มิจฉาทิฏฐิทำให้วนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์

 
ธรรมทัศนะ
วันที่  28 ก.ค. 2549
หมายเลข  1723
อ่าน  5,069

จริงอยู่ อนันตริยกรรม ทั้งหลาย ชื่อว่า มีโทษมาก มิจฉาทิฏฐิ นั่นเทียว มีโทษมากกว่านั้น อนันตริยกรรมยังกำหนดโทษได้ แต่การกำหนดนิยตมิจฉาทิฏฐิย่อมไม่มี การออกจากภพย่อมไม่มี กรรมใดๆ ก็ตามที่ทำแล้วย่อมให้ผลแต่ความเห็นผิดนี้ ตราบใดที่ยังไม่หมดสิ้น และไม่อบรมความเห็นถูกผู้นั้นย่อมต้องวนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์ ไม่มีกำหนดได้ว่า เมื่อไรจึงจะพ้น


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
pornchai.s
วันที่ 28 ก.ค. 2549

อนันตริยกรรมฝ่ายอกุศล มี ๕ คือ ฆ่าบิดา ๑ ฆ่ามารดา ๑ ฆ่าพระอรหันต์ ๑ ทำให้พระพุทธเจ้าห้อพระโลหิต ๑ กระทำสังฆเภท (ทำสงฆ์ให้แตกกัน) ๑ ผู้กระทำ จะตก อเวจีมหานรก (นรกที่เป็นไฟเผาอยู่ตลอดเวลา) ทันทีที่ตาย เป็นเวลานาน ๑ กัปป์ แต่นิยตมิจฉาทิฏฐิจะตกในโลกันตริกนรก (นรกแห่งความมืด เหน็บหนาว และน้ำกรด) นับประมาณมิได้ แม้จักรวาล จะแตกทำลายไป ผู้ นั้นก็จะปฏิสนธิในนรกโลกันต์ของจักรวาลอื่นต่อไป

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
saowanee.n
วันที่ 29 ก.ค. 2549

นิยตมิจฉาทิฏฐิ หมายถึง ความเห็นผิดอันดิ่งลงแล้ว คือ เชื่อว่าบุญไม่มี บาปไม่มี ผลของบุญและบาปไม่มี เหล่านี้เป็นต้น เมื่อมีความเห็นผิดเช่นนี้ จึงไม่สามารถที่จะออกจากสังสารวัฏฏ์ได้

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chorswas.n
วันที่ 29 ก.ค. 2549

อนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
somjad
วันที่ 29 ก.ค. 2549

เคยได้ยินแต่อนันตริยกรรมเป็นกรรมหนักที่สุดครับ ต้องตกอเวจีมหานรก ที่ว่ากรรมหนักกว่านี้มี ไม่ทราบปรากฎหลักฐานที่ไหน ช่วยอนุเคราะห์ด้วยครับ แล้วความเห็นผิดขนาดไหนจึงชื่อว่า นิยตมิจฉาทิฏฐิ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
prapas.p
วันที่ 30 ก.ค. 2549

[เล่มที่ 40] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท

เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 198

พระเทวทัตถูกธรณีสูบ

พวกสาวกพาพระเทวทัตมา วางเตียงลงริมฝั่งสระโบกขรณีใกล้พระเชตวันแล้ว ต่างก็ลงไปเพื่อจะอาบน้ำในสระโบกขรณี แม้พระเทวทัตแล ลุกจากเตียงแล้วนั่งวางเท้าทั้งสองบนพื้นดิน เท้าทั้งสองนั้นก็จมแผ่นดินลง เธอจมลงแล้วโดยลำดับเพียงข้อเท้า เพียงเข่า เพียงเอว เพียงนม จนถึงคอ ในเวลาที่กระดูกคางจดถึงพื้นดิน ได้กล่าวคาถานี้ว่า "ข้าพระองค์ขอถึงพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้เป็นบุคคลเลิศ เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ เป็นสารถีฝึกนรชน มีพระจักษุรอบคอบ มีพระลักษณะ แต่ละอย่าง) เกิดด้วยบุญตั้งร้อย ว่าเป็นที่พึ่ง ด้วย กระดูกเหล่านี้พร้อมด้วยลมหายใจ"

