การฉันอาหารน้อย [วิสุทธิมรรคแปล]
วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๑
เอกาสนิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีการฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นปกติการฉัน ณ อาสนะเดียว ชื่อ เอกาสนะ การฉัน ณ อาสนะเดียวนั้น เป็นปกติของภิกษุนั้น เหตุนั้น จึงชื่อว่า เอกาสนิกะ องค์แห่งภิกษุเอกาสนิกะนั้น ชื่อว่า เอกาสนิกังคะ.
[อานิสงส์แห่งเอกาสนิกังคะ]
ส่วนอานิสงส์ดังต่อไปนี้ คือ
(๑) มีอาพาธน้อย
(๒) มีโรคน้อย
(๓) (ร่างกาย) คล่องแคล่ว
(๔) แข็งแรง
(๕) อยู่สำราญ
(๖) ไม่ต้องอาบัติเพราะอนติริตตสิกขาบทเป็นปัจจัย
(๗) บรรเทาตัณหาในรสได้
(๘) มีความประพฤติสมควรแก่ธุตธรรม มีความมักน้อยเป็นต้น.
ขลุปัจฉาภัตติกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้อันไม่ฉันปัจฉาภัตรเป็นปกติ คำว่า ขลุ เป็นนิบาตในอรรถปฏิเสธ ภัตรที่ภิกษุเป็นผู้ห้าม (ภัตร) แล้วได้มาในภายหลัง ชื่อว่า ปัจฉาภัตร การฉันปัจฉาภัตรนั้น ก็ชื่อว่าปัจฉาภัตร เพราะทำความหมายแห่งปัจฉาภัตรใน (อรรถคือ) การฉันปัจฉาภัตรนั้น การฉันปัจฉาภัตรเป็นปกติของภิกษุนั้น เหตุนั้น ภิกษุนั้น จึงชื่อว่าปัจฉาภัตรติกะ (ผู้มีการฉันปัจฉาภัตรเป็นปกติ) ภิกษุไม่เป็นผู้มีการฉันปัจฉาภัตรเป็นปกติ ชื่อว่า ขลุปัจฉาภัตรติกะ
[อานิสงส์แห่งขลุปัจฉาภัตติกังคะ]
ส่วนอานิสงส์มีดังต่อไปนี้ คือ
(๑) เป็นผู้ไกลจากอาบัติที่ต้องเพราะฉันอนติริตตโภชนะ
(๒) ไม่มีแน่นท้อง
(๓) ไม่มีการสั่งสมอามิส
(๔) (ฉันแล้ว) ไม่ต้องแสวงหาอีก
(๕) มีความประพฤติสมควรแก่ธุตธรรม มีความมักน้อยเป็นต้น แล.