มีข้อยกเว้นเรื่องบิณฑบาตไหม
น้องที่ทำงานเล่าให้ฟังว่า มีพระรูปหนึ่งทำให้เขาเกิดศรัทธาเพราะขนาดฝนตก ท่านก็ออกมาบิณฑบาต จึงขอเรียนถามว่าหากฝนตกในยามเช้าซึ่งเป็นเวลาที่พระจะออกมาบิณฑบาต แล้วท่านไม่ได้ออกมาให้ชาวบ้านใส่บาตร กับกรณีที่ท่านออกมาบิณฑบาตตามปกติ กรณีไหนสมควรกว่ากัน (และมีข้อยกเว้นเรื่องพระภิกษุไม่ต้องบิณฑบาตในพระวินัยหรือไม่)
ขอบพระคุณค่ะ
ตามหลักพระวินัยมีว่า พระภิกษุสะสมอาหารไม่ได้ เมื่อรับวันนี้ก็ฉันได้เพียงวันนี้ไม่เกินเที่ยงวัน จะเก็บไว้ฉันวันต่อไปไม่ได้ วันต่อไปก็ต้องไปแสวงหาอาหารอีกฝนจะตกหรือไม่ตกก็ต้องไป เว้นไว้แต่มีผู้นิมนต์ไว้ เพราะการดำรงชีวิตจะต้องมีอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงร่างกาย อนึ่ง ขณะที่ฝนตกท่านไปเที่ยวบิณฑบาต โดยกลางร่ม เพื่อป้องกันจีวรเปียก ย่อมไม่ผิดพระวินัยครับ
พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต ให้พระภิกษุสวมรองเท้าได้ ถ้าต้องเดินทางไกล หรือถ้าแดดร้อนมาก ก็กางร่มได้ ค่ะ
อ้างถึงคำตอบของท่าน prachern.s
อนึ่งขณะที่ฝนตกท่านไปเที่ยวบิณฑบาต โดยกางร่ม เพื่อป้องกันจีวรเปียก ย่อมไม่ผิดพระวินัยครับ นั้น
รบกวนท่านกล่าวอ้างให้เห็นถึงที่มาที่ไปด้วย เจอฝนตอนเช้าบ่อยมาก เท่าที่พอทราบมาบ้างว่า พระศาสดาทรงอนุญาตเพียงในวัดหรืออุปจารของวัดเท่านั้น เว้นแต่หากภิกษุนั้นป่วยอยู่ หากโดนฝนอาจไม่สบายมากขึ้น จึงทรงอนุญาตให้ใช้ร่มได้โดยทรงใช้คำว่า "เพื่อมิให้อาพาธกำเริบ"
เจริญพร
กราบเรียนพระคุณเจ้าที่เคารพ
ที่กระผมอ้างมานั้นเป็นข้อความจากอรรถกถา มีที่มาดังนี้
พระวินัยปิฎก จุลวรรค เล่ม ๗ ภาค ๒ - หน้าที่ 96
วินิจฉัยในคำว่า คิลานสฺส ฉตฺตํ นี้ พึงทราบดังนี้: -
ภิกษุใด มีความร้อนในกาย หรือมีความกลุ้มใจ หรือมีตาฟางก็ดีหรืออาพาธบางชนิดอย่างอื่น ที่เว้นร่มเสีย ย่อมเกิดขึ้นภิกษุนั้น ควรกางร่มในบ้านหรือในป่า.
อนึ่ง เมื่อฝนตก จะกางร่มเพื่อรักษาจีวร และในที่ควรกลัวสัตว์ร้ายและโจร จะกางร่มเพื่อป้องกันตนบ้าง ก็ควร ส่วนร่มที่ทำด้วยใบไม้ใบเดียว ควรในที่ทั้งปวงทีเดียว..
เจริญพร
ขอบคุณมาก ที่กรุณาชี้ให้เห็นถึง ที่มาที่ไปของการใช้ร่ม ที่ทรงอนุญาตไว้ ความที่ท่านขยันค้นคว้านั้น แสดงถึงความเป็นผู้ใฝ่เรียนโดยแท้ ทั้งยังได้เผื่อแผ่ความรู้อันมีที่มาที่ไปนี้ สู่ผู้ที่ยังไม่รู้ ให้ได้รู้ นับเป็นการให้ที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ
เจริญพร
พระ ร.ต.ศลิษฏ์ เมตฺติโก
วัดนาวง ปทุมธานี