อวิชชาสูตร - โพชฌงค์ ๗ เป็นอาหารของวิชชาวิมุตติ - ๑๘ ก.ย. ๒๕๕๓

 
บ้านธัมมะ
วันที่  13 ก.ย. 2553
หมายเลข  17165
อ่าน  2,835

[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต เล่ม ๓๘ หน้าที่ ๑๙๗ - ๒๐๐

ยมกวรรคที่ ๒

๑. อวิชชาสูตร

ว่าด้วยโพชฌงค์ ๗ เป็นอาหารของวิชชาวิมุตติ

[๖๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เงื่อนต้นแห่งอวิชชาย่อมไม่ปรากฏ ในกาลก่อนแต่นี้ อวิชชาไม่มี แต่ภายหลังจึงมี เพราะเหตุนั้น เราจึงกล่าวคำนี้อย่างนี้ว่า ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น อวิชชา มีข้อนี้เป็นปัจจัย จึงปรากฏ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวอวิชชาว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหารก็อะไรเป็นอาหารของอวิชชา ควรจะกล่าวว่า นิวรณ์ ๕ แม้นิวรณ์ ๕ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของนิวรณ์ ๕ ควรกล่าวว่า ทุจริต ๓ แม้ทุจริต ๓ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของทุจริต ๓ ควรกล่าวว่า การไม่สำรวมอินทรีย์ แม้การไม่สำรวมอินทรีย์ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารแห่งการไม่สำรวมอินทรีย์ ควรกล่าวว่าความไม่มีสติสัมปชัญญะ แม้ความไม่มีสติสัมปชัญญะ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของความไม่มีสติสัมปชัญญะ ควรกล่าวว่า การกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย แม้การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย ควรกล่าวว่า ความไม่มีศรัทธา แม้ความไม่มีศรัทธา เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของความไม่มีศรัทธา ควรกล่าวว่า การไม่ฟังสัทธรรม แม้การไม่ฟังสัทธรรม เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการไม่ฟังสัทธรรม ควรกล่าวว่า การไม่คบสัปบุรุษ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังนี้ การไม่คบสัปบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการไม่ฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์, การไม่ฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมยังความไม่มีศรัทธาให้บริบูรณ์, ความไม่มีศรัทธาที่บริบูรณ์ ย่อมยังการทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายให้บริบูรณ์, การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายที่บริบูรณ์ ย่อมยังความไม่มีสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์,ความไม่มีสติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมยังการไม่สำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์, การไม่สำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ ย่อมยังทุจริต ๓ ให้บริบูรณ์, ทุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังนิวรณ์ ๕ ให้บริบูรณ์, นิวรณ์ ๕ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังอวิชชาให้บริบูรณ์ อวิชชานี้มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเมื่อฝนเม็ดหยาบตกลงเบื้องบนภูเขา เมื่อฝนตกหนักๆ อยู่ น้ำนั้นไหลไปตามที่ลุ่ม ย่อมยังซอกเขาลำธาร และห้วยให้เต็ม ซอกเขา ลำธาร และห้วยที่เต็ม ย่อมยังหนองให้เต็ม หนองที่เต็มย่อมยังบึงให้เต็มบึงที่เต็มย่อมยังแม่น้ำน้อยให้เต็ม แม่น้ำน้อยที่เต็มย่อมยังแม่น้ำใหญ่ให้เต็ม แม่น้ำใหญ่ที่เต็มย่อมยังมหาสมุทรสาครให้เต็ม มหาสมุทรสาครนั้น มีอาหารอย่างนี้ และเต็มเปี่ยมอย่างนี้ แม้ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การไม่คบสัปบุรุษที่บริบูรณ์ย่อมยังการไม่ฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์ ... นิวรณ์ ๕ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังอวิชชาให้บริบูรณ์อวิชชานี้มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้ ฉันนั้นเหมือนกันแล.