ภิกขุปาฏิโมกข์ หรือ สิกขาบทของพระสงฆ์ มี ๑๕๐ หรือ ๒๒๗ ข้อ

 
pro
วันที่  25 ก.ค. 2553
หมายเลข  16809
อ่าน  44,680

เราทราบกันตั้งแต่เริ่มเรียนวิชาพุทธศาสนาว่า สิกขาบทของพระนั้น มี ๒๒๗ ข้อ แต่ในพระไตรปิฎก สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต แสดงใน สมณวรรคที่ ๕ เสขสูตรที่ ๒ แสดงโดยย่อ ดังนี้

[๕๒๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิกขาบท ๑๕๐ ถ้วนนี้ มาสู่อุเทศทุกกึ่งเดือน ซึ่งกุลบุตรทั้งหลายผู้ปรารถนาประโยชน์ศึกษากันอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลายสิกขา ๓ นี้ ที่สิกขาบท ๑๕๐ นั้นรวมอยู่ด้วยทั้งหมด สิกขา ๓

[๕๒๖] ๘๗ สาธิกมิทํ ภิกฺขเว ทิยฑฺฒสิกฺขาปทสตํ อนฺวฑฺฒมาสํ อุทฺเทสํ อาคจฺฉติ ยตฺถ อตฺถกามา กุลปุตฺตา สิกฺขนฺติ ฯ ติสฺโส อิมา ภิกฺขเว สิกฺขา ยตฺเถตํ สพฺพํ สโมธานํ คจฺฉติ กตมา ติสฺโส

[๕๒๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิกขาบท ๑๕๐ ถ้วนนี้ ย่อมมาสู่อุเทศทุกกึ่งเดือน ซึ่งกุลบุตรทั้งหลายผู้ปรารถนาประโยชน์ศึกษากันอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิกขา ๓ นี้ ที่สิกขาบท ๑๕๐ นั้นรวมอยู่ด้วยทั้งหมด สิกขา ๓

[๕๒๗] ๘๘ สาธิกมิทํ ภิกฺขเว ทิยฑฺฒสิกฺขาปทสตํ อนฺวฑฺฒมาสํ อุทฺเทสํ อาคจฺฉติ ยตฺถ อตฺถกามา กุลปุตฺตา สิกฺขนฺติ ฯ ติสฺโส อิมา ภิกฺขเว สิกฺขา ยตฺเถตํ สพฺพํ สโมธานํ คจฺฉติ กตมา ติสฺโส นำมาแสดงทั้งบาลีแปล และบาลีอักษรไทย

จากข้อความในพระไตรปิฏกแปลไทยนั้นแสดงว่ามี ๑๕๐ ถ้วน ตรวจสอบหลายฉบับที่พิมพ์ก็แปลตรงกันเช่นฉบับบาลีสยามรัฐ ฉบับ มจร. ฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ.๒๕๔๙ มหาเถรสมาคมแล้วทำไมจึงมีบัญญัติว่ามี ๒๒๗ หรือว่าการแปลพระไตรปิฎกแปลไทยนี้แปลผิด?

สาธิกมิทํ แปลว่าอะไรแน่ ๑๕๐ ถ้วน หรือ เกินกว่า ๑๕๐ ท่านพระอาจารย์คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล เจ้าอาวาสวัดนาป่าพง ได้นำมาเผยแพร่ต่อว่า สิกขาบท มี ๑๕๐ มิใช่ ๒๒๗ เรื่องนี้อาจเป็นประเด็นคำถามสำหรับชาวพุทธในโอกาสต่อไป

หมายเหตุ ศัพท์บาลี สาธิก มาจาก คำว่า สห + อธิก

สห แปลว่า มาก จำนวนรวมกันมาก

อธิก แปลว่า ส่วนเกิน หรือ เกินกว่า


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 26 ก.ค. 2553

ความจริงไม่ใช่แปลผิดครับ ถ้าศึกษาในพระวินัยปิฎกและอรรถกถาโดยละเอียดจะเข้าใจตัวเลข ที่ต่างกันกับพระสูตร ครับ ในพระวินัยปริวารแสดงละเอียดขอเชิญ

คลิกที่...

