ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้าฯ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๓

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  14 ส.ค. 2553
หมายเลข  16938
อ่าน  1,909

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เนื่องในโอกาสวันแม่ ๑๒ สิงหาคม ของทุกๆ ปี ชมรมพุทธศาสน์วังพญาไท ได้เรียนเชิญท่านอาจารย์ และคณะวิทยากรของมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ไปร่วมสนทนาธรรมเป็นประจำทุกปี ระหว่างเวลา ๙.๐๐-๑๔.๓๐ น. ที่อาคารพัชรกิตติยาภาชั้น ๑๐ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้าฯ

ปีนี้ก็มีผู้สนใจเข้าร่วมฟังการสนทนาธรรมมากมาย ผู้จัดต้องหาเก้าอี้มาเสริมอีกเช่นเคย รวมทั้งได้จัดเจ้าหน้าที่แต่งเครื่องแบบสวยงามเรียบร้อย มาช่วยอำนวยความสะดวก ในการหาที่นั่งให้กับทุกๆ ท่าน เป็นความกรุณาของผู้จัดและเจ้าหน้าที่ทุกท่านอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าขออนุโมทนาในกุศลจิตของท่านมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

การสนทนาในวันนี้มีหัวข้อที่น่าสนใจมากๆ ในความเห็นของข้าพเจ้าคือ เรื่องการบริโภค ซึ่งแม้คำว่า "บริโภค" ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่ามี ๔ อย่าง ท่านอาจารย์ก็แสดงในนัยที่ลึกซึ้งหลากหลายให้ฟังด้วยครับ เป็นประโยชน์มากครับ ข้าพเจ้าขออนุญาตินำข้อความบางตอนที่ได้สนทนากันในวันนั้น มาให้ทุกๆ ท่าน ได้อ่านและพิจารณากัน ดังนี้ครับ

ท่านผู้ถาม "อาจารย์ คำปั่นคะ เถยยบริโภค คืออย่างไรคะ มีความละเอียดขนาดไหนคะ"

อ.คำปั่น "...การศึกษาพระธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด ต้องอาศัยการฟังการศึกษา บ่อยๆ เนืองๆ จึงจะเข้าใจ แม้แต่ข้อความที่เป็นคำถาม

ที่ถามว่า เถยยบริโภคเป็นอย่างไร นะครับ การที่จะดำรงชีวิตก็ต้องมีการบริโภค...อย่างพระภิกษุนี่นะครับ ท่านจะดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยอาหารบิณฑบาตที่ฆราวาสหรือคฤหัสถ์ที่มีศรัทธา เป็นผู้ถวาย เพราะฉะนั้นแล้ว ท่านก็จะต้องเป็นผู้ที่มีความประพฤติที่ถูกต้องตรงตามพระธรรมวินัย ถึงจะเป็นผู้ที่สมควรในการรับอาหารบิณฑบาต ที่คฤหัสถ์ผู้มีศรัทธาได้ถวาย

... แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตาม ที่เป็นผู้ไม่มีความรู้ความเข้าใจในพระธรรมวินัยและไม่มีการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ก็จะเปรียบเหมือนกับบริโภคโดยการขโมย เพราะเหตุว่าคุณสมบัตินั้นไม่เพียงพอในการที่จะรับศรัทธาจากคฤหัสถ์ผู้มีศรัทธา

เพราะฉะนั้นแล้วนะครับ ชีวิตที่ต่างกัน เพศที่ต่างกัน ก็จะต้องมีความละเอียด ในการขัดเกลากิเลสที่ต่างกัน..."

...อย่างผู้ที่เป็นคฤหัสถ์ ก็จะมีการดำรงชีวิตที่เป็นปรกติ มีการประกอบอาชีพการงานมีหน้าที่อย่างไรก็กระทำตามหน้าที่อย่างนั้น และ ที่สำคัญก็คือไม่ขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน อันนี้คือคุณลักษณะของคฤหัสถ์ที่ดีนะครับ

... แต่ถ้าเป็นเพศบรรพชิตแล้ว เป็นผู้ที่ "เว้นทั่ว" เป็นผู้ที่ เว้น จากความติดข้องยินดีพอใจใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฐฐัพพะ เป็นผู้ที่สละอาคารบ้านเรือนมุ่งสู่ภาวะของการเป็นบรรพชิต ซึ่งเป็นเพศที่แตกต่างจากคฤหัสถ์ ท่านก็จะต้องมีความจริงใจ ในการที่จะขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้นกว่าคฤหัสถ์...

