บาปไม่บาปอยู่ที่เจตนาเป็นสำคัญ [มหาวิภังค์]
เรื่อง บาปไม่บาปอยู่ที่เจตนาเป็นสำคัญ
[เล่มที่ 1] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้าที่ ๑๐๓
พระโมคคลีบุตรติสสเถระอ้างพระพุทธพจน์เล่าอดีตนิทาน
ลำดับนั้น พระเถระ (ถวายวิสัชนา) ให้พระราชาทรงเข้าพระทัยเนื้อความนี้ด้วยพระสูตรนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม บุคคลคิดแล้วจึงกระทำกรรมด้วยกาย วาจา ใจ ๑ ดังนี้ เพื่อแสดงเนื้อความนั้นนั่นแล พระเถระจึงนำติดติรชาดกมา (เป็นอุทาหรณ์) ดังต่อไปนี้
ขอถวายพระพร มหาบพิตร ในอดีตกาล นกกระทาชื่อ ทีปกะเรียนถามพระดาบสว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ นกเป็นอันมากเข้าใจว่า ญาติของพวกเราจับอยู่แล้ว จึงพากันมา นายพรานอาศัยข้าพเจ้า (นกต่อ) ย่อมถูกต้องกรรม เมื่อนายพรานอาศัยข้าพเจ้าทำบาปนั้น ใจข้าพเจ้าย่อมสงสัยว่า (บาปนั้น จะมีแก่ข้าพเจ้า หรือหนอ)
พระดาบส ตอบว่าก็ท่านมีความคิด (อย่างนี้) หรือว่า ขอนกทั้งหลายเหล่านี้มาเพราะเสียง และเพราะเห็นรูปของเราแล้วจงถูกแร้ว หรือจงถูกฆ่า
นกกระทาเรียนว่า ไม่มี ท่านผู้เจริญ
ลำดับนั้น ดาบสจึงให้นกกระทานั้นเข้าใจยินยอมว่า ถ้าท่านไม่มีความคิดไซร้ บาปก็ไม่มี แท้จริง กรรมย่อมถูกต้องบุคคลผู้คิดอยู่เท่านั้น หาถูกต้องบุคคลผู้ไม่คิดไม่ ถ้าใจของท่านไม่ประทุษร้าย (ในการทำความชั่ว) ไซร้ กรรมที่นายพรานอาศัยท่านกระทำ ก็ไม่ถูกต้องท่าน บาปก็ไม่ติดเปื้อนท่าน ผู้มีความขวนขวายน้อยผู้เจริญ (คือบริสุทธิ์)