จะช่วยให้คนไทยสนใจการสิกขาธรรมและดำเนินชีวิตให้อยู่ในศึลธรรม

 
homenumber5
วันที่  9 ส.ค. 2553
หมายเลข  16894
อ่าน  1,608

เรียนเชิญอาจารย์และผู้สิกขาธรรมทุกท่านเมตตาให้ความเห็นด้วย

หรือว่า นี่เป็นไปตามพุทธทำนาย เรื่อง การสูญสิ้นของพระพุทธศาสนา

ทุกวันนี้ผู้ที่ละเลยการประพฤติตนในศีลธรรมมีมากและไม่เกรงกลัวและละอายกันมากขึ้นๆ มีสิ่งใดที่เราจะช่วยให้เยาวชนไม่เดินตามทางที่เลวร้ายนี้

ที่เห็นกันอย่างชัดเจนทุกวัน

เราเองพยายามสิกขาอยู่ แต่ ห่วงใยลูกหลานมากจริงๆ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 10 ส.ค. 2553

บุคคลใด ไม่ได้ฟังพระสัทธรรม ที่พระพุทธเจ้า ตรัสไว้ดีแล้วบุคคลนั้น ย่อมเสื่อมจากพระสัทธรรม เป็นผู้เสื่อมโดยรอบบุคคลใด ได้ฟังพระสัทธรรม ที่พระพุทธเจ้า ตรัสไว้ดีแล้วบุคคลนั้น ย่อมไม่เสื่อมจากพระสัทธรรม เป็นผู้ไม่เสื่อมโดยรอบ

ดังนั้น ควรเริ่มต้นด้วยการฟังครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 10 ส.ค. 2553

กัลยาณมิตรเป็น "ทั้งหมด" ของพรหมจรรย์

ดังนั้นความเจริญในทางธรรมจะพึงมีได้จึงเริ่มจากการมี "กัลยาณมิตร"

แม้แต่องค์ที่จักให้ได้สำเร็จเป็นพระโสดาประการแรก

คือ สปฺปุริสูปสํเสโว การคบหาสมาคมกับสัตบุรุษ

เพราะคนเราเมื่อเสพคุ้นกับบุคคลเช่นไร ย่อมจะคล้อยตามไปกับบุคคลประเภทนั้น

ในมงคลสูตรข้อที่ ๑ ท่านยังกล่าวไว้ไม่ให้ "คบคนพาล" เลยค่ะ

ดังนั้น การคบมิตรดี จึงนำมาซึ่งกุศลธรรม

และคุณธรรมที่ดีงามประการอื่นๆ อีกมากมายค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 10 ส.ค. 2553

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ธรรมไม่สาธารณะคือไม่ทั่วไปกับทุกคนที่จะสนใจคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องมาสนใจพระธรรม เพราะแต่ละคนก็แต่ละหนึ่ง ที่สะสมมาต่างกันคือบางบุคคลไม่ได้สะสมบุญที่ทำไว้ในปางก่อน ไม่ได้สะสมปัญญา ในพระพุทธศาสนามา เมื่อไมได้สะสมบุญมาก็จึงไม่ได้พบสัตบุรุษ ได้พบแต่อสัตบุรุษ เมื่อไม่ได้พบสัตบุรุษผู้กล่าวสอนในธรรมที่ถูกต้องก็ไม่ได้ฟังธรรม เมือไม่ได้ฟังธรรม ก็เป็นผู้ไม่ได้ตั้งตนไว้ชอบคือเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีปัญญา ไม่มีศีลธรรม คุณธรรมประการต่างๆ เพราะไม่ได้ฟังพระธรรม จะเห็นได้ว่า แต่ละคนก็ไมได้สะสมบุญมาที่จะสนใจพระธรรมเหมือนกัน จึงไม่สามารถที่จะทำให้เด็กๆ สนใจธรรมในทางที่ถูกต้องได้หมด แต่ว่าเราจะต้องเริ่มจากตัวเราเองเป็นสำคัญคือมีความเข้าใจธรรมที่ถูกต้อง เมื่อเรามีความเห็นถูก เราก็สามารถอธิบายให้ผู้อื่นเข้าใจ (สำหรับบุคคลที่สนใจเท่านั้น) และที่สำคัญพระธรรมเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง การศึกษาธรรมจึงเป็นไปเพื่อน้อมประพฤติปฏิบัติตามเท่านั้น เพื่อการละความไม่รู้ ละอกุศล เมื่อปัญญาเจริญขึ้น คุณธรรมก็มากขึ้น อย่างน้อยตัวเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ทำให้สังคมดีขึ้นไม่มากก็น้อยเพราะความเห็นถูกและน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมครับ เริ่มจากตัวเราจนมั่นคงครับ เพราะปัจจุบันเป็นยุคเสื่อมของ

