ว่าด้วยสถานที่และข้อปฏิบัติที่ดีงาม [มหากัสสปเถรคาถา]
[เล่มที่ 53] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔ - หน้าที่ 334
เถรคาถา จัตตาลีสนิบาต
มหากัสสปเถรคาถา
ว่าด้วยสถานที่และข้อปฏิบัติที่ดีงาม
[๓๙๘] ผู้มีปัญญาเห็นว่า ไม่ควรอยู่คลุกคลีด้วยหมู่ เพราะเป็นเหตุทำใจให้ฟุ้งซ่านได้สมาธิโดยยาก การสงเคราะห์ชนต่างๆ เป็นความลำบากดังนี้ จึงไม่ชอบใจหมู่คณะ
นักปราชญ์ไม่ควรเกี่ยวข้องกับตระกูลทั้งหลาย เพราะเป็นเหตุทำใจให้ฟุ้งซ่านได้สมาธิโดยยาก ผู้ที่เกี่ยวข้องกับตระกูลนั้น ย่อมต้องขวนขวายในการเข้าไปสู่ตระกูล มักติดรสอาหาร ย่อมละทิ้งประโยชน์อันจะนำความสุขมาให้นักปราชญ์ได้กล่าวการกราบไหว้และการบูชาในตระกูลทั้งหลายว่าเป็นเปือกตม และเป็นลูกศรที่ละเอียดถอนได้ยากบุรุษผู้เลวทรามย่อมละสักการะได้ยากยิ่ง
เราลงจากเสนาสนะแล้ว ก็เข้ารูปบิณฑบาตยังนคร เราได้เข้าไปหาบุรุษโรคเรื้อน ผู้กำลังบริโภคอาหารด้วยความอ่อนน้อม บุรุษโรคเรื้อนนั้นได้น้อมเข้ามาซึ่งคำข้าวด้วยมือโรคเรื้อน เมื่อเขาใส่คำข้าวลงนิ้วมือของเขาก็ขาดตกลงในบาตรของเรานี้ เราอาศัยชายคาเรือนฉันข้าวนั้นอยู่ ในเวลาที่กำลังฉันและฉันเสร็จแล้ว เรามิได้มีความเกลียดชังเลย ภิกษุใดไม่ดูหมิ่นปัจจัยทั้งสี่ คืออาหารบิณฑบาตที่จะพึงลุกขึ้นยืนรับ ๑ บังสุกุลจีวร ๑
เสนาสนะคือโคนไม้ ๑ ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า ๑
ภิกษุนั้นแล สามารถจะอยู่ในจาตุรทิศได้ ในเวลาแก่ภิกษุบางพวกเมื่อขึ้นเขาย่อมลำบาก แต่พระมหากัสสปะผู้เป็นทายาทของพระพุทธเจ้า เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ แม้ในเวลาแก่เป็นผู้แข็งแรงด้วยกำลังแห่งฤทธิ์ ย่อมขึ้นไปได้ตามสบาย พระมหากัสสปะผู้หมดอุปาทาน ละความกลัวภัยได้แล้ว กลับจากบิณฑบาตแล้ว ขึ้นสู่ภูเขาเพ่งฌานอยู่ พระมหากัสสปะผู้หมดอุปาทาน เมื่อสัตว์ทั้งหลายถูกไฟไหม้อยู่ เป็นผู้ดับไฟได้แล้ว กลับจากบิณฑบาตแล้ว ขึ้นสู่ภูเขาเพ่งฌานอยู่ พระมหากัสสปะผู้หมดอุปาทาน ทำกิจเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ กลับจากบิณฑบาตแล้ว ขั้นสู่ภูเขาเพ่งฌานอยู่ ภูมิภาคอันประกอบด้วยระเบียบแห่งต้นกุ่มทั้งหลาย น่ารื่นรมย์ใจ กึกก้อง
