มิตรที่ประเสริฐ [คาถาที่ ๔๑]

 
khampan.a
วันที่  6 ส.ค. 2553
หมายเลข  16877
อ่าน  1,486

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้าที่ 242

คาถาที่ ๔๑

คาถาว่า ภชนฺติ ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร ได้ยินว่า พระราชาพระองค์หนึ่ง ในพระนครพาราณสี ทรงครอบครองราชสมบัติกว้างขวาง มีประการที่กล่าวแล้วในคาถาต้นนั้นแล ท้าวเธอทรงพระประชวรหนัก ทุกขเวทนาเป็นไปอยู่ สตรี ๒๐,๐๐๐นาง ต่างก็ทำการนวดพระหัตถ์และพระบาทเป็นต้น อำมาตย์ทั้งหลายคิดว่า บัดนี้พระราชาพระองค์นี้จักไม่รอดชีวิต เอาเถิด พวกเราจักแสวงหาที่พึ่งแห่งตน ดังนี้แล้วไปสู่พระราชสำนักของพระราชาพระองค์อื่น ก็ทูลขอการบำรุง อำมาตย์เหล่านั้น บำรุงอยู่ในพระราชสำนักนั้นนั่นแล ก็ไม่ได้อะไรเลย.

ฝ่ายพระราชาทรงหายพระประชวรแล้ว ตรัสถามว่า อำมาตย์ชื่อนี้และชื่อนี้ ไปไหน? แต่นั้น ทรงสดับประพฤติการณ์นั้นแล้ว สั่นพระเศียรทรงนิ่งแล้ว อำมาตย์แม้เหล่านั้นสดับว่า พระราชาหายประชวรแล้ว เมื่อไม่ได้อะไรๆ ในพระราชสำนักของพระราชาพระองค์อื่นนั้น ประสบความเสื่อมอย่างยิ่ง จึงกลับมาอีก ถวายบังคมพระราชาแล้ว ยืนอยู่ในที่สุดส่วนหนึ่ง อำมาตย์เหล่านั้น ถูกพระราชาตรัสถามว่า ดูก่อนพ่อ พวกท่านไปไหนมา จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระสมมติเทพ พวกข้าพระองค์ เห็นพระองค์ทรงทุรพลภาพ แล้วจึงไปสู่ชนบทชื่อโน้น เพราะกลัวต่อการเลี้ยงชีวิต พระราชาทรงสั่นพระเศียรแล้ว ทรงพระราชดำริว่า เอาเถอะ เราพึงทดลองอำมาตย์เหล่านี้ว่า จะพึงทำอย่างนี้แม้อีกหรือไม่. พระราชาพระองค์นั้น ทรงแสดงพระองค์ประสบเวทนาหนัก ดุจถูกพระโรคให้ทรงพระประชวรในกาลก่อนกำเริบ ทรงกระทำความห่วงใยในการประชวร สตรีทั้งหลายก็แวดล้อมทำกิจทุกอย่าง เช่นก่อนนั้นแล อำมาตย์แม้เหล่านั้น ก็พาชนนั้นมากกว่าเดิม หลีกไปอย่างนั้นอีก พระราชาทรงกระทำเช่นกับที่กล่าวแล้วทั้งหมด ถึงครั้งที่ ๓ อย่างนี้ แม้อำมาตย์เหล่านั้นก็หลีกไปเหมือนเดิม.

แต่นั้น พระราชา ทรงเห็นอำมาตย์เหล่านั้น มาแล้วแม้ในครั้งที่ ๔ ทรงเบื่อหน่ายว่า โอ ! อำมาตย์เหล่านี้ทิ้งเราผู้ป่วยไม่เยื่อใยหนีไป กระทำชั่วหนอ ดังนี้แล้ว ทรงสละราชสมบัติ ทรงผนวชเห็นแจ้งอยู่ ได้กระทำให้แจ้งซึ่งปัจเจกโพธิญาณแล้ว ตรัสอุทานคาถานี้ว่า

มนุษย์ทั้งหลาย ผู้ไม่สะอาด มีปัญญา มุ่งประโยชน์ตนผู้ไม่มีเหตุ ย่อมคบหาสมาคมมิตรผู้หาได้ยากในทุกวันนี้ เพราะมีเหตุเป็นประโยชน์ บุคคลพึง เที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น ดังนี้

ในบทเหล่านั้น บทว่า ภชนฺติ ความว่า แอบเข้าไปนั่งใกล้ด้วยร่างกาย. บทว่า เสวนฺติ ความว่า ย่อมบำเรอด้วยอัญชลีกรรมเป็นต้นและด้วยความเป็นผู้รับใช้. เหตุเป็นประโยชน์ของมนุษย์เหล่านั้น เพราะเหตุนั้น มนุษย์เหล่านั้น จึงมีเหตุเป็นประโยชน์ อธิบายว่า เหตุอื่นในการคบและการเสพไม่มี.

เหตุของมนุษย์เหล่านั้นอย่างนี้ มีอธิบายว่า ย่อมเสพเพราะเหตุแห่งตน. บทว่า นิกฺการณา ทุลฺลภา อชฺช มิตฺตา ความว่า ชื่อว่า ผู้ไม่มีเหตุเพราะเหตุแห่งการได้ประโยชน์อย่างนี้ว่า พวกเราจักได้ประโยชน์บางอย่างจากคนนี้มาเป็นมิตรผู้ประกอบพร้อมด้วยความเป็นมิตรอันประเสริฐ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วอย่างนี้ว่า มิตรมีอุปการะ ๑ มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ๑ มิตรบอกประโยชน์ ๑ มิตรอนุเคราะห์ ๑ ดังนี้อย่างเดียว ซึ่งหาได้ยากในทุกวันนี้.

ปัญญาของมนุษย์เหล่านั้น ตั้งอยู่แล้วในตน มนุษย์เหล่านั้นเห็นแก่ตนเท่านั้น ไม่เห็นแก่ผู้อื่น เพราะฉะนั้น มนุษย์เหล่านั้น จึงชื่อว่ามีปัญญามุ่งประโยชน์ตน ได้ยินว่า ศัพท์ อตฺตตฺถปญฺา แม้นี้เป็นบาลีเก่า มีอธิบายว่า

ปัญญาของมนุษย์เหล่านั้น ย่อมเพ่งถึงประโยชน์ทั้งหลายที่เห็นในปัจจุบันเท่านั้น ย่อมไม่เพ่งถึงประโยชน์ในอนาคต

บทว่า อสุจี ความว่า ผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยกายกรรม วจีกรรมและมโนกรรม อันไม่สะอาด คือ อันไม่ประเสริฐ. บทที่เหลือพึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในกาลก่อนนั่นแล.

การณัตถคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์

วรรคที่ ๔ ประกอบด้วยคาถา ๑๑ คาถา จบ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 8 มิ.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