ให้อาหารของอะไร

 
เมตตา
วันที่  19 ก.ย. 2553
หมายเลข  17231
อ่าน  1,357

[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต เล่ม ๓๘ หน้าที่ ๑๙๗

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวอวิชชาว่ามีอาหาร (ปัจจัย) มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของอวิชชา ควรจะกล่าวว่า นิวรณ์ ๕ (ความติดข้องยินดีพอใจในกาม, ความพยาบาท ความท้อแท้ท้อถอยง่วงเหงา ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ความลังเลสงสัยในสภาพธรรม) ”

(จาก ... พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต อวิชชาสูตร)

[เล่มที่ 15] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ ๒๒๑

บทว่า ปญฺาย ทุพฺพลีกรเณ ความว่า นิวรณ์ทั้งหลาย เมื่อบังเกิดขึ้น ย่อมไม่ให้เพื่อจะให้ปัญญาที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้นได้ ทั้งไม่ยอมให้ปัญญาที่เกิดขึ้นแล้วเจริญได้ฉะนั้น นิวรณ์เหล่านี้ ท่านจึงเรียกว่า เป็นเครื่องทำปัญญาให้ทรามกำลัง

(จาก ... สุมังคลวิลาสินี อรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สัมปสาทนียสูตร)

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลสำหรับผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษา และสะสมปัญญา ความเข้าใจถูก เห็นถูกไปตามลำดับอย่างแท้จริง เตือนให้เป็นผู้ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต, เป็นความจริงที่ว่า ในชีวิตประจำวันของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น มักจะตกไปจากกุศล กล่าวคือ พลาดให้กับอกุศลเสียเป็นส่วนใหญ่มีกุศลจิตเกิดขึ้นบ้างเป็นบางครั้งบางคราวเท่านั้น และ กุศลจิตที่เกิดขึ้นแทรกสลับกับอกุศลจิตนั้น ก็เป็นกุศลจิตที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาอีกด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้ ชีวิตที่ดำเนินไปในแต่ละวัน จึงเป็นการให้อาหาร (คือให้ปัจจัย,ให้เหตุ) ของอวิชชา ความไม่รู้ ค่อนข้างมาก เพราะเหตุว่า ในขณะที่อกุศลจิตเกิดขึ้นนั้น มีอวิชชาคือโมหะเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ทำให้มีการสะสมอวิชชาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงว่าอกุศลทุกประเภทเป็นนิวรณ์ คือ เป็นเครื่องกางกั้นจิตไม่ให้บรรลุซึ่งความดี เนื่องจากกว่าในขณะที่จิตเป็นอกุศลนั้น กุศลจิตจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยนิวรณ์ จึงเป็นอาหาร (คือเป็นปัจจัย) ของอวิชชา ดังข้อความจากพระไตรปิฎก แต่สำหรับบุคคลผู้ที่สะสมเหตุที่ดีมา เป็นผู้ที่ได้สะสมบุญมาตั้งแต่ชาติปางก่อนเห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวันก็มีศรัทธาที่จะคบกับสัปบุรุษ ผู้มีปัญญา เพื่อที่จะได้ฟังสัจจธรรม (ความจริง) จากบุคคลที่ตนคบหา โดยเป็นการคบหากับพระธรรม เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็เป็นการให้อาหารของปัญญา เพราะจะเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา จากที่ไม่เคยรู้มาก่อนก็จะค่อยๆ รู้ขึ้น เข้าใจขึ้น จนกระทั่งสามารถทำให้หลุดพ้นจากกิเลสโดยประการทั้งปวงได้ในที่สุด

เพราะฉะนั้นจึงแสดงให้เห็นว่า ถึงแม้อกุศลจิตจะเกิดมาก แต่ก็ไม่เป็นเครื่องกั้นในการอบรมเจริญปัญญา สิ่งสำคัญ คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมแล้วน้อมที่จะประพฤติตามพระธรรมเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง เพราะปัญญาเท่านั้นที่จะดับกิเลสดับอกุศลดับอวิชชาได้อย่างเด็ดขาด ซึ่งจะต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา สะสมไปทีละเล็กทีละน้อย โดยไม่ขาดการให้อาหารของปัญญา คือ การฟังพระธรรม คบหากับพระธรรม นั่นเอง.

ขอขอบพระคุณ และขออนุโมทนา อ.คำปั่น ที่อนุเคราะห์กระทู้เรื่อง ให้อาหาร ซึ่งเป็นประโยชน์มากค่ะ อวิชชาเกิดมากในชีวิตประจำวัน แม้ยังไม่ล่วงกรรมบถ ก็ยังไม่เป็นคนดี กุศลทุกประการเป็นคนดี แต่การเป็นคนดีที่ดีที่สุดก็คือ การได้เข้าใจพระธรรม .ให้อาหารแก่ปัญญา ด้วยการคบหาสัปบุรุษ ผู้มีปัญญา ความเห็นถูก ฟังพระธรรมจากท่าน ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ...

