เริ่มฟังธรรมะ ควรจะเริ่มฟังจากเรื่องใดก่อนคะ
สวัสดีค่ะ
ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสเปิดฟังจาก ทีวี เมื่อเช้ามืดวันนี้ และได้ติดตามเข้าเว็ปซึ่งขณะนี้เพิ่งเริ่มสนใจธรรมะ ได้ฟังธรรมะบ้าง แต่ไม่รู้ว่าเราควรจะเริ่มจากเรื่องอะไรก่อนคะ
และเพิ่งเริ่มนั่งสมาธิด้วยตนเองที่บ้าน ไม่ทราบว่าจะถูกต้องตามวิธีหรือเปล่าคะรบกวน ท่านผู้รู้ช่วยแนะนำด้วยนะคะ รู้สึกตัวเอง ไม่มีความรู้ทางนี้เลยค่ะ
ขอบคุณค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย การศึกษาธรรม เริ่มจากการฟังให้เข้าใจ เพราะหากยังไม่มีความเข้าใจแล้วย่อมปฏิบัติผิด อาศัยการฟัง อาศัยการอ่าน เมื่อปัญญาเจริญขึ้น ปัญญาจะทำหน้าที่เองไม่ต้องไปนั่งสมาธิ ไปปฏิบัติอะไร ความเข้าใจที่เจริญขึ้น เพราะการฟังจะทำหน้าที่ปฏิบัติเองให้รู้ความจริงที่มีในขณะนี้ เพราะฉะนั้น ปัญญาจะเจริญขึ้นไม่ใช่เพราะไปนั่งสมาธิแต่เกิดจากการฟังธรรม ฟังในสิ่งที่ถูกต้อง แต่ควรเริ่มจากการฟัง หรือศึกษาอะไรคำตอบคือ เริ่มจากการฟังให้เข้าใจว่าธรรมคืออะไร หากยังไม่เข้าใจว่าธรรมคืออะไรก็ไม่สามารถเข้าใจความจริงได้ เพราะความจริงก็คือธรรม เมื่อเข้าใจว่าธรรมคืออะไรก็จะเป็นพื้นฐานในการปฏิบัติที่ถูกต้อง เพราะแต่ละคน ก็แสวงหาธรรม แต่ถ้าไม่รู้จักคำว่าธรรม ก็ไม่รู้จะแสวงหาอะไร เพราะแสวงหาในสิ่งที่ไม่รู้และไม่จริงครับ เริ่มจากคำว่าธรรมคืออะไร จึงเป็นพื้นฐาน ซึ่งอาศัยจากการฟัง การศึกษาและัการสอบถามปัญญาจึงเจริญตามลำดับ หากไม่มีความเข้าใจเบื้องต้นแล้ว เบื้องปลายจะถูกไม่ได้ครับ ขออนุโมทนา
เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ครับ ...
เมื่อเริ่มฟังพระธรรม ... ต้องเข้าใจอะไรก่อนเป็นสำคัญ!
ผู้ที่เริ่มสนใจศึกษา ควรเริ่มตรงจุดไหน
อยากทราบว่าควรเริ่มจากอะไรครับ
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
เริ่มฟังจากเรื่องใดไม่สำคัญเลยค่ะ
ความสำคัญอยู่ที่ "ความเข้าใจ" ในสิ่งที่กำลังฟัง ธรรมที่ท่านอาจารย์สุจินต์ได้บรรยายไว้ทุกเรื่อง ไม่มีเรื่องใดที่พ้นไปจาก "ความจริง"
ขออนุโมทนาค่ะ
ธรรมะ คือทุกสิ่งทุกอย่างที่กำลังปรากฏในตอนนี้ครับ
การศึกษาธรรมะมีตั้งแต่
1. ขั้นปริยัติ (อ่านหรือฟังให้เข้าใจ)
2. ขั้นปฏิบัติ (ความเข้าใจในขั้นปริยัติ เป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึก และปัญญาพิจารณาสิ่งต่างๆ ที่กำลังปรากฏ)
3. ขั้นปฏิเวท (การรู้แจ้งแทงตลอดในสภาพธรรมทั้งหลาย)
ซึ่งจะเห็นได้ว่า ถ้าไม่มีความเข้าใจ ตั้งแต่ต้น สติและปัญญา จะไม่สามารถเกิดขึ้นพิจารณาสิ่งใดๆ ได้ถูกต้องเลย
