โลกไม่ปรากฏ เพราะความตระหนี่ (2)
ข้อความบางตอนจากการบรรยายธรรมโดยท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า โลกไม่ปรากฏ เพราะความตระหนี่ มีความว่า ความตระหนี่ ๕ ประการ คือ
อาวาสมัจฉริยะ ตระหนี่ที่อยู่ ๑
กุลมัจฉริยะ ตระหนี่ สกุล อุปัฏฐาก สำหรับ พระภิกษุ ๑
ลาภมัจฉริยะ ตระหนี่ ลาภ ๑
วรรณมัจฉริยะ ตระหนี่ วรรณะ คือ คำสรรเสริญ ๑
ธรรมมัจฉริยะ ตระหนี่ ธรรม ๑
ไม่เคยคิดมาก่อนใช่ไหมคะ ว่าโลกไม่ปรากฏเพราะความตระหนี่ แต่ถ้าพิจารณาจริงๆ ลึกลงไปของความตระหนี่ คืออะไร ความเห็นแก่ตัว
ขณะใดที่ไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ลึกลงไปในขณะนั้น สติจะต้องหยั่งลงไปว่าเพราะอะไร ก็คือความเห็นแก่ตัว เพราะฉะนั้น ตัวนี้ ยังเป็นที่ยึดถือ ผูกพัน ติดข้อง อย่างมากเพียงใด ลักษณะของอาการของความตระหนี่ย่อมปรากฏ
เพราะฉะนั้น ขณะใดที่มีความตระหนี่อย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น ควรที่จะเป็นเครื่องระลึก
ได้ว่า ในขณะนั้นยังมีความติดข้อง ยังมีความเห็นแก่ตัว ยังมีความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนมากทีเดียวและสำหรับ "ธรรมมัจฉริยะ" คือความตระหนี่ธรรมะ ถ้าเกิดความตระหนี่ธรรมะแล้ว ทุกอย่างย่อมไม่ปรากฏตามความเป็นจริง เพราะว่า ไม่แสดงธรรมนั้นให้บุคคลอื่นได้รู้หรือว่าได้เข้าใจด้วย
เพราะฉะนั้นผู้ที่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ จะไม่ตระหนี่ธรรมะ เพราะรู้ว่าเป็นสี่งที่มีประโยชน์ และขณะใดที่ตระหนี่ ขณะนั้นก็แสดงถึงความเห็นแก่ตัว หรือความยึดมั่นในตัวตน ซึ่งยังไม่ได้ละคลาย
ข้อความต่อไปมีว่า ท่านเรียกว่า "เววิจฉะ" ความตระหนี่ กริยาที่ตระหนี่ ความเป็นผู้ตระหนี่ ความปราถนาต่างๆ ความเหนียวแน่น ความเป็นผู้มีใจหดหู่ โดยความเป็นจิตเผ็ดร้อน นี่ก็แสดงลักษณะของมัจฉริยะเจตสิก ว่าเกิดกับโทสมูลจิต ซี่งเป็นอกุศลจิต จะไม่เกิดกับ โลภมูลจิต และ โมหมูลจิตเลย
ความที่แห่งจิต อันใครเชื่อไม่ได้ เห็นปานนี้ เรียกว่า ความตระหนี่ เวลาเกิดความตระหนี่ขึ้น จริงใจไหมคะ จะต้องมีอาการที่ปิดบัง หรือ ซ่อนเร้น ที่ไม่จริงใจ เพราะฉะนั้น ความที่แห่งจิต อันใครเชื่อไม่ได้ เห็นปานนี้ เรียกว่า ความตระหนี่
อีกอย่างหนึ่ง แม้ความตระหนี่ขันธ์ ท่านก็เรียก มัจฉริยะ แมัความตระหนี่ธาตุ ท่านก็เรียก มัจฉริยะ ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล เพราะฉะนั้น ที่ตระหนี่ นี่ ตระหนี่อะไร ลองคิดดูนะคะ ถ้าไม่ตระหนี่ขันธ์ คือ รูปขันธ์บ้าง เวทนาขันธ์บ้าง สัญญาขันธ์บ้าง สังขารขันธ์บ้าง วิญญาณขันธ์บ้าง ท่านมีความสุข แล้วเห็นคนอื่นทุกข์เดือดร้อน อยากจะให้คนอื่นเขามีความสุขอย่างเรา ขณะนั้นไม่ตระหนี่ในสุขเวทนาใช่ไหมคะ แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีความสุข และ คนอื่นมีความทุกข์เดือดร้อน ก็ไม่มีความคิดที่จะเกื้อกูลบุคคลนั้นให้มีความสุขบ้าง ขณะนั้นก็เป็นการตระหนี่ขันธ์ คือ ตระหนี่สุขเวทนา
ไม่ว่าจะเป็นธาตุก็ตาม ในเมื่อไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ บุคคล เป็นแต่เพียงปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าพิจารณาจริงๆ ในขณะใดที่เกิดความตระหนี่ ก็คือ ตระหนี่ขันธ์ ตระหนี่ธาตุตระหนี่อายตนะ นั่นเอง
แจ่มแจ้ง .... การที่โลกจะปรากฎตามความเป็นจริงได้นั้น คือ ควรละความตระหนี่ทั้งปวงโดยเฉพาะตระหนี่ในธรรม ถ้าฝึกฝนในการไม่ตระหนี่ในธรรม เกื้อกูลผู้อื่นให้เข้าใจพระธรรมตามกำลังสติปัญญาของตน ก็จะค่อยๆ ลดละความตระหนี่ทั้งปวง วันหนึ่งโลกตามความเป็นจริงก็จะปรากฎแก่ตน.......
ขอบคุณ คุณ PIRMSOMBAT ค่ะ
ขอขอบพระคุณ และอนุโมทนาครับ
" ตัวนี้ ยังเป็นที่ยึดถือ ผูกพัน ติดข้อง อย่างมากเพียงใด ลักษณะอาการของ "ความตระหนี่" ย่อมปรากฏ
ขณะใดที่มีความตระหนี่ ควรที่จะเป็นเครื่องระลึก ได้ว่าในขณะนั้นยังมี "ความติดข้อง" ยังมี "ความเห็นแก่ตัว" ยังมี "ความยึดถือสภาพธรรม" ว่า เป็นตัวตน มากทีเดียว"