ประเภทสิกขาบทของภิกษุ [ปริวาร]

สิกขาบท [มหาวิภังค์]

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
pro
วันที่ 27 ก.ค. 2553

ขอบพระคุณครับ คุณ prachern.s และ คุณ paderm ที่ได้กรุณาให้ความกระจ่าง แต่ก็ยังคงสงสัยอยู่ดีครับว่า ทำไม ในพระสูตร และในพระวินัยปิฎก จึงแตกต่างกันควรจะถือข้อมูลไหนดี หรือเป็นไปได้หรือไม่ว่า ในพระสูตร ขณะที่บัญญัติสิขาบทนั้นมีเพียง ๑๕๐ ซึ่งถือเป็นพุทธวจน แต่ต่อมาภายหลัง จึงบัญญัติเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็น ๒๒๗ ซึ่งประกฏในพระวินัยปิฎก อันนี้ถือ ว่าเป็นพุทธวจน หรือไม่

ขอความรู้เพิ่มเติมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
prachern.s
วันที่ 27 ก.ค. 2553

ขอเรียนว่า สิกขาบททั้งหมด พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติด้วยพระองค์เอง ซึ่งถ้าจะนับพระบัญญัติทั้งหมด ทั้งมาในปาฏิโมกข์และนอกปาฏิโมกข์ จำนวนเป็นหลายโกฏิข้อ ดังนั้น เสขิยะสิกขาบท และอธิกรณสมถะ พระอรหันต์เถระท่านรวมไว้ในพระปาฏิโมกข์ เพราะเป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
pro
วันที่ 29 ก.ค. 2553

พอเข้าใจครับว่า สิกขาบทที่ พระพุทธเจ้าบัญญัตมีมากมาย แต่พระพุทธเจ้า มิได้บอกให้นำมาแสดงทั้งหมดในปาฏิโมกข์ จึงเป็นประเด็นว่า ตามพระสูตร ที่ยกตัวอย่างในกระทู้ ให้แสดง ๑๕๐ แต่ในพระวินัยอรรถกถาบอกว่า ๒๒๗

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
prachern.s
วันที่ 30 ก.ค. 2553

เรียน ความเห็นที่ 4

ผมคิดว่า เรื่องตัวเลขที่ต่างกัน คงไม่สำคัญเท่ากับ ประโยชน์ที่ได้รับจากการประพฤติปฏิบัติตาม เพราะพระธรรมวินัยทั้งหมด เป็นไปเพื่อการตรัสรู้ทั้งสิ้นและอรรถกถาก็เป็นส่วนหนึ่งของปกิณณกเทศนาของพระพุทธเจ้า และส่วนหนึ่งก็เป็นพระอรหันต์เถระในสมัยครั้งพุทธกาล ซึ่งท่านทราบพุทธประสงค์อย่างแท้จริง ดังนั้น ตัวเลขของสิกขาบท ที่มาในพระปาฏิโมกข์ต่างกัน แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูลแก่ชนรุ่นหลัง ก็นับว่าเป็นพระคุณของพระอรหันต์เถระที่ท่านเห็นควรเช่นนั้นครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pro
วันที่ 14 ส.ค. 2553

ขอบคุณคุณ prachern.s น่ะครับ

ที่โพสท์คำถามนี้ขึ้นมา ก็เพื่อให้ผู้ที่สนใจเรื่องนี้ เข้ามาแสดงความเห็น และเพิ่มความรู้บาลี จากคำถามที่โพสท์ คือ อยากทราบความหมายของคำว่า สาธิกมิทํ ว่าที่ถูกต้องควรแปลว่าอะไรแน่ และผมเองก็ได้ลองหาคำบรรยายจากที่อื่นๆ มาลงเพิ่มเติม ลองอ่านดูน่ะครับ

ข้อมูลการสวดปาฏิโมกข์ ที่ประธานสงฆ์หรือ อธิการสายวัดหนองป่าพง ควรพิจารณา

ข้อมูลการสวดปาฏิโมกข์

อธิกรณ์เรื่องปาฏิโมกข์

การที่คณะสงฆ์ วัดนาป่าพง (สาขาที่ ๑๔๙ ของวัดหนองป่าพง) ซึ่งมีพระอธิการคึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล เป็นประธานสงฆ์ เกิดความเห็นว่า “การที่พระสงฆ์ฝ่ายเถรวาทในประเทศไทยและต่างประเทศทั้งหลาย สวดปาฏิโมกข์ ๒๒๗ ข้อนั้น ยังไม่ถูกต่อพุทธะวัจนะ”

พระสงฆ์กลุ่มนี้ มีความเชื่อมั่นในความเห็นของพวกท่าน จนได้มีการนำคณะสงฆ์สวดปาฏิโมกข์แค่ ๑๕๐ ข้อ ซึ่งนับเป็นเวลาประมาณ ๘ ปีมาแล้ว และได้ประกาศเผยแพร่ความเห็นนี้ ในวงศ์คณะสงฆ์และญาติโยม รวมทั้งทางสื่อต่างๆ ทั้งหลาย พระสงฆ์กลุ่มนี้สวด ปาฏิโมกข์เพียงแค่ ๑๕๐ ข้อ ได้มีการตัดสิกขาบท ข้อใดออกไปบ้างจาก ๒๒๗ ข้อ