เพราะถ้าหากว่ามีความประพฤติที่ถูกต้องดีงามตรงตามพระวินัยแล้ว การบริโภคหรือว่าการฉันอาหารบิณฑบาตที่คฤหัสถ์ถวายนั้นก็จะไม่เป็น เถยยบริโภค

ท่านผู้ถาม "ขอบพระคุณค่ะ ท่านอาจารย์ มีเพิ่มเติมใช่ไหมคะ"

ท่านอาจารย์ "ค่ะ ธรรมะเป็นเรื่องที่ละเอียดนะคะ เพราะถ้าได้เข้าใจคำที่ได้ยินมากขึ้น เนี่ยค่ะก็จะทำให้เข้าใจ "คำ" ที่ทรงใช้มากขึ้นนะคะ อย่างคำว่า "บริโภค" เนี่ยค่ะ

ขณะนี้ กำลังบริโภคหรือเปล่า? นี่คือความลึกซึ้งค่ะ ได้ยินคำว่า บริโภค กิน หรือ ใช้สอย หรือว่าขณะนี้ค่ะ กำลังบริโภคหรือเปล่า? นี่คือความละเอียดของพระธรรม

พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมตามความจริง แม้ว่าจะ "ใช้คำ" ที่คนทั่วไปเนี่ยอาจจะเข้าใจผิวเผิน คือเพียงหมายความถึง การรับประทานอาหารและการใช้สอยด้วยนะคะ...

เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วเนี่ยค่ะ ทุกคนเกิดมา มีตาเห็น มีหูได้ยิน มีจมูกได้กลิ่น มีลิ้นลิ้มรส มีกายรู้สิ่งกระทบสัมผัส แล้วก็มีใจคิดนึก หกทาง..."บริโภค"...ตอนไหน? ลองคิดดูนะคะ ขณะนี้กำลังเห็น ได้ยินเสียง บางขณะได้กลิ่น ขณะที่ลิ้มรส และขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ขณะที่คิดนึก บริโภค ตอนไหน? สิ่งที่ผ่านมา บริโภคหรือเปล่า? หรือ ผ่านไปเฉยๆ ?

... เช่นขณะนี้ที่กำลังเห็นนะคะมีเห็น คงจะไม่รู้เลยว่ากำลังบริโภค สิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น เวลาที่เสียงเกิดขึ้นนะคะได้ยินเสียงก็บริโภคเสียงในขณะนั้น แล้วแต่ว่า จิตที่บริโภค เนี่ยค่ะ เป็นจิตประเภทใด บริโภคด้วยความติดข้อง ด้วยความสนุกสนาน ด้วยความเพลิดเพลิน หรือว่า ด้วยความขุ่นเคือง.......ยากมาก ที่จะบริโภค ด้วยกุศลจิต นะคะ แต่ก็มีการสะสมที่ เมื่อเห็นแล้วเกิดกุศลจิตได้ แต่ก็จะบริโภคสิ่งที่กำลังปรากฏ ด้วยปัญญา ความเห็นถูก ความเข้าใจถูกเนี่ยค่ะยิ่งยาก

อ. นิภัทร "เกี่ยวกับบริโภคๆ ขอแถมว่า นอกจากจะ เถยยบริโภคแล้วยังมี "อิณบริโภค" อีกนะครับ อิณบริโภค แปลว่า บริโภคด้วยความเป็นหนี้ ครับ บริโภคด้วยความเป็นหนี้ คือ เป็นหนี้ชาวบ้านเขานะครับ นี่หมายถึงบรรพชิตนะครับ.....ได้รับบิณฑบาตจากชาวบ้าน แล้วบริโภคโดยไม่พิจารณา ขาดการพิจารณา..."