พระธรรมและคุณธรรมแล้วครับ ยอมรับความจริงด้วยความเข้าใจ จึงเห็นประโยชน์ใน

การศึกษาพระธรรมและน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมของตนเอง ขออนุโมทนาครับ อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
hadezz
วันที่ 11 ส.ค. 2553

ขออนุโมทนาในความคิดเห็นที่ 1, 3, 4,

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chaiyut
วันที่ 11 ส.ค. 2553

ถ้าเรามีโอกาสที่จะช่วยใครก็ตามให้เขาเข้าใจพระธรรม ไม่เว้นแต่เฉพาะคนไทย หรือว่าเยาวชนไทย ช่วยได้เราก็ช่วยให้ดีที่สุดครับ ถ้าทำดีที่สุดแล้วก็ไม่ต้องห่วงหรือหวังอะไรเพราะเราทำเต็มความสามารถแล้ว พระศาสนาหรือศีลธรรมจะเจริญขึ้นหรือจะเสื่อมลงไม่อยู่ในอำนาจของเราที่จะไปบังคับบัญชาอะไรได้ ทุกสิ่งที่เกิด เกิดตามเหตุตามปัจจัย มีเจริญก็มีเสื่อม นี้เป็นธรรมดาของโลก เราศึกษาธรรมให้เข้าใจถูกต้องในความเป็นธรรมดา เป็นอนัตตา ใครก็เปลี่ยนแปลงอะไรให้เป็นอย่างใจชอบทุกอย่างไม่ได้ แต่ไม่ใช่ไม่ให้ทำอะไร พระธรรมทรงแสดงว่ากุศลเป็นสิ่งที่ควรเจริญ รู้ว่าการช่วยเหลือเป็นกุศล ฟังแล้วเห็นประโยชน์ของกุศล เราก็ช่วยเหลือผู้อื่นตามความสามารถ ตามกำลังที่มี แต่ไม่ลืมว่าเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นจริงๆ ไม่แอบแฝงด้วยความหวังว่าจะช่วยเพื่อให้เขาหรือใครเป็นอย่างที่ใจเราต้องการ ความหวัง ความห่วง ความเดือดร้อนใจทั้งหมดเป็นอกุศล ต่างจากขณะที่ช่วยซึ่งเป็นกุศลครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 11 ส.ค. 2553

ในสังสารวัฏฏ์อันยาวนาน หาที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เราไม่สามารถที่จะรู้ได้

เลยค่ะ ว่าแต่ละคนเคยสะสมอะไรกันมาบ้าง มากหรือน้อยแค่ไหน แม้แต่พระโพธิสัตว์

เมื่อครั้งที่ท่านเสวยพระชาติเป็นโชติปาลมาณพ สหายรักของท่าน ชักชวนมาฟังธรรม

(เฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ก่อน พระนามว่ากัสสป) อยู่หลายครั้ง ท่านก็ไม่ยอม

มา แต่ด้วยความที่ท่านมีกัลยาณมิตร ในที่สุดจึงตัดสินใจมาตามคำขอร้องของเพื่อน

ได้เฝ้า ฟังธรรมและออกบวช ......นี่คือผลของการมีกัลยาณมิตร แม้จะเกิดในตระกูล

มิจฉาทิฏฐิก็ตาม

เมื่อมีโอกาสได้พบพระธรรม เราควรที่จะเป็นกัลยาณมิตรให้กับทุกคน โดยที่ไม่ต้อง

คาดหวังว่าเขาจะเข้าใจอะไรได้ลึกซึ้งนัก ถึงแม้ว่าวันนี้เขาอาจจะไม่พร้อม แต่ธรรมที่

ได้ยินได้ฟัง จะสั่งสมเป็นอุปนิสัยต่อไปในภายภาคหน้า ไม่แน่นะคะ เขาอาจจะเคย

สั่งสมการฟังมามากว่าเรา ในอดีตแสนโกฏิกัปป์มาแล้วก็ได้.....ใครจะรู้?