ท่านได้ให้คำตอบดังนี้ว่า ได้ตัดส่วนของอนิยต ๒ สิกขาบท และเสยขิยวัตร ๗๕ สิกขาบท ออกไป เพื่อลดเลขให้เหลือแค่ ๑๕๐ ตามที่ท่านตีความตามพุทธวัจนะ ฉบับสยามรัฐที่ท่านอ้างอิง ความเห็นส่วนตัวของพระสงฆ์กลุ่มนี้ ต่อการสวดปาฏิโมกข์แค่ ๑๕๐ ข้อ เมื่อได้มีการซักถามถึงความเห็นว่า ด้วยเหตุใดจึงตัดสินใจ ในการสวดปาฏิโมกข์จำนวน ๑๕๐ ข้อ เท่านั้น

ท่านจึงได้ให้ความเห็นว่า เมื่อเราต้องยึดหลักพุทธวัจนหรือ เหนือสิ่งใดทั้งปวง ซึ่งท่านได้ใช้ พระไตรปิฎกแปลเป็นภาษาไทย ฉบับสยามรัฐอย่างเดียวในการตัดสิน เพราะเป็นที่ยอมรับของมหาเถรสมาคม ซึ่งในพระสูตรอังคุตตรนิกาย ของสยามรัฐ ส่วนที่ ๓ วรรคที่ ๘ ปฐมสิกขาสูตร ว่าด้วยไตรสิกขา สูตรที่ ๑ และ ทุกติยสิกขาสูตร ว่าด้วยไตรสิกขาสูตร ๒ รวมทั้ง ตติยสิกขาสูตร ว่าด้วยการบำเพ็ญไตรสิขา สูตรที่ ๓ โดยกล่าวไว้ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย สิกขาบท ๑๕๐ ถ้วน ที่กุลบุตรผู้ปรารถนาประโยชน์ศึกษาอยู่ มาถึงวาระที่จะยกขึ้นแสดงเป็นข้อๆ ตามลำดับทุกกึ่งเดือน สิกขา ๓ ประการนี้ เป็นที่รวมของสิกขาบท ๑๕๐ นั้นทั้งหมด สิกขา ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. อธิสีลสิกขา

๒. อธิจิตตสิกขา

๓. อธิปัญญาสิกขา

สิกขา ๓ ประการนี้แล เป็นที่รวมของ สิกขาบท ๑๕๐ นั้นทั้งหมด..

”ข้อเสนอแนะของสงฆ์ที่สวดปาฏิโมกข์ ๒๒๗ ข้อ การสวดปาฏิโมกข์ ๒๒๗ ข้อนั้น เป็นพุทธวัจนะทุกข้อ ทั้งนั้น และมีต้นบัญญัติในมหาวรรคทุกข้อ และเป็นสังฆกรรมของคณะสงฆ์ฝ่ายเถรวาทที่สืบทอดกันมาช้านานแล้ว และการสวดปาฏิโมกข์ ๒๒๗ ข้อนั้น เป็นสังฆกรรมที่คณะสงฆ์ฝ่ายเถรวาททั่วโลก มีความเห็นโดยพร้อมเพรียงกัน ด้วยความสามัคคี รวมทั้งถูกการตรวจสอบ มติสงฆ์การสังคยานาโดยความชอบแล้ว หลายครั้งหลายครา และเป็นปฏิปทาของครูบาอาจารย์ผู้เคารพรักธรรมวินัยมาตั้งแต่โบราณการแล้ว และเป็นอริยประเพณี จากสมัยพระพุทธกาลจนถึงปัจจุบัน สายหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น และ หลวงพ่อชา ในความจริงแล้ว ถ้าจะยืนยันการปริยัติ จะต้องมีการพิจารณาศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วน พร้อมทั้งมีการปรึกษากับนักปราชญ์ ผู้ที่มีความรู้และเชี่ยวชาญทั้งหลายอย่างกว้างขวาง ในพระบาลีไตรปิฏก ก่อนจะดำเนินการไปตามความคิดเห็นของท่านเอง ทั้งนี้ควรจะได้มีการเปรียบเทียบคำแปลกับพระไตรปิฎก ๑ ฉบับอื่นๆ ที่พิมพ์ในประเทศไทยและต่างประเทศ ที่ถือหลักพระไตรปิฎกภาษาบาลี ด้วยเพราะว่าการสวดปาฎิโมกข์ ๒๒๗ ข้อนั้น เป็นพุทธวัจนะทุกข้อ และเป็นที่ได้รับการสังคยนา ยอมรับเป็นหลักสากลทั่วโลกของฝ่ายเถรวาท อาทิ ประเทศศรีลังกาและ พม่า เป็นต้น ที่ได้ถือปฏิบัติกันมานานแล้ว

