กิจของจิต [อภิธัมมัตถสังคหะ]
อภิธัมมัตถสังคหบาลี และอภิธัมมัตถวิภาวีนีฎีกา - หน้าที่ 111
ชื่อว่า กิจ ในกิจสังคหะ มี ๑๔ อย่าง ด้วยอำนาจแห่งปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ อาวัชชนกิจ ทัสสนกิจ สวนกิจ ฆายนกิจ สายนกิจ ผุสสนกิจ สัมปฏิจฉันนกิจ สันตีรณกิจ โวฏฐัพพนกิจ ชวนกิจ ตทาลัมพนกิจ และจุติกิจ ฯ บรรดากิจเหล่านั้น จิต ๑๙ คือ สันตีรณจิตที่สหรคตด้วย อุเบกขา ๒ มหาวิบากจิต ๘ และรูปาวิบากจิต ๙ (รูปาวจรวิบากจิต ๕ อรูปาวจรวิบากจิต ๔) ชื่อว่าปฏิสนธิ ภวังค์ และจุติเป็นกิจ (มีกิจ คือ ปฏิสนธิ ภวังค์ และจุติ) ฯ แต่จิตที่มีอาวัชชนะ เป็นกิจมี ๒ ฯ และจิตที่มีทัสสนะ สวนะ ฆายนะ สายนะ ผุสนะ สัมปฏิจฉันนะเป็นกิจก็มีอย่างละ ๒ เหมือนกัน ฯ จิตที่มีสันตีรณะเป็นกิจมี ๓ ฯ เฉพาะมโนทวาราวัชชนจิตให้โวฏฐัพพนกิจสำเร็จในปัญจทวาร (ย่อมยังจิตที่มีโวฏฐัพพะเป็นกิจให้สำเร็จในปัญจทวาร) จิตที่เป็นกุศล อกุศล วิบาก และกิริยา ๕๕ เว้นอาวัชชนจิตทั้งสองเสีย มีชวนะเป็นกิจ ฯ จิต ๑๑ คือ มหาวิบาก ๘ และสันตีรณจิต ๓ มีตทาลัมพนะเป็นกิจ ฯ ก็บรรดาจิต ๑๑ เหล่านั้น สันตีรณจิตที่สหรคตด้วยอุเบกขา ๒ ชื่อว่ามีกิจ ๕ อย่าง ด้วยสามารถแห่งปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ ตทาลัมพนะ และสันตีรณะ ฯ
มหาวิบากจิต ๘ ชื่อว่ามีกิจ ๔ อย่าง ด้วยอำนาจแห่งปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ และตทาลัมพนะ ฯ มหัคคตวิบากจิต ๙ ชื่อว่ามีกิจ ๓ อย่างด้วยอำนาจแห่งปฏิสนธิ ภวังค์ และจุติ ฯ สันตีรณจิตที่สหรคตด้วยโสมนัสมีกิจ ๒ ด้วยอำนาจแห่งสันตีรณกิจ และตทาลัมพนกิจ ฯ โวฏฐัพพนจิตมีกิจ ๒ เหมือนกัน ด้วยอำนาจแห่งโวฏฐัพพนกิจ และอาวัชชนกิจ ฯ ส่วนชวนจิต มโนธาตุ ๓ และทวิปัญจวิญญาณที่เหลือแม้ทั้งหมด มีกิจเดียว ตามควรแก่การสมภพ ฉะนี้แล ฯ
สังคหคาถา
จิตตุปบาท ชื่อว่าปฏิสนธิเป็นต้น พระผู้มีพระภาคทรงประกาศไว้ ๑๔ อย่าง โดยความต่างแห่งกิจ และ ๑๐ อย่าง โดยความต่างแห่งฐาน ฯ บัณฑิตพึงแสดงจิตที่มีกิจ ๑ และฐาน ๑ ที่มีกิจ ๒ และฐาน ๒ ที่มีกิจ ๓ และฐาน ๓ ที่มีกิจ ๔ และฐาน ๔ และที่มีกิจ ๕ และฐาน ๕ คือ จิต ๖๘-๒-๙-๘ และ ๒ ตามลำดับ ฯ