อ. ประเชิญ "ครับก็ขออนุญาตเติมให้เต็มนะครับ ที่ท่านวิทยากรได้กล่าวเรื่องของการบริโภคที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้นะครับ ... จะมีบริโภคทั้งหมด ๔ อย่าง ด้วยกันนะครับ ... ๒ อย่าง ได้ทราบกันไปแล้วนะครับ ก็ขออนุญาตทบทวนนิดนึงนะครับ การบริโภคแบบโจร ก็คือ ภิกษุผู้ทุศีล บริโภคปัจจัย ๔ ที่เขาถวายแด่สงฆ์ผู้มีศีลนะครับ อันนี้ก็คือลักษณะการบริโภคแบบ เถยยบริโภค หรือ โจรบริโภค นะครับ เป็นการบริโภคแบบโจร แบบคนขโมย นะครับ...

...ส่วนผู้ที่มีศีล แต่ว่าบริโภคปัจจัย ๔ ที่เขาถวายด้วยศรัทธาแล้วไม่พิจารณา ในวันนั้นไม่ได้พิจารณา ก็เป็นการบริโภคแบบคนเป็นหนี้ (อิณบริโภค) ส่วนการบริโภคอีก ๒ อย่างนะครับ ก็คือ ทายัชชบริโภค บริโภคแบบทายาท นะครับ และสามิบริโภค บริโภคแบบผู้เป็นเจ้าของ ซึ่งทายัชชบริโภค เป็นการบริโภคของพระเสขบุคคลที่เป็นพระอริยสาวก....ตั้งแต่พระโสดาบันจนถึงพระอนาคามี นะครับ อันนี้คือ ลักษณะของการบริโภคแบบทายาทนะครับ เพราะท่านเป็นทายาทโดยธรรมะ ที่เกิดขึ้นจาก การได้ฟังพระสัทธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า นะครับ

...ส่วนบริโภคสุดท้ายคือ สามิบริโภค เป็นการบริโภคแบบเป็นเจ้าของก็คือ พระอรหันต์ขีณาสพ ที่ท่านดับอกุศลดับอาสวะกิเลสได้ทั้งหมดแล้ว ท่านก็บริโภคแบบ ไม่ใช่ทั้งสามอย่างข้างต้นนะครับ ไม่ใช่การบริโภคแบบเป็นหนี้ ไม่ใช่บริโภคแบบเป็นโจร หรือเป็นคนขโมย แล้วก็ไม่ใช่แบบคนที่เป็นทายาท นะครับแต่เป็นผู้บริโภคแบบ เป็นใหญ่ด้วยตนเองนะครับ...อันนี้ก็เป็นการบริโภคที่ทรงแสดงไว้..."

อ. อรรณพ " ครับ ก็เป็นประโยชน์มากนะครับ แม้คำว่า บริโภค ซึ่งถ้าเราไม่ได้ฟังพระธรรมเนี่ย เราก็ไม่ได้คิดอะไร ก็คือการรับประทาน การกินอาหาร แค่นี้ก็จบ แล้วก็ไม่เคยมีการที่จะเข้าใจที่ละเอียดขึ้นไป นะครับ แต่เมื่อได้มีการฟัง พระธรรมเนี่ยครับซึ่ง พระธรรมนี่น่ะ หลากหลายนัย แต่ต้องสอดคล้องกันหมด..."

ท่านอาจารย์ "...ขอเพิ่มนิดหน่อยนะคะ เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องที่จะมีหลายๆ คำ เช่นคำว่า เถยย หมายความถึง ขโมย ใช่มั๊ยคะคุณคำปั่น...ค่ะ สำหรับใคร? วันนี้ หรือสถานที่ใดก็ตามนะคะ ที่มีผู้จัดอาหารให้ผู้ที่ฟังธรรม แล้วคนที่ไม่ได้ฟังธรรมะไปรับประทานเนี่ย ขโมยหรือเปล่าคะ? ใช่มั๊ยคะ เพราะว่าสำหรับผู้ที่ฟังธรรม แต่ถ้าเป็นสถานที่ๆ ไม่ได้เจาะจง จำกัดว่าให้ใคร ใครก็ไปบริโภคได้ อย่างนั้นไม่ใช่อาการของขโมย แต่ถ้าจัดไว้ให้เพื่อผู้ฟังธรรมะ แต่ว่าไม่ฟังธรรมะ ไม่ใช่ผู้ฟังธรรมะ แล้วไปรับประทานเนี่ย อย่างนี้น่ะ จะเป็นขโมยไหม?