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าววิชชาวิมุตติ ว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของวิชชาวิมุตติ ควรกล่าวว่า โพชฌงค์ ๗ แม้โพชฌงค์ ๗ เราก็ควรกล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของโพชฌงค์ ๗ ควรกล่าวว่า สติปัฏฐาน ๔ แม้สติปัฏฐาน ๔ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของสติปัฏฐาน ๔ ควรกล่าวว่า สุจริต ๓ แม้สุจริต ๓ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของสุจริต ๓ ควรกล่าวว่า การสำรวมอินทรีย์ แม้การสำรวมอินทรีย์ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการสำรวมอินทรีย์ ควรกล่าวว่า สติสัมปชัญญะ แม้สติสัมปชัญญะ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของสติสัมปชัญญะ ควรกล่าวว่า การทำไว้ในใจโดยแยบคาย แม้การทำไว้ในใจโดยแยบคาย เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหารก็อะไรเป็นอาหารของการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ควรกล่าวว่า ศรัทธา แม้ศรัทธา เราก็กล่าวว่าอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของศรัทธา ควรกล่าวว่า การฟังสัทธรรม แม้การฟังสัทธรรม เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการฟังสัทธรรม ควรกล่าวว่าการคบสัปบุรุษ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังนี้ การคบสัปบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์, การฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ย่อมยังศรัทธาให้บริบูรณ์, ศรัทธาที่บริบูรณ์ ย่อมยังการทำไว้ในใจโดยแยบคายให้บริบูรณ์, การทำไว้ในใจโดยแยบคายที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์, สติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมยังการสำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์, การสำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์,สุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์, สติปัฏฐาน ๔ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์, โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังวิชชาวิมุตติให้บริบูรณ์ วิชชาวิมุตตินี้มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเมื่อฝนเม็ดหยาบตกลงเบื้องบนภูเขา เมื่อฝนตกหนักๆ อยู่ น้ำนั้นไหลไปตามที่ลุ่ม ย่อมยังซอกเขา ลำธารและห้วยให้เต็ม ซอกเขาลำธาร และห้วยที่เต็ม ย่อมยังหนองให้เต็ม หนองที่เต็มย่อมยังบึงให้เต็ม บึงที่เต็มย่อมยังแม่น้ำน้อยให้เต็ม แม่น้ำน้อยที่เต็ม ย่อมยังแม่น้ำใหญ่ให้เต็ม แม่น้ำใหญ่ที่เต็มย่อมยังมหาสมุทรสาครให้เต็ม มหาสมุทรสาครนั้นมีอาหารอย่างนี้ และเต็มเปี่ยมอย่างนี้แม้ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การคบสัปบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์ ... โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังวิชชาวิมุตติให้บริบูรณ์ วิชชาวิมุตตินี้มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้ ฉันนั้นเหมือนกันแล.