ประเด็นที่ ๑ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงแสดงปาฏิโมกข์ ๕ ประการ ในพระวินัยปาฏิโมกข์ มหาวรรค ภาคที่ ๑ ได้แสดงดังนี้ (๑๖๗) ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลาย ได้มีความปริวิตกว่า ปาติโมกขุทเทสมี เท่าไรหนอ แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปาติโมกขุทเทสนี้ มี ๕ คือ ภิกษุสวดนิทานจบแล้ว พึงสวดอุทเทสที่เหลือด้วยสุตบท นี้เป็นปาติโมกขุทเทสที่ ๑. สวดนิทาน สวดปาราชิก ๔ จบแล้ว พึงสวดอุทเทสที่เหลือ ด้วยสุตบทนี้เป็นปาติโมกขุทเทสที่ ๒. สวดนิทาน สวดปาราชิก ๔ สวดสังฆาทิเสส ๑๓ จบแล้ว พึงสวดอุทเทสที่เหลือด้วยสุตบท นี้เป็นปาติโมกขุทเทสที่ ๓. สวดนิทาน สวดปาราชิก ๔ สวดสังฆาทิเสส ๑๓ สวดอนิยต ๒ จบ แล้ว พึงสวดอุทเทสที่เหลือ ด้วยสุตบท นี้เป็นปาติโมกขุทเทสที่ ๔ สวดโดยพิสดารหมด เป็นปาติโมกขุทเทสที่ ๕ ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ปาติโมกขุทเทส ๕ นี้แล.

สรุป เราจะเห็นได้ชัดว่า การสวดอนิยต จะต้องสวดในปาฏิโมกข์ เพื่อให้ปาฏิโมกข์นั้นสมบูรณ์ ด้วยพระพุทธวัจนะ ถ้าผู้ใด ได้ตัดอนิยตออกจากปาฏิโมกข์ เท่ากับได้ทำลายสังฆกรรมของสงฆ์ ที่เป็นพุทธวัจนะ ทำลายพระวินัย ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสไว้ดีแล้ว ซึ่ง อนิยต เป็นตัวโจทย์โทษและกล่าวหาปาราชิก สังฆาทิเสส ที่เป็นอาบัติหนัก และปาจิตตีย์ ที่เป็นอาบัติสำคัญ

๑. ปัญหาการแปลภาษาบาลี เป็นภาษาไทย (เพิ่มเติมท้ายบท) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) ฅนไทย ใช่กบเฒ่า? (กรุงเทพฯ:บริษัท คิวพริ้นเมเนเจอร์ จำกัด ๒๕๕๒) ๑๒๕ ถ้าหากเราตัด อนิยต ออกจากการสวดปาฏิโมกข์ เท่ากับว่า เราตัดทางปรับอาบัติที่สำคัญออกจากปาฏิโมกข์ พระพุทธวัจนะกล่าวอีกว่า การสวดย่อเป็นอาบัติทุกกฏ นอกจากจะมีเหตุอันตราย ๑๐ ประการ ๒ จึงจะสวดย่อได้ อีกประเด็นหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงให้สวดโดยพิสดารหมดเป็นปาฏิโมกขุทเทสที่ ๕ ซึ่งเมื่อเราสวดถึง เสขิยวัตร และ อธิกรณสมถะ ๗ ข้อ จบ จึงจะเป็นการสวดพระปาฏิโมกข์ที่สมบูรณ์ ดีงามและไม่ขัด กับที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้แล้ว

ประเด็นที่ ๒ ในพระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐนั้นยังมีข้อความบางส่วนอันสำคัญแปลความหมายผิดแผกไปจากฉบับอื่น ในพระสูตร ๓ พระสูตรนี้ที่ท่านยกขึ้นมาเป็นเหตุในการสวดเพียง ๑๕๐ ข้อเท่านั้น โดยเมื่อเปรียบเทียบพระไตรปิฎกทั้งฉบับอื่นๆ ในอักษรไทย อังกฤษ พม่า ศรีลังกา และจีน (บาลีฝ่ายเถรวาท) แล้ว ได้พบความหมายแตกต่างกันไปโดยชัดเจนจากฉบับสยามรัฐ ซึ่งทั้งห้าฉบับจะแปลความหมายดังนี้

