คันถะ [พระอภิธัมมัตถสังคหะ]

 
JANYAPINPARD
วันที่  30 ก.ค. 2553
หมายเลข  16835
อ่าน  6,899

คันถะ มีความหมายว่า ผูกมัดหรือทำให้เป็นปม อีกนัยหนึ่งหมายความว่า เป็นห่วงที่ร้อยรัดไว้ในระหว่าง จุติ-ปฏิสนธิ ให้เกิดก่อต่อเนื่องกันไม่ให้พ้นไปจากวัฏฏทุกข์ได้ คันถะมี ๔ ประการ คือ

๑. อภิชฌากายคันถะ ผูกมัดอยู่กับความยินดี ชอบใจ อยากได้ องค์ธรรม ได้แก่ โลภเจตสิก ที่ในโลภมูลจิต ๘ อภิชฌาที่เป็นคันถะนี้แตกต่างกับอภิชฌาที่เป็นมโนทุจริต คือ อภิชฌาที่เป็นมโนทุจริตนั้น เป็นโลภะอย่างหยาบ มีสภาพอยากได้ทรัพย์ สมบัติของผู้อื่นมาเป็นของตนโดยไม่ชอบธรรม ส่วนอภิชฌาที่เป็นคันถะนี้ เป็นได้ทั้งโลภะอย่างหยาบ และอย่างละเอียดทั้งหมดที่เกี่ยวกับความอยากได้ความชอบใจในทรัพย์สมบัติของผู้อื่น หรือแม้ของตนเอง จะโดยชอบธรรมก็ตาม ไม่ชอบธรรมก็ตาม จัดเป็นอภิชฌากายคันถะทั้งสิ้น

๒. พยาปาทกายคันถะ ผูกมัดอยู่กับความโกรธ จะถึงกับคิดปองร้ายด้วย หรือไม่ก็ตาม องค์ธรรมได้แก่ โทสเจตสิก ที่ในโทสมูลจิตทั้ง ๒ ดวง พยาปาทที่เป็นคันถะนี้ แตกต่างกับพยาปาทที่เป็นมโนทุจจริต คือ พยาปาทที่เป็นมโนทุจจริต ได้แก่ โทสะอย่างหยาบ เกี่ยวกับการปองร้ายผู้อื่น ตลอดจนการนึกคิดให้เขามีความลำบาก เสียหายต่างๆ หรือนึกแช่งผู้อื่นที่เขา ไม่ชอบนั้นให้ถึงแก่ความตาย ส่วนพยาปาท ที่เป็นคันถะนี้ ได้แก่ โทสะอย่างหยาบก็ตาม อย่างละเอียดก็ตาม คือความไม่ชอบใจ ไม่พอใจ โกรธ เกลียด กลัว กลุ้มใจ เสียใจ ตลอดไปจน ถึงการทำปาณาติบาต ผรุสวาท เหล่านี้ จัดเป็นพยาปาทกายคันถะทั้งสิ้น

๓. สีลัพพตปรามาสกายคันถะ ผูกมัดอยู่ในความชอบใจในการปฏิบัติที่ผิดว่า ปฏิบัติอย่างนี้แหละเป็นทางให้พ้นทุกข์ โดยเข้าใจว่าเป็นการถูกต้องแล้วชอบแล้ว แต่ถ้าหากว่ามีผู้รู้แนะนำสั่งสอนทางที่ถูกต้องให้ ก็สามารถกลับใจได้ จึงเปรียบไว้ว่า เป็นทิฏฐิชั้นลูกศิษย์ พอจะแก้ให้ถูกได้ องค์ธรรมได้แก่ ทิฏฐิเจตสิก ที่ในทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต ๔

๔. อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ ผูกมัดอยู่ในความชอบใจในการปฏิบัติที่ผิด แต่ว่ารุนแรงมั่นคงแน่วแน่นมากกว่าในข้อ ๓ นอกจากนั้นแล้วยังดูหมิ่นและเหยียบย่ำ ทับถมวาทะ หรือมติของผู้อื่นด้วย ถึงแม้ว่าจะมีผู้รู้มาชี้แจงแสดงเหตุผลในทางที่ถูกที่ชอบประการใดๆ ก็ไม่ยอมกลับใจได้เลย จึงมีข้อเปรียบไว้ว่าเป็นทิฏฐิชั้นอาจารย์ เพราะไม่สามารถที่จะแก้มาในทางที่ชอบได้ องค์ธรรมได้แก่ ทิฏฐิเจตสิก ที่ในทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ รวมคันถะมี ๔ แต่องค์ธรรมมีเพียง ๓ คือ โลภเจตสิก โทสเจตสิก และทิฏฐิเจตสิก (จำนวน ๓ เท่ากัน แต่องค์ธรรมไม่เหมือนกันกับของ อาสวะ โอฆะ โยคะ)

โสดาปัตติมรรค ประหาร สีลัพพตปรามาสกายคันถะ และอิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ

อนาคามิมรรค ประหาร พยาปาทกายคันถะ

อรหัตตมรรค ประหาร อภิชฌากายคันถะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 23 พ.ย. 2553

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เซจาน้อย
วันที่ 18 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nopwong
วันที่ 16 มี.ค. 2556

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 8 พ.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Somporn.H
วันที่ 11 ก.ย. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 30 ก.ย. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ทรงศักดิ์
วันที่ 11 มิ.ย. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