จบอวิชชาสูตรที่ ๑.

ยมกวรรคที่ ๒

อรรถกถาอวิชชาสูตรที่ ๑ วรรคที่ ๒

อวิชชาสูตรที่ ๑

พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ .-

บทว่า สาหาร ได้แก่ มีปัจจัย. บทว่า วิชฺชาวิมุตฺติ ได้แก่ ผลญาณ และสัมปยุตธรรมที่เหลือ. บทว่า โพชฺฌงฺคา ได้แก่ องค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้คือมรรค.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ups
วันที่ 13 ก.ย. 2553

ขออนุโมทนาครับ

เป็นหัวข้อที่ควรศึกษาอย่างละเอียด

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 13 ก.ย. 2553

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ข้อความโดยสรุป

อวิชชาสูตร
(ว่าด้วยโพชฌงค์ ๗ เป็นอาหารของวิชชาวิมุตติ)

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงธรรมที่เป็นเหตุเป็นผล ทั้งฝ่ายที่เป็นกุศล และฝ่ายที่เป็นกุศล โดยทรงแสดงจากผลไปหาเหตุ และ ทรงแสดงจากเหตุไปหาผลซึ่งสรุปได้ดังนี้ ทางฝ่ายกุศล

-ทรงแสดงจากผลไปหาเหตุ ดังต่อไปนี้.- เพราะอวิชชาในอดีตที่ผ่านๆ มาอย่างยาวนานในสังสารวัฏฏ์ จึงมีอวิชชาในขณะนี้ อวิชชามีนิวรณ์ ๕ เป็นอาหาร (ปัจจัย) ,นิวรณ์ ๕ มีทุจริต ๓ เป็นอาหาร, ทุจริต ๓ มีการไม่สำรวมอินทรีย์เป็นอาหาร, การไม่สำรวมอินทรีย์มีความไม่มีสติสัมปชัญญะเป็นอาหาร, ความไม่มีสติสัมปชัญญะ มีการกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย เป็นอาหาร, การกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย มีความไม่มีศรัทธาเป็นอาหาร, ความไม่มีศรัทธา มีการไม่ฟังสัทธรรมเป็นอาหาร, การไม่ฟังสัทธรรม มีการไม่คบสัปบุรุษเป็นอาหาร -ทรงแสดงจากเหตุไปหาผล ดังต่อไปนี้.- การไม่คบสัปบุรุษ ----> การไม่ฟังสัทธรรม ----> การไม่มีศรัทธา---->การกระทำไว้ในในใจโดยไม่แยบคาย ---->การไม่มีสติสัมปชัญญะ ----> การไม่สำรวมอินทรีย์ ----> ทุจริต ๓ ----> นิวรณ์ ๕ ---->อวิชชา อวิชชาย่อมบริบูรณ์ด้วยประการอย่างนี้

ทางฝ่ายกุศล

-ทรงแสดงจากผลไปหาเหตุ ดังต่อไปนี้.- วิชชาวิมุตติ (ความหลุดพ้นด้วยปัญญา) เกิดขึ้นได้เพราะมีโพชฌงค์ ๗ เป็นอาหาร (ปัจจัย) , โพชฌงค์ ๗ มีสติปัฏฐาน ๔ เป็นอาหาร, สติปัฏฐาน ๔ มีสุจริต ๓ เป็นอาหาร, สุจริต ๓ มีการสำรวมอินทรีย์เป็นอาหาร,การสำรวมอินทรีย์มีสติสัมปชัญญะเป็นอาหาร, สติสัมปชัญญะมีการกระทำไว้ในใจโดยแยบคายเป็นอาหาร, การกระทำไว้ในใจโดยแยบคายมีศรัทธาเป็นอาหาร, ศรัทธามีการฟังสัทธรรม เป็นอาหาร, การฟังสัทธรรมมีการคบสัปบุรุษเป็นอาหาร -ทรงแสดงจากเหตุไปหาผล ดังต่อไปนี้.- การคบสัปบุรุษ ----> การฟังสัทธรรม----> มีศรัทธา ---->การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ----> สติสัมปชัญญะ ----> การสำรวมอินทรีย์ ----> สุจริต ๓ ----> สติปัฏฐาน ๔ ---->โพชฌงค์ ๗ ---->วิชชาวิมุตติวิชชาวิมุตติ ย่อมบริบูรณ์ด้วยประการอย่างนี้แล. ขอเชิญคลิกอ่านข้อความต่อไปนี้เพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นครับ (เป็นประโยชน์มากครับ)

สุจริต ๓ เป็นอาหารของสติปัฏฐาน

สติปัฏฐานวิภังค์

แนวทางเจริญสติปัฏฐานในพระพุทธศาสนาสำหรับประชาชนทั่วไป สติปัฏฐาน ๔ โพชฌงค์ ๗ การขจัดนิวรณ์ ๕ สัทธาสูตร .. ศรัทธา ควรคบสัตบุรุษ การเป็นคนดีควบคู่กับการฟังธรรม ฯลฯ ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
prakaimuk.k
วันที่ 14 ก.ย. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ ต้องอ่านต้องฟังหลายๆ รอบ ซาบซึ้งมากค่ะ....

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
hadezz
วันที่ 14 ก.ย. 2553

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Jans
วันที่ 14 ก.ย. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
orawan.c
วันที่ 15 ก.ย. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ผิน
วันที่ 15 ก.ย. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
เมตตา
วันที่ 17 ก.ย. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
dron
วันที่ 18 ก.ย. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
paew_int
วันที่ 18 ก.ย. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
rajapol
วันที่ 18 ก.ย. 2553

ขอบคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 18 ก.ย. 2553

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