“ภิกษุทั้งหลาย สิกขาบท เกินกว่า ๑๕๐ ที่กุลบุตรผู้ปรารถนาประโยชน์ศึกษาอยู่ มาถึงวาระที่จะยกขึ้นแสดงเป็นข้อๆ ตามลำดับทุกกึ่งเดือน สิกขา ๓ ประการนี้ เป็นที่รวมของสิกขาบท เกินกว่า ๑๕๐ นั้นทั้งหมด สิกขา ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. อธิสีลสิกขา ๒. อธิจิตตสิกขา ๓. อธิปัญญาสิกขา สิกขา ๓ ประการนี้แล เป็นที่รวมของสิกขาบท เกินกว่า ๑๕๐ นั้นทั้งหมด...”

โดยในบาลีใช้คำว่า “สาธิกะหรือสาธิกัง” ซึ่งแปลว่า เกินกว่า ยิ่งกว่า หรือมากกว่า และ คำว่า “สาธิกะ ปัญญาสุตตะระสะตัง” ซึ่งแปลว่า มากกว่า หรือเกินกว่า ๑๕๐พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ ที่คณะสงฆ์เหล่านั้น ได้ใช้เป็นหลักฐานในการอ้างอิง มีข้อความ บางส่วนที่สำคัญ ให้ความหมายสำคัญแตกต่างไป เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกฉบับอื่นๆ ที่เป็นหลักสากลจำนวนมาก ซึ่งตามหลักฐานส่วนมากแล้ว ต้องถือว่าคำว่า “เกินกว่าหรือมากกว่า ๑๕๐” นั้น เป็น ความหมายที่ถูกต้อง ตามหลักของการแปลพระสูตรภาษาบาลี และเป็นที่ยอมรับของสากลทั่วไป ถ้าเปรียบเทียบคำแปลของ “สาธิกะหรือสาธิกัง” ในพระสูตรอื่นๆ ที่เป็นพุทธวัจนะ เช่น มหาปรินิพพานสูตร และชนวสภสูตร ซึ่งได้แปลความหมายดังต่อไปนี้: ๒. มหามกุฏราชวิทยาลัย พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาคที่ ๑ และ อรรถกถาพิมพ์ครั้งที่ ๔ (นครปฐม : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๓) , ๔๓๕ อันตราย ๑๐ ประการ คือ ๑. พระราชาเสด็จมา ๒. โจรมาปล้น ๓. ไฟไหม้ ๔. น้ำหลากมา ๕. คนมามาก ๖. ผีเข้าภิกษุ ๗. สัตว์ร้ายเข้ามา ๘. งูร้ายเลื้อยเข้ามา ๙. ภิกษุอาพาธหนักจะถึงเสียชีวิต ๑๐ มีอันตรายแก่พรหมจรรย์. ๑. (จาก พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่มที่ ๒ ภาคที่ ๑ เล่มที่ ๑๓ ของ มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ. ๒๕๒๕ ใน มหาปรินิพพานสูตร ว่าด้วย แว่นธรรม หน้า ๒๖๓)

“พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงมีพระดำรัสว่า ดูก่อนอานนท์ ภิกษุสาฬหะ ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ หาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญารู้ยิ่งด้วยตนแล้ว เข้าถึงอยู่ ในทิฏฐธรรมแล้วแล ดูก่อนอานนท์ ภิกษุณีชื่อนันทา เพราะสังโยชน์ อันเป็นส่วนเบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป เป็นผู้ผุดเกิดขึ้น ปรินิพพาน ในชั้นสุทธาวาสนั้น เป็นผู้ไม่กลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดา...ดูก่อนอานนท์ อุบาสกทั้งหลาย ในหมู่บ้านนาทิกะ กว่า ๕๐ คน ทำกาละแล้ว เพราะ (เขา) สิ้นสังโยชน์ส่วนเบื้องต่ำ ๕ อย่าง เป็นผู้ผุดเกิดขึ้น ปรินิพพานในชั้นสุทธาวาสนั้น เป็นผู้ไม่กลับมาจากโลกนั้น เป็นธรรมดา.....”