โดยส่วนตัวแล้ว จะใช้วิธีสอดแทรกธรรม เข้าไปในบทสนทนา ระหว่างญาติ มิตร

สหายและเพื่อนร่วมงานอยู่เสมอค่ะ รวมถึงเพื่อนๆ ที่เป็นต่างชาติ โดยที่ไม่ทำให้พวก

เขารู้สึกว่าถูกยัดเยียด หรือกำลังถูกสั่งสอน เพราะสัจจธรรมเป็นความจริง สมบูรณ์

พร้อมด้วยเหตุผลในตัวเอง จึงยากที่จะปฏิเสธ บางครั้ง เขาอาจจะแสดงออกมาว่าไม่

เห็นด้วย แต่เชื่อมั้ยค่ะว่าลึกๆ แล้วเขาเก็บไปคิด พิจารณา

"เดินทางพันลี้........ก็ต้องมีก้าวแรก" และก้าวแรกนี้ก็คือการมีกัลยาณมิตรค่ะ

ถ้าไม่มีกัลยาณมิตร คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในโลกนี้จะมีไม่ได้เลย

มิเช่นนั้นพระองค์จะไม่ตรัสว่า....

กัลยาณมิตรเป็น "ทั้งหมด" ของพรหมจรรย์

ไม่ใช่กึ่งหนึ่ง ไม่ใช่เล็กน้อย

แต่ "ทั้งหมด"

ขออนุโมทนาคุณ chaiyut ค่ะ และหวังว่า ท่านจะทำหน้าที่กัลยาณมิตรที่ดีต่อไปค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
pamali
วันที่ 12 ส.ค. 2553

ขออนุโมทนาสาธุค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
homenumber5
วันที่ 13 ส.ค. 2553

ขออนุโมทนา ทุกความเห็น ล้วนมีประโยชน์ ก่อให้เกิดกำลังใจในการสิกขาธรรมต่อ และ ต้องเข้าใจอย่างแท้จริงจนสามารถ ชี้แจงธรรมที่ถูกต้องแก่กัลยาณมิตรได้ และ เมื่อได้ ชี้แนะ ชักชวนแล้ว หากไม่ได้ผลทันตาต้องอดทน ไม่มีโทสะแก่จิตตน ด้วยฐานะ คือบุญที่สะสมมาไม่เท่ากัน แต่ใช่ว่าคนที่เราชักชวนจะไม่มีบุญเดิมมาก่อนเพียงแต่ เขาไม่ได้สร้างบุญมากับเรานั่นเอง

ก็ต้องพยายามฟังธรรมไป ชักชวนเพื่อนๆ ไป อย่างอดทนและจิตผ่องแผ้ว มีแต่เมตตาเท่านั้น

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
homenumber5
วันที่ 14 ส.ค. 2553

การเข้ามาอ่านข้อธรรมและการสนทนาธรรมใน บ้านธัมมะ

เปรียบเหมือนมาพบกัลยาณมิตรเช่นกัน

ขอเชิญชวนท่านที่สนใจในธรรมเข้ามาอ่านกัน ให้สม่ำเสมอจะเป็นการ เพิ่มความรู้เข้าใจในพระธรรมค่ะ

โดยเฉพาะ กัลยาณมิตรบางท่าน มีการส่งข้อคิดเห็นพร้อม แนบ พระสูตรฯลฯ ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้สมาชิกอ่านด้วยไม่สงวนลิขสิทธิ์ด้วย

อนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
ก.ไก่
วันที่ 20 มี.ค. 2565

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