ด้วยเสียงช้างร้อง น่ารื่นรมย์ ล้วนแล้วด้วยภูเขา ย่อมทำให้เรายินดี ภูเขามีสีเขียวดุจเมฆ งดงาม มีธารน้ำเย็นใสสะอาด ดารดาษไปด้วยหญ้ามีสีเหมือนแมลงค่อมทอง ย่อมยังเราให้รื่นรมย์ ภูเขาอันสูงตระหง่านแทบจดเมฆเขียวชอุ่ม เปรียบปานดังปราสาท กึกก้องด้วยเสียงช้างร้อง น่ารื่นรมย์ยิ่งนัก ย่อมยังเราให้ยินดีภูเขาที่ฝนตกรดแล้ว มีพื้นน่ารื่นรมย์ เป็นที่อาศัยของเหล่าฤาษี เซ็งแซ่ด้วยเสียงนกยูง ย่อมยังเราให้รื่นรมย์
สถานที่เหล่านั้น เหมาะสำหรับเราผู้ยินดีในการเพ่งฌาน มีใจเด็ดเดี่ยว มีสติ เหมาะสำหรับเราผู้ใคร่ประโยชน์ รักษาตนดีแล้ว ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เหมาะสำหรับเราผู้ปรารถนาความผาสุก มีใจเด็ดเดี่ยว เหมาะสำหรับเราผู้ปรารถนาประกอบความเพียร มีใจแน่วแน่ ศึกษาอยู่ภูเขาที่มีสีดังดอกผักตบ ปกคลุมด้วยหมู่เมฆบนท้องฟ้าเกลื่อนกล่นด้วยหมู่นกต่างๆ ย่อมยังเราให้รื่นรมย์ ภูเขาอันไม่เกลื่อนกล่นด้วยผู้คน มีแต่หมู่เนื้ออาศัย ดารดาษด้วยหมู่นกต่างๆ ย่อมยังเราให้รื่นรมย์ ภูเขาที่มีน้ำใสสะอาด มีแผ่นหินเป็นแท่งทึบ เกลื่อนกล่นด้วยค่างและมฤคชาติ ดารดาษไปด้วยสาหร่าย ย่อมยังเราให้รื่นรมย์ เราผู้มีจิตตั้งมั่น พิจารณาเห็นธรรมโดยชอบ ย่อมไม่มี
ความยินดีด้วยดนตรีเครื่อง ๕ เช่นนั้น ภิกษุไม่พึงทำการงานให้มากนัก พึงเว้นคนผู้มิใช่กัลยาณมิตรเสีย ไม่ควรขวนขวายในลาภผล ท่านผู้ปฏิบัติเช่นนั้น ย่อมจะต้องขวนขวายและติดในรสอาหาร ย่อมละทิ้งประโยชน์อันจะนำความสุขมาให้ ภิกษุไม่พึงทำการงานให้มากนัก พึงเว้นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เสีย เมื่อภิกษุขวนขวายในการงานมาก ก็จะต้องเยียวยาร่างกายลำบาก ผู้มีร่างกายลำบากนั้น ย่อมไม่ได้ประสบความสงบใจ ภิกษุไม่รู้สึกตนด้วยเหตุสักว่าการท่องบ่นพระพุทธวจนะ ย่อมเที่ยวชูคอ สำคัญตนประเสริฐกว่าผู้อื่น ผู้ใดไม่ประเสริฐ เป็นพาลแต่สำคัญตนว่าประเสริฐกว่าเขา เสมอเขา นักปราชญ์ทั้งหลายย่อมไม่สรรเสริญผู้นั้น ซึ่งเป็นผู้มีใจกระด้างเลย ผู้ใดไม่หวั่นไหวเพราะมานะ ๓ อย่าง ที่ถือว่าตัวเราเป็นผู้ประเสริฐกว่าเขา ๑ เสมอเขา ๑ เลวกว่าเขา ๑
