รสอะไรก็ไม่เท่ารสพระธรรม
[เล่มที่ 50] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ ๔๒๙
[๒๒๘] ได้ยินว่า พระปริปุณณกเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า "สุธาโภชน์ (ข้าวที่สะอาด) มีรสตั้งร้อยที่เราบริโภคในวันนี้ ก็ไม่เหมือนอมตธรรมที่เราได้บริโภคพระธรรมอันพระพุทธเจ้า- ผู้โคตมโคตรทรงเห็นซึ่งธรรมหาประมาณมิได้ ทรงแสดงไว้แล้ว"
(ข้อความบางตอนจาก ...พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา ปริปุณณกเถรคาถา)
เทียบกันไม่ได้เลยระหว่างรสอาหารกับรสพระธรรม โดยเฉพาะรสของอมตธรรม คือธรรมที่ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด) บุคคลผู้ที่เห็นรสพระธรรมว่าเลิศกว่ารสทั้งปวง นั้น ก็ต้องเป็นผู้ที่ฟังธรรมแล้วก็พิจารณา เข้าใจซาบซึ้ง ประพฤติปฏิบัติตาม และรู้ตามว่า สภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเป็นความจริงอย่างนั้นๆ ดังข้อความจากพระไตรปิฎกที่ได้ยกมา เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม จึงมีประโยชน์มาก ที่จะทำให้ผู้ศึกษาได้พิจารณาสภาพธรรมที่ปรากฏให้ละเอียดขึ้น ลึกซึ้งขึ้น เพื่อการประพฤติปฏิบัติจะได้ถูกต้องขึ้น รู้ความละเอียดของธรรมชัดเจนยิ่งขึ้น จนกระทั่งเป็นปัญญาที่ประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้. ในครั้งนั้นพระปริปุณณกเถระได้รับรสพระธรรมที่
พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ สมัยนี้การได้คบหาสัตบุรุษเพื่อฟังธรรมรับรสพระธรรมจริงๆ เป็นสิ่งสำคัญเพราะพระธรรมนั้นละเอียด ลึกซึ้ง รู้ตามได้ยาก จึงต้องคบสัตบุรุษ ขณะที่คบสัตบุรุษ...ขณะนั้นกำลังคบหาพระธรรม
การได้นั่งใกล้ท่านอาจารย์ ได้ฟังพระธรรมที่ท่านบรรยายทำให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละน้อยๆ ได้มีโอกาสได้รับรสพระธรรมเพิ่มขึ้นทีละน้อยๆ
...กราบอนุโมทนาสัตบุรุษอย่างท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์...