๒. (จาก พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่มที่ ๒ ภาคที่ ๑ เล่มที่ ๑๓ ของ มหามกุฏราชวิทยาลัย ในนพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ. ๒๕๒๕ ใน ชนวสภสูตร ว่าด้วย คติพยากรณ์ เรื่องผู้บำรุงชาวบ้านนาทิกะ หน้า ๕๒๙)

“ข้าพเจ้า ได้สดับมาดังนี้.......โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพยากรณ์ ถึงชนผู้บำรุงซึ่งทำกาละล่วงไปนานแล้ว ในการอุบัติในชนบทใกล้เคียง คือกาสี โกศล วัชชี มัลละ เจติ วังสะ กุรุ ปัญจาละ มัจฉะ สุรเสน ว่า คนโน้นเกิด ณ ที่โน้น คนโน้นเกิด ณ ที่โน้น ชนผู้บำรุงชาวบ้านนาทิกะ กว่า ๕๐ คน ทำกาละล่วงไปนานแล้ว เป็นโอปปาติกะ เพราะสิ้นไป ซึ่งสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ อย่าง ปรินิพพาน ณ ที่นั่น ไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา ชนผู้บำรุงชาวบ้านนาทิกะ กว่า ๙๐ คน ทำกาละล่วงไปนานแล้ว เป็นสกทาคามี เพราะสิ้นสัญโญชน์ ๓ อย่าง เพราะราคะ โทสะ และโมหะ บางเบา จักมาสู่โลกนี้อีกครั้งเดียว แล้วจักทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์ได้ ชนผู้บำรุงชาวบ้านนาทิกะ กว่า ๕๐๐ คน ทำกาละล่วงไปนานแล้ว เป็นโสดาบัน เพราะสิ้นสัญโญชน์ ๓ อย่าง มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงมีสัมโพธิญาณเป็นเบื้องหน้า"

๓. (จาก พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่มที่ ๑ ภาคที่ ๒ เล่มที่ ๑๘ ของ มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ. ๒๕๒๕ ใน มหาสีหนาทสูตร ว่าด้วย อุปมาข้อที่ ๑ หน้า ๔๘)

“ดูก่อนสารีบุตร เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่าบุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น เบื้องหน้าแต่กายเพราะ กายแตก จักเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาตนรก โดยในสมัยต่อมา เราย่อมเห็นบุคคลนั้น เบื้องหน้าแต่กายเพราะกายแตก เข้าถึงแล้วซึ่งอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้า เผ็ดร้อนโดยส่วนเดียว ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์.

ดูก่อนสารีบุตร เปรียบเสมือนหลุมถ่านเพลิงลึก ยิ่งกว่าชั่วบุรุษ เต็มไปด้วยถ่านเพลิงปราศจากเปลว ปราศจากควัน ลำดับนั้น บุรุษผู้มีตัวอันความร้อนแผดเผา ครอบงำ เหน็ดเหนื่อย สะทกสะท้าน.....”

๔. (จาก พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่มที่ ๒ ภาคที่ ๑ เล่มที่ ๒๐ ของ มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ. ๒๕๒๕ ใน คหปติวรรค โปตลิยสูตร ว่าด้วย โปตลิยคฤหบดี หน้า ๘๓)

“ดูก่อนคฤหบดี เปรียบเสมือนหลุมถ่านเพลิง ลึกกว่าชั่วบุรุษหนึ่ง เต็มด้วยถ่านเพลิง อันปราศจากเปลวปราศจากควัน บุรุษผู้รักชีวิต ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ พึงมา บุรุษมีกำลังสองคน ช่วยกันจับแขนบุรุษนั้น ข้างละคน ฉุดเข้าไปยังหลุมถ่านเพลิง....”

