การขัดขวางวัฐจักรของสัตว์ ถือว่าเป็นกุศล หรือ อกุศลครับ
การขัดขวางวัฐจักรของสัตว์ ถือว่าเป็นกุศล หรือ อกุศลครับ คือสมมติว่าผมเห็นงู กำลังไล่กินหนู แต่ผมไปไล่งู หรือผมไปตีงู เพราะผมสงสารหนู แต่งูอดอาหาร อีกอย่างการปล่อยสัตว์ ให้เป็นกุศล ต้องเป็นไปตามธรรมชาติหรือป่าวครับ เพราะตอนนี็เห็นเขาไถ่ชีวิตสัตว์กันทั่วประเทศ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
คำที่ว่า วัฏจักร หรือเป็นไปตามธรรมชาติ นั่นเป็นสิ่งที่ ชาวโลกสมมติกันขึ้นมา เพราะชาวโลกเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ เป็นปกติ ก็สำคัญว่านั่นคือวัฏจักร เป็นธรรมชาติ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เช่น การที่สัตว์ใหญ่กินสัตว์เล็ก เพราะชาวโลกเห็นบ่อย เห็นปกติ แต่สิ่งที่เห็นบ่อยเป็นปกติ สำคัญว่าเป็นวัฏจักร เป็นธรรมชาติ ไม่ได้หมายความจะต้องถูกต้องที่เป็นกุศลธรรม
ดังนั้น คำว่าถูกต้องจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับบุคคลหนึ่ง สังคมใดตั้งขึ้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งนั้นเกิดบ่อยๆ เป็นปกติ แต่สิ่งที่ถูกต้อง ต้องไม่เปลี่ยนไปตามสิ่งแวดล้อม ผู้คนหรือเรื่องราวต่างๆ เพราะความถูกต้องคือกุศล คือความดี ไม่ว่าจะเกิดกับใคร กุศลก็ต้องเป็นกุศลคือความถูกต้อง เช่นเดียวกับความไม่ถูกต้อง ก็ต้องเป็นอกุศล เป็นความไม่ดี ไม่ว่าเกิดกับใครบุคคลใดครับ ไล่งูด้วยจิตอะไร กุศลต้องเป็นกุศล อกุศลก็ต้องเป็นอกุศล ถ้าเพื่อช่วยเหลือสัตว์ ช่วยเหลือหนู เป็นประโยชน์ไหม ให้ชีวิตกับหนู ช่วยงูไหม เหมือนจะไม่ช่วย แต่ช่วยไม่ให้งูทำบาป ช่วยไม่ให้งูต้องได้รับผลของกรรมที่ทำคือฆ่าหนูด้วย ถูกต้องไม่ถูกต้อง จึงสำคัญที่จิตและเจตนาครับ โดยนัยเดียวกับการปล่อยสัตว์ ที่สัตว์ถูกปล่อยเพราะอะไร เพราะสัตว์มีกรรมของเขาเอง ที่จะต้องถูกปล่อย กรรมดีให้ผลก็ถูกปล่อย เป็นธรรมชาติไหม เป็นธรรมชาติแน่นอน ธรรมชาติของกรรม ที่จะต้องเป็นอย่างนั้น เมื่อกรรมดีให้ผล
ดังนั้น การศึกษาธรรมจะต้องมองที่ตัวสภาพธรรม เช่นเรื่องกรรม หากมองเป็นเรื่องราว ก็จะสับสน เพราะเราสมมติคำว่าธรรมชาติเอง ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าสัตว์ออกไปเอง เป็นธรรมชาติ ถ้ามีคนช่วย ไม่เป็นธรรมชาติ ดังนั้น ธรรมชาติจริงๆ แล้ว ก็คือเรื่องของสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิก รูป กรรม ก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งเช่นกันครับ
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
สภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก ท่านผู้กระทำกิจนั้นๆ เท่านั้นจึงจะรู้ชัดที่สุด ผู้อื่นไปตัดสินอะไรแทนไม่ได้เลย เช่นว่า... ขณะนั้นอาจจะห่วงหนู เกลียดงู , สงสารหนู แต่ไม่สงสารงู ห่วงงูว่าจะทำบาป ห่วงหนูว่าจะต้องตาย เกลียดทั้งหนูและงู จึงไล่ไปทั้งคู่อย่ามาฆ่าแกงกันแถวนี้ ฯลฯ
ส่วนการตัดสินว่า หนูต้องตายเพราะเป็นกรรมของหนู เป็นการคิดเอง เออเอง เพราะว่า อาจเป็นเช่นนั้นหรือไม่เป็นเช่นนั้นก็ได้ เพราะกรรมวิจิตรมาก จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อผลกรรมนั้น ส่งผลหรือสำเร็จลงแล้วแล้ว เช่นว่า...ถ้ามีใครไปช่วยหนูก็เพราะกุศลกรรมของหนู ถ้าหนูตาย ก็เพราะเป็นอกุศลกรรมของหนู ถ้าจะคิดก็ควรคิดแค่นี้พอ ส่วนเราเอง ถ้าว่ากันตามที่สุดแล้ว ก็ควรวางเฉย ต่อทุกสภาพธรรม ...คือ ปล่อยให้ทุกอย่าง ให้เป็นไปตามธรรมทั้งหมดเลย ...ถ้าผู้ใดมีการกระทำขัดขวาง ย่อมเป็นกรรมของเราซึ่งก่อให้เกิดภพ คือต้องมีรับผลของกรรมนั้นๆ แน่นอน อาจจะดีหรือเลว ขึ้นอยู่กับว่าเป็นกุศลหรืออกุศลการทำอกุศลต้องมีการรับผลของกรรม การทำกุศลก็ต้องมีการรับผลของกรรม เช่นกัน แต่เป็นไปได้ยาก ที่จะวางเฉยจนไม่ทำกรรมอะไรเลย ถ้ายังไม่บรรลุคุณธรรม เป็นอริยบุคคล เป็นธรรมดาของผู้ที่ยังมีตัณหาอยู่ ยังไม่สามารถระงับการปรุงแต่งของจิตได้ ยังวางเฉยต่อสภาพธรรมใดๆ เหล่านั้นไม่ได้ เมื่อมีเห็นย่อมมีปรุงแต่งแน่ๆ ..ดังนั้น เมื่อหยุดปรุงแต่งไม่ได้ เมื่อเห็นแล้วจึงควรพยายาม โยนิโสมนสิการไปในแนวที่จะไป ทำแต่กุศลกรรมให้มากกว่าอกุศลกรรม
ขออนุโมทนาครับ
การขัดขวางจะเป็นกุศล หรือ อกุศล ขึ้นอยู่กับเจตนาในขณะนั้นเป็นสำคัญครับ แล้วก็ต้องเป็นผู้ที่ตรง คือ ขณะนั้นเมื่อสติสัมปชัญญะเกิด มีการระลึกรู้เป็นไปในสภาพจิตที่ปรากฏ หรือ ระลึกในสภาพนามธรรมที่เกิดกับจิตในขณะนั้น จึงจะเป็นผู้ที่ฉลาดในธรรมจริงๆ คือ จิตเป็นกุศลก็รู้ว่าจิตเป็นกุศล จิตเป็นอกุศลก็รู้ว่าจิตเป็นอกุศล ธรรมที่สติฯระลึกนั้นเป็นฝ่ายกุศลก็รู้ถูกว่าเป็นฝ่ายกุศล ธรรมที่สติฯระลึกนั้นเป็นฝ่ายอกุศลก็รู้ถูกว่าเป็นฝ่ายอกุศล การกระทำเดียวกัน ภายนอกเสมือนมีเจตนาไม่ต่าง ชาวโลกนักคิดก็คิดกันไปอย่างนั้นอย่างนี้ แ่ต่สิ่งที่เป็นต้นเหตุที่มาจากภายใน ใครจะรู้ ถ้าไม่ใช่ปัญญาไม่มีใครจะทราบอย่างแน่ชัดได้เลย ให้คนอื่นบอกสภาพจิตของเราก็ไม่ได้ ปัญญาเท่านั้น ที่จะรู้ แต่ก็ไม่ใช่จะรู้ได้โดยง่าย ต้องอบรมเจริญ ด้วยการศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ จริงๆ ครับ หนทางเดียว ถ้าไม่ใช่ปัญญา ก็ไม่ใช่การรู้จริง