...เพราะฉะนั้นสำหรับพระภิกษุก็เป็นเรื่องที่ละเอียดมากนะคะ จากการที่สละเพศคฤหัสถ์ สู่เพศบรรพชิตเนี่ยค่ะ เพื่อที่จะศึกษา อบรม เจริญปัญญา ในเพศบรรพชิต เพื่อที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะฉะนั้นชาวบ้าน นะคะ ถวายอาหาร เพื่อประโยชน์ แก่การที่ท่านจะศึกษา แล้วก็ประพฤติ ปฏิบัติธรรมะ แต่ถ้าพระภิษุใด ไม่ศึกษา และไม่ประพฤติธรรม อาการที่ได้รับ เหมือนอาการของโจร เพราะว่า แสดงเพศว่าเป็นภิกษุ แต่ไม่ได้ทำกิจของภิกษุ เพราะฉะนั้นก็ยิ่งกว่าขโมย ในบางแห่งจะใช้คำว่า มหาโจร...

...เพราะฉะนั้น ก็มีการที่จะได้เข้าใจความละเอียดของ แม้แต่คำที่ใช้ สำหรับคฤหัสถ์ หรือว่าสำหรับบรรพชิต และสำหรับบรรพชิตที่ศึกษาธรรมะ นะคะ ประพฤติปฏิบัติธรรมะ แต่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม...เป็นหนี้ค่ะ เหมือนกับได้รับสิ่งที่ผู้ให้มา นะคะ แต่ว่า...ยังไม่ได้ใช้หนี้ ให้คุ้มกับอาหารบิณฑบาต หรือว่าสิ่งที่คฤหัสถ์ถวาย โดยการที่ศึกษาจนกระทั่ง สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องละเอียด...แล้วก็เป็นเรื่องตรงค่ะ..."

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 15 ส.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เมตตา
วันที่ 15 ส.ค. 2553

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ ...

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณวันชัยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
pirmsombat
วันที่ 15 ส.ค. 2553

ขอบคุณและขออนุโมทนาคุณ วันชัย มากครับ

อนุโมทนาในกุศลของทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Anutta
วันที่ 15 ส.ค. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 15 ส.ค. 2553

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของพี่วันชัย มา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
h_peijen
วันที่ 15 ส.ค. 2553

ขอบพระคุณและขออนุโมทนา คุณวันชัย มากค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
hadezz
วันที่ 15 ส.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
aditap
วันที่ 15 ส.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
kinder
วันที่ 15 ส.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 15 ส.ค. 2553

ขอบคุณและขอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 16 ส.ค. 2553

ขอบพระคุณและขออนุโมทนากุศลจิตของคุณวันชัย

ในความกรุณานำธรรมะของท่านอาจารย์และคณะท่านวิทยากร

มาเผยแพร่แก่ผู้ที่ไม่มีโอกาสไปรวมฟังธรรมในวันดังกล่าวด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
orawan.c
วันที่ 16 ส.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
Khaeota
วันที่ 16 ส.ค. 2553

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นขออนุโมทนากุศลเจตนาของ คุณวันชัย ค่ะขออนุโมทนาในกุศลจิตทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
คุณ
วันที่ 16 ส.ค. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
opanayigo
วันที่ 16 ส.ค. 2553

ค่อยๆ อ่านทีละคำ

พระธรรมลึกซึ้ง มีประโยชน์

ในการพิจารณาและขัดเกลาตนเอง

...........................

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
dron
วันที่ 16 ส.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
สมศรี
วันที่ 17 ส.ค. 2553
ขอบคุณและอนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
raynu.p
วันที่ 17 ส.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
daeng
วันที่ 17 ส.ค. 2553

ขอขอบคุณ และอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
parithat
วันที่ 18 ส.ค. 2553

ธรรมะที่ท่านอาจารย์สุจินต์กรุณาบรรยายนั้นเป็นของจริง ถูกต้องตามพระธรรมวินัย น่า

ฟัง ละเอียด ประณีต และยิ่งฟังก็ยิ่งเข้าใจมากขึ้นๆ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
saifon.p
วันที่ 19 ส.ค. 2553
ธรรมะที่ท่านอาจารย์บรรยายลึกซึ้งไปเรื่อยๆ ขอกราบอนุโมทนาท่านอาจารย์ค่ะ

ขอขอบพระคุณ คุณวันชัย และขออนุโมทนาในกุศลจิตที่มีมาโดยตลอด
 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
paew_int
วันที่ 19 ส.ค. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