... ขออนุโมทนาค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
คุณ
วันที่ 19 ก.ย. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 19 ก.ย. 2553

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
hadezz
วันที่ 20 ก.ย. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 20 ก.ย. 2553

พระธรรม เปรียบเหมือนเชือกที่ดึงให้เราขึ้นมาจากเหวลึกคืออวิชชา ถ้าไม่คบหากับพระธรรม ไม่ฟังธรรม ไม่คบบัณฑิตก็จะทำให้เราอยู่ในโลกทีมืด มืดเพราะความไม่รู้ ไม่รู้หนทางที่จะออกจากทุกข์ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
opanayigo
วันที่ 21 ก.ย. 2553

ปจฉา ตปปติทุกกฎ กรรมไม่ดี ย่อมตามเผาไหม้ภายหลัง

อกุศลอ้วนมากค่ะ เพราะได้อาหารสม่ำเสมอ

ดั่งที่เคยได้ฟังมาว่า ;

อกุศลกินอารมณ์ เพราะไม่บริโภคพระธรรม

(จากการพิจารณาตนเองในชีวิตประจำวัน)

กราบอนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เรียบร้อย
วันที่ 21 ก.ย. 2553

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
orawan.c
วันที่ 21 ก.ย. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
pamali
วันที่ 22 ก.ย. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
pornpaon
วันที่ 23 ก.ย. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 24 ก.ย. 2553

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
คนรักธรรมะ
วันที่ 26 ก.ย. 2553

[เล่มที่ 15] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ ๒๒๑

บทว่า ปญฺาย ทุพฺพลีกรเณ ความว่า นิวรณ์ทั้งหลาย เมื่อบังเกิดขึ้น ย่อมไม่ให้เพื่อจะให้ปัญญาที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้นได้ ทั้งไม่ยอมให้ปัญญาที่เกิดขึ้นแล้วเจริญได้ฉะนั้น นิวรณ์เหล่านี้ ท่านจึงเรียกว่า เป็นเครื่องทำปัญญาให้ทรามกำลัง.

(จาก... สุมังคลวิลาสินี อรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สัมปสาทนียสูตร)

ขออนุญาตสอบถามเพิ่มเติมค่ะ

จากพระสูตรข้างต้นที่ว่า นิวรณ์ เป็นเครื่องทำปัญญาให้ทรามกำลัง นั้น ธรรมที่จะสยบนิวรณ์ได้ ก็คือ สมาธิระดับฌาน เท่านั้น คือ

วิตก เผา ถีนมิทธะ

วิจาร เผา วิจิกิจฉา

ปิติ เผา พยาบาท

สุข เผา อุทัธจกุกกุจจะ

เอกัคคตา เผา กามฉันทะ

ใช่ไหมคะ....

ถ้าเช่นนั้น การทำ สมาธิระดับฌาน ก็เป็นสิ่งจำเป็นในขั้นต้น (เช่นเดียวกับขั้นการฟัง และ ขั้นการคิดพิจารณาตาม) เพื่อที่เมื่อนิวรณ์ถูกกำจัดลงได้ (อาจจะชั่วขณะหนึ่งที่สมาธิเกิด) ก็สามารถจะต่อยอดไปในการเจริญวิปัสสนา ทำปัญญาให้เจริญขึ้นได้ ใช่หรือไม่คะ

เนื่องจากฌานมีหลายระดับ แต่ก็ไม่ทราบว่า ฌานในระดับไหน ที่เหมาะในการเจริญวิปัสสนาคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
prachern.s
วันที่ 27 ก.ย. 2553

เรียนความเห็นที่ 11

การเจริญสมาธิจนถึงระดับฌานขั้นต่างๆ นั้นเป็นเรื่องใหญ่ ที่จะต้องประกอบด้วยองค์คุณหลายๆ ประการ และยุคนี้เป็นยุคกาลวิบัติ ไม่มีผู้ที่สามารถเข้าใจและเจริญจนถึงฌานขั้นต่างๆ ได้ เมื่อเจริญสมถภาวนาก็มีเพียงขณิกะสมาธิเท่านั้น อนึ่งการเจริญวิปัสสนาโดยไม่ต้องเจริญฌานก่อน ก็สามารถเจริญจนบรรลุเป็นพระอริยบุคคลสุกข-วิปัสสกะได้ ซึ่งแม้ในสมัยครั้งพุทธกาลพระอริยบุคคลสุกขวิปัสสกะมีจำนวนมากกว่าผู้ที่ได้ฌานด้วยดังนั้นการอบรมเจริญสติปัฏฐานเริ่มตั้งแต่การฟังให้เข้าใจ จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการเจริญวิปัสสนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
คนรักธรรมะ
วันที่ 27 ก.ย. 2553

เรียนคุณ prachern.s ค่ะ

หมายความว่า ในยุคนี้จะไม่มีผู้ที่สามารถเข้าฌานได้เลยหรือคะ ถ้าเป็นเช่นนั้น ธรรมที่จะสยบนิวรณ์ที่เหมาะสำหรับผู้ที่่ไม่สามารถเข้าฌานได้ ได้แก่อะไรบ้างคะ หรือว่า การฟัง ถือเป็นการสยบนิวรณ์ได้คะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
prachern.s
วันที่ 28 ก.ย. 2553

ในยุคนี้การจะสงบระงับนิวรณ์ได้ชั่วขณะ ด้วยขณะแห่งจิตที่เป็นกุศล คือ ทาน ศีล ฟังธรรม สนทนาธรรม พิจารณาธรรม สมถะ สติปัฏฐาน ฯ คือ เป็นตทังคปหานเท่านั้น ไม่ถึงอุปจาระและอัปปนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
คนรักธรรมะ
วันที่ 30 ก.ย. 2553
ขอขอบคุณ คุณ prachern.s ค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