ชื่อว่าธาตุ [วิสุทธิมรรคแปล]
วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 136
ธรรมใดย่อมจัด (ทำทุกข์ให้เกิดขึ้น) เหตุนี้ ธรรมนั้นจึงชื่อว่า ธาตุ (แปลว่าธรรมผู้จัดขึ้น
๑) หรือว่า ธรรมทั้งหลายใด อันสัตว์ทั้งหลายทรงไว้ (คือถือไว้) เหตุนี้ ธรรมทั้งหลายนั้น จึงชื่อว่า ธาตุ (แปลว่า ธรรมที่สัตว์ทรงไว้) หรือว่า วิธาน การตั้งไว้ (คือกฎเกณฑ์) ชื่อว่าธาตุ หรือว่า ทุกข์ อันสัตว์ทั้งหลายทรงไว้ (คือถือไว้) ด้วยธรรมชาตินั้น (เป็นเหตุ) เหตุนี้ ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่าธาตุ (แปลว่า ธรรมชาติเป็นเหตุทรง (ทุกข์) ไว้ แห่งสัตว์ทั้งหลาย) หรือว่า ทุกข์ อันสัตว์ทั้งหลายทรงไว้ (คือตั้งไว้) ในธรรมชาตินั่น เหตุนี้ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่าธาตุ แปลว่า ธรรมชาติเป็นที่อันสัตว์ทรง (ทุกข์) ไว้ จริงอยู่ ธาตุทั้งหลายที่เป็นโลกิยะ เป็นสิ่งที่ธรรมดากำหนดไว้โดยความเป็นตัวมูลเหตุ ย่อมจัดแจงสังสารทุกข์ขึ้นเป็นอเนกประการดุจธาตุ (แร่) ทั้งหลาย มีธาตุทองธาตุเงินเป็นอาทิ จัดสรรโลหะ มีทองและเงินเป็นต้นขึ้น ฉะนั้น
อนึ่ง โลกิยธาตุทั้งหลายนั้นอันสัตว์ทั้งหลายทรงไว้ หมายความว่า (ยึด) ถือไว้ ดุจภาระ (ของหนัก) อันคนทั้งหลายผู้ขนภาระ ถือ (แบกหาม) ไป ฉะนั้น อนึ่ง โลกิยธาตุนั้น เป็นแต่ทุกขวิธาน (กฎเกณฑ์แห่งทุกข์) เท่านั้น เพราะไม่เป็นไปในอำนาจ (ของใคร) อนึ่ง สังสารทุกข์ อันสัตว์ทั้งหลายตาม (ยึด) ถือไว้ ก็ด้วยธาตุทั้งหลายนั่นเป็นเหตุ อนึ่ง สังสารทุกข์นั้นที่ถูกจัดไว้แล้วอย่างนั้น สัตว์ทั้งหลายก็ทรงไว้หมายความว่า ตั้งไว้ในธาตุทั้งหลายนั่นแล ในธรรมทั้งหลายมีจักขุเป็นต้น ธรรมแต่ละข้อทรงเรียกว่าธาตุก็ด้วยอำนาจแห่งความหมาย มีความหมายว่า 'วิทหติ จัดขึ้น วิธียเต อันสัตว์ทรงไว้' เป็นต้น ตามความที่เป็นได้ ดังกล่าวมาฉะนี้
อีกนัยหนึ่ง ธาตุนี่หาเหมือนอัตตาของพวกเดียรถีย์ซึ่งมิได้มีอยู่โดยสภาวะไม่ แต่ธาตุนี่ ได้ชื่อว่าธาตุ เพราะทรงไว้ซึ่งสภาวะของตน อีกอย่างหนึ่ง คำว่า ธาตุ นั่นเป็นคำเรียกสภาวะที่เป็นนิรชีพ (ไม่มีชีพ) เท่านั้นเอง จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ทรงทำธาตุเทศนาเพื่อถอนชีวสัญญา (ความสำคัญว่าชีพ) ไว้ในพระบาลีว่า "ดูกรภิกษุ บุรุษนี้มีธาตุ ๖" ดังนี้เป็นอาทิแล ฯลฯ
สรุป ธาตุ คือ สภาพที่ทรงไว้ซึ่งสภาวของตน และสภาพที่สูญจากสัตว์ บุคคล ตัวตน
สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