัน ในบางพระชาติพระโพธิสัตว์ก็เป็นโจรบ้างเป็นนักเลงบ้าง เพราะเหตุว่า ยังไม่ได้ดับกิเลส ยังไม่ถึงความเป็นพระอริยเจ้า แต่คุณธรรมที่ทรงสะสมมา ก็ไม่ได้หายไปไหน ยังสืบต่อมาอยู่ในจิต จนถึงพระชาติสุดท้าย

ด้วยเหตุนี้ เมื่อทรงหยั่งรู้ในความเป็นไปของสัตว์โลก พระพุทธเจ้า จึงทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริงของธรรมนั้นๆ ไม่ใช่เพื่อยุยง ให้ใครกระทำชั่ว ไม่ใช่เพื่อส่งเสริมให้ใครไปประพฤติตนเป็นโจร แต่เพื่อเกื้อกูลให้โจร หรือ แม้แต่ใครก็ตามแต่ ที่เป็นผู้สะสมความเคยชิน ที่ได้กระทำอกุศลกรรมมามาก และไม่เคยที่จะมีความละอายใจ ที่จะบรรเทาความประพฤตินี้ลง ได้มีโอกาสพิจารณา และไตร่ตรองตนเอง โดยอาศัยการฟังพระสัทธรรม สิ่งนี้ จะเป็นปัจจัยเกื้อกูลให้ผู้นั้น บรรเทาความประพฤติในทางที่ไม่ดีลง ทีละน้อยๆ เพราะเหตุว่า การที่จะให้ผู้ที่ไม่ดีมากๆ เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ กลับตัวมาเป็นคนดี อย่างยิ่งในทันที เป็นสิ่งที่เป็นไปไมได้ แม้แต่ท่านพระองคุลีมาล ก็ต้องเป็นผู้ที่เคยสะสมบารมีมานานแสนนาน แต่เมื่อยังไม่ได้ฟังพระธรรม ยังไม่ได้ดับกิเลส ก็ย่อมมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้ประพฤติในทางไม่ดีตามกำลังของกิเลสที่มีได้อยู่ ไม่มีใครจะสามารถเปลี่ยนแปลง ความเป็นไปของสภาพธรรมที่เกิดตามเหตุปัจจัย และการสะสม ให้เปลี่ยนผิดไปจากปกติได้โดยทันที ฉะนั้น พระผู้มีพระภาค จึงทรงพระมหากรุณาคุณแสดงพระสัทธรรม เป็นหนทางเดียวที่จะเกื้อกูล ให้สัตว์โลกที่สะสมศรัทธามา ได้มีโอกาสฟังและพิจารณาพระธรรมที่ได้ฟัง เพื่อที่จะเป็นปัจจัยให้น้อมประพฤติปฏิบัติใทางที่เป็นกุศลยิ่งขึ้น ลด บรรเทา ละเว้นการประพฤติปฏิบัติในทางอกุศลลงอย่างค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป จนกว่าจะดับกิเลสขั้นต้นเป็นสมุจเฉท บรรลุเป็นพระโสดาบัน เมื่อนั้นผู้นั้นก็จะไม่กลับไปเป็นโจร ไม่กลับไปลักเล็กขโมยน้อย ไม่ผิดศีล ๕ อีกตลอดไป จะมีแต่การอบรมกุศล ให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น จนกว่าจะถึงความสิ้นกิเลส เป็นพระอรหันต์ รอวันปรินิพพาน คือไม่มีการเกิดอีกครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 18 ก.ค. 2553

ขอบพระคุณ อ.ประเชิญ และ อ. คำปัน และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
พุทธรักษา
วันที่ 18 ก.ค. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
tookta
วันที่ 18 ก.ค. 2553

เห็นด้วยกับความคิดเห็นที่ 1 เพราะฉะนั้นก็ควรจะต้องให้โอกาสผู้ที่เคยกระทำผิดมาก่อน แล้วสำนึกผิดที่คิดจะแก้ไขตัวเอง เราก็ควรจะเป็นกำลังใจกับผู้ที่สำนึกผิดด้วย

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 19 ก.ค. 2553

ขอบพระคุณและขออนุโมทนา Ajarnkruo ด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
hadezz
วันที่ 21 ก.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ประสาน
วันที่ 11 เม.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 8 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