นัยว่า "พระตถาคตเจ้าทรงเห็นฐานะนี้ จึงโปรดให้พระเทวทัตบวช ก็ถ้าพระเทวทัตนั้น จักไม่ได้บวชไซร้ เป็นคฤหัสถ์ จักได้ทำกรรมหนัก จักไม่ได้อาจทำปัจจัยแห่งภพต่อไป ก็แลครั้นบวชแล้ว จักทำกรรมหนักก็จริง (ถึงดังนั้น) ก็จะสามารถทำปัจจัยแห่งภพต่อไปได้" เพราะฉะนั้น พระศาสดาจึงโปรดให้เธอบวชแล้ว

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
prapas.p
วันที่ 30 ก.ค. 2549

[เล่มที่ 40] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย

คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 199

พระเทวทัตเกิดในอเวจีถูกตรึงด้วยหลาวเหล็ก

จริงอยู่ พระเทวทัตนั้น จักเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า นามว่า อัฏฐิสสระ ในที่สุดแห่งแสนกัลป์แต่กัลป์นี้ พระเทวทัตนั้นจมดินไปแล้วเกิดในอเวจี และเธอเป็นผู้ไหวติงไม่ได้ ถูกไฟไหม้อยู่ เพราะเป็นผู้ผิดในพระพุทธเจ้าผู้ไม่หวั่นไหว สรีระของเธอสูงประมาณ ๑๐๐ โยชน์เกิดในก้นอเวจีซึ่งมีประมาณ ๓๐๐ โยชน์ ศีรษะสอดเข้าไปสู่แผ่นเหล็กในเบื้องบนจนถึงหมวกหู เท้าทั้งสองจมแผ่นดินเหล็กลงไปข้างล่างจนถึงข้อเท้า หลาวเหล็กมีปริมาณเท่าลำตาลขนาดใหญ่ ออกจากฝาด้านหลัง แทงกลางหลังทะลุหน้าอก ปักฝาด้านหน้า อีกหลาวหนึ่ง ออกจากฝาด้านขวา แทงสีข้างเบื้องขวา ทะลุออกสีข้างเบื้องซ้าย ปักฝาด้านซ้าย อีกหลาวหนึ่ง ออกจากแผ่นข้างบน แทงกระหม่อมทะลุออกส่วนเบื้องต่ำ ปักลงสู่แผ่นดินเหล็ก. พระเทวทัตนั้น เป็นผู้ไหวติงไม่ได้ อันไฟไหม้ในอเวจีนั้น ด้วยประการอย่างนี้.

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
prapas.p
วันที่ 30 ก.ค. 2549

ท่านพระเทวฑัตได้ทำอนันตริยกรรม ตกอเวจีมหานรกแน่ แต่ ทิฏฐิความเห็นผิดไม่มีกำลังจนเป็น นิยตมิจฉา (ความเห็นผิดมั่นคงจนดิ่งลึกลง) แม้ชื่อว่ากรรมหนักที่สุด แต่ความเห็นถูกมีกำลังเกิดจากการสะสมปัญญามาแล้วในอดีต ท่านพระเทวฑัตจึงสามารถเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าได้ ในทึ่สุดแห่งแสนกัลป์แต่นี้ เพราะฉะนั้นคำว่าอนันตริยกรรม เป็นกรรมหนักที่สุดแล้วไม่ผิด แต่ไม่ใช่ว่าอกุศลเจตนาประเภทนี้จะมีกำลังจนเป็นพละได้ ซึ่งต่างจากกุศลที่เป็นวิวัฏฏะ (บารมี) มีกำลังมากกว่าสามารถสะสมเป็นพละ (โพธิปักขิยธรรม) เช่น ท่านพระเทวฑัตเมื่อสติเกิดระลึกถึงพุทธคุณและได้บูชาด้วยกระดูกคางและลมหายใจ กุศลเหล่านี้ไม่ได้หายไปใหน เป็นธรรมะ เป็นอนัตตา เมื่อเจตนาของอนันตริยกรรมกั้นไว้ตามกำลังแม้หนักที่สุด แต่เมื่อเจตนาซึ่งเป็นกรรมปัจจัย หมดสภาพของกรรมไม่ให้อกุศลวิบากเกิด แต่กุศลที่เป็นปัญญาบารมีมีกำลังอยู่ก็สะสมการเจริญสติปัฏฐานไปอีก ดังจะเห็นได้ว่าพุทธพยากรณ์ว่าพระเทวทัตนั้น จักเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า นามว่า อัฏฐิสสระ ในที่สุดแห่งแสนกัลป์แต่กัลป์นี้