จะเห็นได้ชัดว่าในพุทธวัจนะ พระพุทธเจ้าได้ใช้คำว่า “สาธิกา” ในลักษณะที่หมายความว่า“มากกว่า ยิ่งกว่า หรือเกินกว่า” ดังนั้นการกำหนดความหมายข้อความดังกล่าว ควรจะเป็นว่า “มากกว่า ๑๕๐” ผู้ใดสวดปาฏิโมกข์ แค่ ๑๕๐ ข้อนั้น ได้ทำลายธรรมวินัย ข้อควรพิจารณาอื่น ๑. เมื่อเราเป็นลูกศิษย์ ของพระเดชพระคุณ พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทฺโท) และเป็นสาขาวัดหนองป่าพง ท่านพาเราสวด ๒๒๗ ข้อ เพราะท่านพิจารณาดีงามแล้วตามธรรมวินัย และลูกศิษย์ของท่าน ที่เคารพครูบาอาจารย์ก็ควรปฏิบัติตาม ไม่ควรเปลี่ยนแปลงตามความเห็นของตน โดยไม่ปรึกษา คณะสงฆ์วัดหนองป่าพง ๒. การตีความว่า ๑๕๐ ถ้วนนั้น จะขัดต่อพระไตรปิฎก ฉบับอื่นๆ ที่มีทั้งหมด ทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาต่างชาติ ๓. การดำเนินการดังกล่าว ได้ขาดการปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ ในภาษาบาลี และครูบาอาจารย์ที่เคารพทั้งหลาย ประกอบกับการขาดการพิจารณาอย่างรอบคอบ ก่อนการตัดสินใจ ๔. จากการอ้างถึง พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ซึ่งแสดงอาบัติไว้ มี ๑๕๐ ข้อนั้น ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า ในห้วงนั้น พระพุทธองค์ แสดงไว้ในช่วงใดของชีวิต ซึ่งโดยปกตินั้น พระพุทธองค์ จะตรัสเพิ่มเติมอาบัติอยู่อย่างสม่ำเสมอ เมื่อมีพระภิกษุใดกระทำการไม่เหมาะควรขึ้นมา เพราะฉะนั้น ก่อนที่ พระพุทธองค์ จะปรินิพพานนั้น อาบัติทั้งหลาย อาจจะถูกบัญญัติขึ้น มากกว่า ๑๕๐ ข้อก็เป็นได้ เช่น การที่พระเทวทัตทำสังฆเภทขึ้นมา โดยพระพุทธองค์ได้บัญญัติอาบัติขึ้นมา จำนวนอีกหลายข้อ

๕. มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ได้ทำการเปรียบเทียบพระไตรปิฎกทุกฉบับที่หาได้ทั่วโลก ปรากฎว่า มีความต่างกันประมาณ ๔ หมื่นกว่าจุด ฉะนั้น การที่จะอ้างอิงพระไตรปิฏกจากที่ใดที่หนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจงนั้น จึงไม่น่าจะเป็นการถูกต้องเพียงพอเท่าที่ควร

๖. การสวดปาฏิโมกข์ ๑๕๐ ข้อนั้น อาจจะมีผลต่อการลดความสำคัญของเสยขิยวัตรในปัจจุบันและในรุ่นหลัง เพราะไม่ได้ทำการทบทวนทุกๆ กึ่งเดือน

๗. ในประวัติศาสตร์หลังพระพุทธกาล ๓๐๐ ปีพระพุทธศาสนาได้แยกไปถึง ๑๘ นิกาย โดยมี เถรวาทนิกายและเทวะกุนตะนิกาย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในเวลาที่ผ่านมานั้นพระไตรปิฎก ได้มีการสูญหายไป ๑๒ นิกาย คงเหลืออยู่ ๖ นิกาย ซึ่งทั้ง ๖ นิกายนี้ มีเถรวาทนิกาย รวมอยู่ด้วย โดยเมื่อเทียบเคียง รวมทั้ง ๖ นิกายนี้ ก็ยังคงมีการสวดปาฏิโมกข์และเสยขิยวัตรอยู่เสมอมา

๘. สิกขาบท อนิยต และเสยขิยวัตร นั้น เป็นพระพุทธวัจนะทั้งนั้น รวมทั้งใน มหาวรรค ซึ่งเมื่อได้อธิบาย ถึงการสวดปาฏิโมกข์โดยย่อ ก็ยังคงต้องมีการสวดถึง ปาราชิก สังฆาทิเสส และอนิยต ดังนั้น การสวดดังกล่าวนี้ ไม่สามารถทำการตัดออก โดยไม่มีการไตร่ตรองมิได้แน่

๙. การดำเนินการดังกล่าว ผิดกับธรรมเนียม และประเพณี ข้อวัตรปฏิบัติที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ได้พากันทำมากันทั้งสิ้นแต่โบราณ รวมทั้งได้มีมติสงฆ์การสังคยนาเห็นชอบกันทั้งสิ้นอีกด้วย เป็นประการสำคัญ๑๐. การสวดปาฏิโมกข์แค่ ๑๕๐ ข้อนั้น เป็นอันตรายต่อสังฆกรรม และ ความสามัคคีของ คณะสงฆ์อย่างร้ายแรง ซึ่งอาจจะเป็นต้นเหตุให้ คณะสงฆ์ถึงแก่สังฆเภทก็ได้

ขยายความ...

