โมเนยยธรรม

 
pirmsombat
วันที่  26 ก.ค. 2553
หมายเลข  16814
อ่าน  2,580

ว่าด้วยโมเนยยะ ๓ อย่าง

คำว่า มุนี ความว่า ญาณเรียกว่าโมนะ ได้แก่ปัญญา ความรู้ทั่ว ความเลือกเฟ้น ความเลือกเฟ้นทั่ว ความเลือกเฟ้นธรรม ความกำหนดดี ความเข้าไปกำหนด ความเข้าไปกำหนดเฉพาะ ความเป็นบัณฑิต ความเป็นผู้ฉลาด ความเป็นผู้มีปัญญารักษาตน ปัญญาเป็นเครื่องจำแนกปัญญาเป็นเครื่องคิด ปัญญาเป็นเครื่องเข้าไปเห็น ปัญญาอันกว้างขวางดุจแผ่นดิน ปัญญาเป็นเครื่องทำลายกิเลส ปัญญาอันนำไปรอบ ปัญญาเป็นเครื่องเห็นแจ้ง ความรู้สึกตัว ปัญญาเป็นเครื่องเจาะแทง ปัญญาเป็นเครื่องเห็นชัด ปัญญาเป็นใหญ่ ปัญญาเป็นกำลัง ปัญญาเป็นดังศาสตรา ปัญญาเพียงดังปราสาท ปัญญาอันสว่าง ปัญญาอันแจ่มแจ้ง ปัญญาอันรุ่งเรือง ปัญญาเป็นดังแก้ว ความไม่หลง ความเลือกเฟ้นธรรม ความเห็นชอบ บุคคลประกอบด้วยญาณนั้น ชื่อว่าเป็นมุนี คือ ผู้ถึงญาณ

ที่ชื่อว่าโมนะ โมเนยยะ (ธรรมเครื่องทาความเป็นมุนี) มี ๓ อย่าง คือ

โมเนยยธรรมทางกาย ๑

โมเนยยธรรมทางวาจา ๑

โมเนยยธรรมทางใจ ๑

โมเนยยธรรมทางกายเป็นไฉน การละกายทุจริต ๓ อย่าง ชื่อว่า โมเนยยธรรมทางกาย กายสุจริต ๓ อย่าง ญาณมีกายเป็นอารมณ์ ความกำหนดรู้กาย มรรคอันสหรคตด้วยปริญญา การละฉันทราคะในกาย ความดับแห่งการสังขาร ความบรรลุจตุตถฌาน แต่ละอย่างๆ ชื่อว่า โมเนยยธรรมทางกาย นี้ชื่อว่า โมเนยยธรรมทางกาย.

โมเนยยธรรมทางวาจาเป็นไฉน การละวจีทุจริต ๔ อย่าง ชื่อว่า โมเนยยธรรมทางวาจา วจีสุจริต ๔ อย่าง ญาณมีวาจาเป็นอารมณ์ ความกำหนดรู้วาจา มรรคอันสหรคตด้วยปริญญา การละฉันทราคะในวาจา ความดับแห่งวจีสังขาร ความบรรลุทุติยฌาน แต่ละอย่างๆ ชื่อว่า โมเนยยธรรมทางวาจา นี้ชื่อว่า โมเนยยธรรมทางวาจา.

โมเนยยธรรมทางใจเป็นไฉน การละมโนทุจริต ๓ อย่าง ชื่อว่า โมเนยธรรมทางใจ มโนสุจริต ๓ อย่าง ญาณมีจิตเป็นอารมณ์ ความกำหนดรู้จิต มรรคอันสหรคตด้วยปริญญา การละฉันทราคะในจิต ความดับแห่งจิตตสังขาร ความบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ แต่ละอย่างๆ ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางใจ นี้ชื่อว่า โมเนยยธรรมทางใจ.

สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า บัณฑิตทั้งหลายได้กล่าวมุนี ผู้เป็นมุนีทางกาย เป็นมุนีทางวาจา เป็นมุนีทางใจ ไม่มีอาสวะว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยธรรมที่ทำให้เป็นมุนี เป็นผู้ละกิเลสทั้งปวง บัณฑิตทั้งหลายได้กล่าวมุนีผู้เป็นมุนีทางกาย เป็นมุนีทางวาจา เป็นมุนีทางใจ ไม่มีอาสวะว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยธรรมที่ทำให้เป็นมุนี เป็นผู้มีบาปอันล้างเสียแล้ว.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prakaimuk.k
วันที่ 27 ก.ค. 2553

หมายถึง ธรรมที่เป็นเครื่องทำให้ถึงความเป็นพระอรหันต์ ใช่ไหมคะ

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
pirmsombat
วันที่ 28 ก.ค. 2553

ตอบคุณ prakaimuk.k

ถูกต้องครับ แต่เราสามารถน้อมนำมาประพฤติ ปฏิบัติตามได้บางส่วน คือ กายสุจริต ๓

วจีสุจริต ๔ มโนสุจริต ๓ ครับ

ขอ post ข้อความบางตอนต่อจากพระไตรปิฏกเรื่อง "โมเนยยธรรม" ว่า

บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรมที่ทำให้เป็นมุนีเหล่านั้น ชื่อว่า เป็นมุนี มี ๖ จำพวก คือ อาคารมุนี อนาคารมุนี เสขมุนี อเสขมุนี ปัจเจกมุนี มุนิมุนี

อาคารมุนีเป็นไฉน ชนเหล่าใดเป็นผู้ครองเรือน มีบทคือนิพพาน

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 262

อันเห็นแล้วมีศาสนาอันรู้แจ้งแล้ว ชนเหล่านี้ ชื่อว่าอาคารมุนี. อนาคารมุนี เป็นไฉน ชนเหล่าใดออกบวช มีบทคือนิพพานอันเห็นแล้ว มีศาสนา อันรู้แจ้งแล้ว ชนเหล่านี้ชื่อว่า อนาคารมุนี. พระเสขะ ๗ จำพวก ชื่อว่า เสขมุนี. พระอรหันต์ทั้งหลาย ชื่อว่า อเสขมุนี. พระปัจเจกพุทธเจ้า ทั้งหลาย ชื่อว่า ปัจเจกมุนี พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ชื่อว่า มุนิมุนี.สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า บุคคลไม่เป็นมุนีด้วยความเป็นผู้นิ่ง เป็นแต่ผู้เปล่า มิใช่ผู้รู้ ส่วนบุคคลใดเป็นบัณฑิต ถือธรรมอันประเสริฐ ละเว้นบาปทั้งหลาย เหมือนคนที่ถือเครื่องชั่งตั้งอยู่ ฉะนั้น บุคคลนั้นชื่อว่าเป็นมุนี เรียกว่ามุนีโดยเหตุนั้น บุคคลใดย่อมรู้โลกทั้ง ๒ บุคคลนั้นเรียกว่ามุนีโดยเหตุนั้น บุคคลใดรู้ธรรมของอสัตบุรุษและธรรมของสัตบุรุษ ในโลกทั้งปวงทั้งภายในและภายนอก ก้าวล่วงธรรมเป็นเครื่องข้องและตัณหาเพียงดังว่าข่ายดำรงอยู่ เป็นผู้อันเทวดา และมนุษย์บูชาแล้ว บุคคลนั้นชื่อว่าเป็นมุนี.

คำว่า พ้นขาดแล้ว ความว่า จิตของมุนีพ้น พ้นขาด พ้นวิเศษดี แล้วจากราคะ โทสะ โมหะ ฯลฯ อกุสลาภิสังขารทั้งปวง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มุนีนั้นเป็นผู้ปลงภาระลงแล้ว พ้นขาดแล้ว.

ขอบคุณและขออนุโมทนาคุณ prakaimuk.k มาก

หนังลือพระไตรฯ เล่ม 65. 66 น่าอ่านมากครับ ข้อความที่ผมนำมา post เป็นบางส่วนในเล่ม 66 ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
pamali
วันที่ 28 ก.ค. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
prakaimuk.k
วันที่ 28 ก.ค. 2553

ขอบพระคุณคุณหมอและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 20 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