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
prapas.p
วันที่ 30 ก.ค. 2549

[เล่มที่ 11] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 389

ก็บุคคลเหล่าใดถือลัทธิของเจ้าลัทธิเหล่านั้น นั่งสาธยายพิจารณาในที่พักกลางคืนในที่พักกลางวัน บุคคลเหล่านั้นย่อมมีมิจฉาสติจดจ่ออยู่ในอารมณ์นั้นว่า ทำบาปไม่เป็นอันทำ เหตุไม่มี ปัจจัยไม่มี สัตว์ตายแล้วขาดสูญ ดังนี้ ย่อมมีจิตแน่วแน่ ชวนะทั้งหลายย่อมแล่นไป ในปฐมชวนะ ยังพอเยียวยาได้ ในชวนะที่ ๒ เป็นต้นก็เช่นกัน ครั้นแน่วแน่ในชวนะที่ ๗ แม้พระพุทธเจ้าทั้งหลายก็ทรงเยียวยาไม่ได้ มีอันไม่กลับ เป็นธรรมดา เช่น สามเณรอริฏฐะ และ ภิกษุกัณฏกะ ในนิยตมิจฉาทิฏฐิทั้ง ๓ นั้น บางคนดิ่งลงสู่ทัศนะเดียว บางคน ๒ ทัศนะ บางคน ๓ ทัศนะก็มี เมื่อดิ่งลงไปในทัศนะเดียวก็ดี ใน ๒๓ ทัศนะก็ดี ย่อมเป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิ ห้ามทางสวรรค์และห้ามทางนิพพาน ไม่ควรไปสวรรค์แม้ในภพที่ติดต่อกันนั้น จะกล่าวไปไยถึงนิพพานเล่า สัตว์นี้ชื่อว่าเป็นตอวัฏฏะ เป็นผู้เฝ้าแผ่นดิน โดยมากทิฏฐิเห็นปานนี้ ออกจากภพไม่ได้

(ดูเพิ่มเติมได้ในสามัญผลสูตร และ อรรถกถา)

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
prapas.p
วันที่ 30 ก.ค. 2549

[เล่มที่ 4] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ทุติยภาค เล่ม ๒ - หน้าที่ 721

อริฏฐสิกขาบทที่ ๘

ในสิกขาบทที่ ๘ มีวินิจฉัยดังนี้:

[ว่าด้วยธรรมกระทำอันตรายแก่ผู้เสพ]

ธรรมเหล่าใด ย่อมทำอันตรายแก่สวรรค์และนิพพาน เพราะเหตุนั้นธรรมเหล่านั้นชื่อว่า อันตรายิกธรรม อันตรายิกธรรมเหล่านั้นมี ๕ อย่างด้วยอำนาจ กรรม กิเลส วิบาก อุปวาท และอาณาวีติกกมะ

บรรดาอันตรายิกธรรมมีกรรมเป็นต้นนั้น ธรรมคือ อนันตริยกรรม ๕ อย่าง ชื่อว่า อันตรายิกธรรม คือ กรรม ภิกขุนีทูสกกรรม ก็อย่างนั้น แต่ภิกขุนีทูสกกรรมนั้น ย่อมทำอันตรายแก่พระนิพพานเท่านั้น หาทำอันตรายแก่สวรรค์ไม่