นักปราชญ์ทั้งหลายย่อมสรรเสริญผู้นั้นแหละว่า เป็นผู้มีปัญญา มีวาจาจริง ตั้งมั่นดีแล้วในศีลทั้งหลาย และว่าประกอบด้วยความสงบใจ ภิกษุใดไม่มีความเคารพในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้เหินห่างจากพระสัทธรรม เหมือนฟ้ากับดิน ฉะนั้น
ภิกษุเหล่าใดเข้าไปตั้งหิริและโอตตัปปะไว้ชอบทุกเมื่อ มีพรหมจรรย์อันงอกงาม ภิกษุเหล่านั้นมีภพใหม่สิ้นแล้ว ภิกษุผู้ยังมีใจฟุ้งซ่าน กลับกลอก ถึงจะนุ่งห่มผ้าบังสุกุล ภิกษุนั้นย่อมไม่งดงามด้วยผ้าบังสุกุลนั้น เหมือนกับวานรคลุมด้วยหนังราชสีห์ ฉะนั้น
ส่วนภิกษุผู้มีใจไม่ฟุ้งซ่าน ไม่กลับกลอก มีปัญญาเครื่องรักษาตน สำรวมอินทรีย์ ย่อมงดงามเพราะผ้าบังสุกุล ดังราชสีห์ในถ้ำ ฉะนั้น เทพเจ้าผู้มีฤทธิ์ มีเกียรติยศเป็นอันมากประมาณหมื่น และพรหมทั้งปวงได้พากันมายืนประนมอัญชลี นอบน้อมท่านพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ผู้มีปัญญามาก ผู้มีฌานใหญ่ มีใจตั้งมั่น เปล่งวาจาว่า ข้าแต่ท่านบุรุษอาชาไนย ขอนอบน้อมแต่ท่าน ข้าแต่ท่านผู้เป็นอุดมบุรุษ ขอนอบน้อมแด่ท่าน ท่านย่อมเข้าฌานอยู่เพราะอาศัยอารมณ์ใด ข้าพเจ้าทั้งหลายย่อมรู้ไม่ถึงอารมณ์เหล่านั้นของท่าน น่าอัศจรรย์จริงหนอ วิสัยของท่านผู้รู้ทั้งหลายลึกซึ้งยิ่งนัก ข้าพเจ้าทั้งหลายผู้มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้ นับว่าเป็นผู้เฉียบแหลมดุจนายขมังธนู ก็ยังรู้ไม่ถึง ความยิ้มแย้มได้ปรากฏมีแก่ท่านพระกัปปินเถระ เพราะได้เห็นท่านพระสารีบุตรผู้ควรแก่ สักการบูชา อันหมู่ทวยเทพบูชาอยู่เช่นนั้นในเวลานั้น ตลอดทั่วพุทธอาณาเขตยกเว้นแต่สมเด็จพระมหามุนีองค์เดียวเท่านั้น เราเป็นผู้ประเสริฐสุดในทางธุดงคคุณ ไม่มีใครเทียมเท่าเลย เราเป็นผู้คุ้นเคยกับพระบรมศาสดา เราทำคำสอนของพระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว ปลงภาระอันหนักลงแล้ว ถอนตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพขึ้นได้แล้ว พระสมณโคดมผู้ทรงพระคุณหาปริมาณมิได้ มีพระทัยน้อมไปในเนกขัมมะ ทรงสลัดภพทั้ง ๓ ออกได้แล้ว ย่อมไม่ทรงติดอยู่ด้วยจีวร บิณฑบาตและเสนาสนะ เปรียบเหมือนบัวไม่ติดอยู่ด้วยน้ำ ฉะนั้น
พระองค์ทรงเป็นจอมนักปราชญ์ มีสติปัฏฐานเป็นพระคอ มีศรัทธาเป็นพระหัตถ์ มีปัญญาเป็นพระเศียร ทรงพระปรีชามาก ทรงดับเสียแล้วซึ่งกิเลสแลกองทุกข์ตลอดกาลทุกเมื่อ
จบ มหากัสสปเถรคาถา