สำหรับผมคิดว่า ธรรมะ มีนัยให้ศึกษาอย่างละเอียดมากมาย แต่ขั้นต้นควรเข้าใจคำว่านามธรรมและรูปธรรมรวมไปถึงเรื่องปรมัตถธรรมครับ ซึ่งเป็นภาพรวมหรือเป็นพื้นฐาน ปรมัตถธรรมมี 4 คือ จิต เจตสิก รูป และ นิพพานครับ เมื่อเข้าใจปรมัตถธรรมแล้ว การศึกษาต่อๆ ไป ก็จะได้เห็นการแบ่งจำแนก ปรมัตถธรรม เป็นประเภทต่างๆ ตามนัยต่างๆ ซึ่งละเอียดมาก แต่ทั้งหมดแล้วก็เป็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ตามปกติในชีวิตประจำวันของเราทั้งสิ้น ซึ่งที่ผ่านมาเกิดขึ้นกับทุกคนตลอดเวลา แต่ไม่เคยได้ศึกษา ไม่เคยได้พิจารณา ซึ่งจะทำให้การดำเนินชีวิตในแต่ละขณะไม่เป็นไปเพื่อการละคลาย ไม่เป็นไปเพื่อการดับกิเลส
ส่วนเรื่องการทำสมาธิ มีทั้งสัมมาสมาธิ และมิจฉาสมาธิ ครับ ถ้าไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็ไม่สามารถเจริญสมาธิ ที่เป็นไปเพื่อการดับกิเลสได้ ที่จริงแล้วมรรคผลนิพพาน หรือ การดับกิเลสเป็นสมุจเฉท (โดยสิ้นเชิง) นั้น ไม่ใช่ผล ไม่ใช่อานิสงส์ของสมาธิครับ ขอให้ศึกษาธรรมะอย่างละเอียดจริงๆ ก่อนครับ
ผมเคยถามเพื่อนๆ ด้วยคำถามนี้เหมือนกัน เพื่อนก็จะตอบเราได้ยากมาก เพราะจะขึ้นกับตัวเราเป็นสำคัญ ผมเลยใช้วิธีสแกนเวปบ้านธัมมะนี้ คิดถึง key word ที่เราสนใจก่อน จากวิดิโอคลิป และสนทนาธรรม เช่น สมาธิ วิปัสนา บุญ ธรรม เป็นต้น แล้วศึกษาดู จากนั้นเริ่มมาที่มูลนิธิฯ หาหนังสือที่คิดว่าตนเองอ่านรู้เรื่องและจบเล่มได้ ดูcd เรื่องที่มีคำว่าเบื้องต้นอยู่ด้วย และเนื่องจากผมผ่านการศึกษาธรรมมะมาหลายแบบแล้ว จึงไม่ไปศึกษาเปรียบเทียบกับการสอนวิธีอื่นๆ อีก แล้วเราก็จะได้พบถึงความรู้ความเข้าใจที่เราเริ่มมีเพิ่มขึ้น เรารู้ได้ด้วยตนเอง
ขออนุโมทนา ที่คุณได้ศึกษาธรรมมะครับ
ขอขอบพระคุณอย่างยิ่งในทุกความเห็นนะคะ ทำให้ทราบว่า สิ่งที่เราเข้าใจตั้งแต่ต้นกับสิ่งที่ได้ฟังในบ้านธัมมะค่อนข้างแตกต่างกันมาก เกือบหลงทางไปมาก ถ้าไม่ได้บังเอิญมาเจอกับทุกท่านในบ้านธัมมะแห่งนี้ ต้องขอบอกว่าโชคดีมากค่ะ และจะพยายามอ่าน ฟัง ให้มากกว่าเดิมค่ะ ขอบคุณมากๆ ค่ะ และขออนุโมทนากับทุกท่านที่ได้มีโอกาสศึกษาธรรมค่ะ
นับเป็นลาภอันประเสริฐ ที่ได้ฟัง อ่าน ธรรมจากสื่อต่างๆ ของมูลนิธิฯ นี้ เบื้องต้นควรอ่าน ฟังบ่อยๆ เนื่องๆ จนเข้าใจ แต่จะเป็นเพียงเรื่องราว และก็จะเข้าใจ เพิ่มขึ้นทีละนิดๆ ต้องมีความอดทน ตั้งใจฟังธรรม ตั้งแต่เบิ้องต้น เป็นลำดับ จนเข้าใจความไม่เป็นเรา มีแต่ รูป จิต เจตสิกเท่านั้น แล้วจะเข้าใจ ขอเป็นกำลังใจให้
ขออนุโมทนากับท่านที่ได้ศึกษาจนเข้าใจแตกฉานค่ะ
สำหรับดิฉันเข้าใจว่า การตั้งใจฟังธรรม ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง หมายถึง ฟังด้วย ศรัทธา อย่างยิ่ง ว่า ธรรมนี้จะช่วยให้เราพ้นทุกข์ได้ ยามที่ยังไม่เข้าใจ ไม่ตอบปัญหาในใจของเรา ต้องฟังๆ ไปก่อน อย่าร้อนใจ ใจร้อน ฟังบ่อยๆ หัดฟังนานๆ ไตร่ตรองไปด้วย อ่านตามไปด้วย ก่อนมาฟังยิ่งดีและ การฟังจะเรื่มดีขึ้นๆ