ธรรม คือ นิยตมิจฉาทิฏฐิ ชื่อว่า อันตรายิกธรรม คือ กิเลส

ธรรม คือ ปฏิสนธิของพวกบัณเฑาะก์ ดิรัจฉาน และอุภโตพยัญชนก ชื่อว่า อันตรายิกธรรมคือวิบาก การเข้าไปว่าร้ายพระอริยเจ้า ชื่อว่า อันตรายิกธรรม คือ อุปวาทะ แต่อุปวาทันตรายิกธรรมเหล่านั้น เป็นอันตรายตลอดเวลาที่ยังไม่ให้พระอริยเจ้าทั้งหลายอดโทษเท่านั้น หลังจากให้ท่านอดโทษไป หาเป็นอันตรายไม่

อาบัติที่แกล้งต้อง ชื่อว่า อันตรายิกธรรม คือ อาณาวีติกกมะ อาบัติแม้เหล่านั้น ก็เป็นอันตรายตลอดเวลาที่ภิกษุผู้ต้องยังปฏิญญาความเป็นภิกษุหรือยังไม่ออก หรือยังไม่แสดงเท่านั้น ต่อจากทำคืนตามกรณีนั้นๆ แล้วหาเป็นอันตรายไม่

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
prapas.p
วันที่ 30 ก.ค. 2549

เมื่อธรรมคือ นิยตมิจฉาทิฏฐิ ชื่อว่า อันตรายิกธรรม คือ กิเลส. ก็ไม่ปะปนกับ กรรม ที่เป็นอนันตริยกรรม เพราะเมื่อบุคคลที่ไม่ได้ฟังธรรมของพระอริยะ ไม่มีปัญญา บารมี กิเลสประเภทนี้ย่อมเป็นปัจจัยให้กระทำกรรมทุกชนิด (อกุสลธรรมได้ทุกประเภท) เพราะไม่คิดทำกุศลกรรมเลยจึงกล่าวได้ว่า บุคคลที่มีธรรมคือ นิยตมิจฉาทิฏฐิ ในนิยตมิจฉาทิฏฐิทั้ง ๓ นั้น บางคนดิ่งลงสู่ทัศนะเดียว บางคน ๒ ทัศนะ บางคน ๓ ทัศนะก็ มี เมื่อดิ่งลงไปในทัศนะเดียวก็ดี ใน ๒ ๓ ทัศนะก็ดี ย่อมเป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิ ห้ามทางสวรรค์และห้ามทางนิพพาน ไม่ควรไปสวรรค์แม้ในภพที่ติดต่อกันนั้น จะกล่าวไป ใยถึงนิพพานเล่า สัตว์นี้ชื่อว่าเป็นตอวัฏฏะ เป็นผู้เฝ้าแผ่นดิน โดยมากทิฏฐิ เห็นปาน นี้ ออกจากภพไม่ได้.

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
prakaimuk.k
วันที่ 31 ก.ค. 2549

นิยตมิจฉาทฎฐิ ๓ ได้แก่

- อเหตุกทิฎฐิ เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นเองเป็นเอง ไม่อาศัยเหตุปัจจัยให้เกิดให้มีขึ้น ไม่เชื่อในเหตุ

- นัตถิกทิฎฐิ เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ผลอันเนื่องมาแต่เหตุผลของการทำดีทำชั่ว ไม่มีโลกนี้โลกหน้า สัตว์ บุคคลไม่มี เป็นแต่ธาตุประชุมกัน ตายแล้วสูญไม่เกิดอีก เชื่อว่าไม่มีอะไรทั้งนั้น

- อกิริยทิฎฐิ เห็นว่าการกระทำใดๆ ไม่ชื่อว่าเป็นอันกระทำ ผลบาปบุญไม่มีแก่ผู้ทำ กระทำแล้วก็เป็นอันแล้วกันไป ปฏิเสธการกระทำโดยประการทั้งปวง

ความเห็นผิด ๓ ประการนี้เรียกว่า นิยตมิจฉาทิฏฐิ ให้ผลแน่นอนที่จะไปสู่ทุคติในอันดับแห่งจุติจิต และไม่มีทางพ้นจากสังสารวัฎ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
chatchai.k
วันที่ 27 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