๑. พระไตรปิฎกบาลีนี้ ในเมืองไทยก็มีฉบับแปล เป็นพระไตรปิฎก ภาษาไทยขึ้นมาแล้วถึงปัจจุบัน ๓ ชุด (อีก๑ ชุดแก้ไขกันอยู่) เห็นได้ว่าฉบับที่ทำทีหลังก็ปรับปรุง ให้ถูกต้องดีขึ้นกว่าฉบับก่อน แต่ถึงกระนั้น ก็ยังจะต้องปรับปรุงกันต่อไปอีกนาน เพราะเป็นงานใหญ่มาก เนื้อความกว่า ๒๒,๐๐๐ หน้า ผู้แปล ต่างฝีมือต้องมาช่วยกันมากมาย แม้จะมีการจัดวางระบบงานดีขึ้นๆ แต่ความลักลั่นก็ยังไม่อาจแก้ได้หมด จะต้องเพียรพยายามกันต่อไป ขอยกตัวอย่าง เช่น มีศัพท์ทางวินัยคำหนึ่งว่า “อาสนฺทิ” ปรากฏอยู่ใน พระไตรปิฎกบาลี หลายเล่ม เช่น เล่ม ๓ เล่ม ๕ เล่ม ๗ เล่ม ๒๐ เป็นคำเดียวกัน ตรงกันแต่ “อาสนฺทิ” นี่แหละ ในพระไตรปิฎก แปลภาษาไทย ชุดแรก ชุดเดียวกัน ก็แปลไปต่างๆ ในสองเล่ม (เล่ม ๕, ๒๐) แปลว่า“เตียงมีเท้าเกินประมาณ” อีกเล่มหนึ่ง (เล่ม ๓) แปลว่า “ตั่ง” และอีกเล่มหนึ่ง (เล่ม ๗) แปลว่า “เก้าอี้นอน” ดูต่อไป พระไตรปิฎกแปลภาษาไทย ชุดที่ ๒ ปรากฏว่า แปลเหมือนกับในชุดแรก ตรงกันเกือบทุกแห่ง (ถ้าถูก ก็ถูกด้วยกัน ถ้าผิด ก็ผิดเหมือนกัน) มีที่แปลต่างออกไปแห่งเดียว ซึ่งยิ่งทำให้กลายเป็นว่า คำศัพท์เดียวกัน แต่แปล ๔ แห่ง ก็ต่างกันไป ๔ อย่าง (คือแปลแห่งหนึ่งว่า เตียงมีเท้าเกินประมาณ แห่งหนึ่งว่า ม้าหรือเก้าอี้สำหรับนั่ง แห่งหนึ่งว่า ตั่ง และอีกแห่งหนึ่งว่า เก้าอี้นอน) แล้วก็ต่อไป ในพระไตรปิฎกแปลภาษาไทย ชุดที่ ๓ ปรากฏว่า ก็คล้ายกับใน ชุดแรก แต่มีความสม่ำเสมอมากขึ้น (๔ แห่ง นำมาเรียงตามลำดับ คือ เตียงมีเท้าสูงเกินขนาด เตียงมีเท้าเกินประมาณ ตั่งยาว เตียงมีเท้าสูงเกินขนาด) นี่เพียงแค่เรื่องวัตถุ สิ่งของซึ่งมองเห็นง่าย ก็ยังพบปัญหาในการแปลได้อย่างนี้ ถ้าเป็นเรื่องนามธรรมที่ลึกซึ้ง จะน่าระวังเพียงใด

ฉะนั้น แค่ที่ยกมาให้ดูเท่านี้ ก็คงเห็นได้ชัดว่า ทำไมจึงต้องพยายามรักษา พระไตรปิฎกบาลี ที่เป็นข้อมูลของเดิมไว้ ให้ถูกต้องแม่นยำและครบถ้วนที่สุด ส่วนพระไตรปิฎก ฉบับแปลภาษาไทยนั้น เราอาศัยเป็นที่ปรึกษา หรือเป็นเครื่องประกอบในการศึกษา พระไตรปิฎก เรื่องนี้ ผู้ที่ใช้พระไตรปิฎกภาษาไทยควรทราบตระหนักไว้

ใครมีความเห็นเพิ่มเติมเรื่องการแปลบาลีเกี่ยวกับพระวินัย ก็ขอเชิญครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
pro
วันที่ 14 ส.ค. 2553

การแปลบาลีที่คลาดเคลื่อนแตกต่าง เช่น มีอีกบางตอน ในอานาปานสติสูตร การแปล อัสสสติ กับปัสสติ ก็แปลต่างกัน บางฉบับแปล อัสส ว่าหายใจเข้า บางฉบับ แปลว่า หายใจออก บางฉบับแปล ปัสส ว่าหายใจเข้า บางฉบับ แปลว่า หายใจออก

...หาผู้รู้ช่วยแปลด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
prachern.s
วันที่ 16 ส.ค. 2553

ขออนุโมทนาในกุศลจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
sairung
วันที่ 18 พ.ย. 2557

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ขออนุโมทนา

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 29 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