ฌาน
ขอเรียนถามค่ะ
อุปจารฌาน หรือ อุปจารสมาธิ คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน
อัปปนาฌาน หรือ อัปปนาสมาธิ คือ จตุตถฌาน
ใช่หรือไม่คะ หรือว่า ทั้ง อุปจาระ และ อัปปนา นั้น มีใน ฌาน ทุกระดับคะ
อุปจารฌาน หรือ อุปจารสมาธิ เป็นความสงบของจิต ใกล้ต่อปฐมฌานคือ เป็นจิตประเภทกามาวจร ยังไม่ถึงรูปาวจร ส่วนอัปปนาฌาน หรือ อัปปนาสมาธิ เป็นความสงบของจิต ตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไปจนถึงอรูปฌาน เป็นระดับของจิตขั้นมหัคคตจิต และโลกุตตรจิตครับ
ขออนุญาต ผู้ตั้งกระทู้ และกราบเรียนถาม อาจารย์ประเชิญค่ะ
ในยุคนี้ มีเครื่องกั้นฌานมากมาย แต่ยังมีบางท่านที่ศึกษาพระธรรม อ้างว่าฌานยังสามารถเกิดได้ไม่เกี่ยวกับยุค แต่เกี่ยวกับการสะสมของบุคคลที่ไม่เหมือนกัน ไม่ทราบว่าคำกล่าวนี้ พอจะมีข้อความในพระไตรปิฎก บทใดพอจะเทียบเคียงสนับสนุนหรือขัดแย้งบ้างคะ
ถ้าได้ศึกษาพระธรรมโดยละเอียดจะทราบว่า มียุคกาลสมบัติ ยุคกาลวิบัติ แม้พระพุทธเจ้าก็ไม่อุบัติในกาลวิบัติ แม้กาลล่วงไปพันปีที่สอง พระอรหันต์ ที่ถึงพร้อมด้วย ปฏิสัมภิทาฌานอภิญญาก็ไม่มีแล้ว ไม่ต้องกล่าวถึงพระเสขที่ ถึงพร้อมด้วยฌานอภิญญาครับปล. อบรมเจริญสมถภาวนาได้ แต่ไม่ถึงฌานขั้นต่างๆ ..
อุปาจารฌาน คือจิตที่สงบใกล้ต่อฌาน แต่ยังไม่ถึงฌาน ส่วนอัปปนาฌาน ตั้งแต่ฌานจิต 1, 2, 3, 4, แต่ก่อนที่ฌานจิตจะเกิดก็จะต้องมีอุปาจารฌานก่อน และการที่ใครจะได้ฌานจิตก็อยู่ที่การสะสมมา เป็นเรื่องของเหตุปัจจัย คืออบรมเหตุให้สมกับผล ที่สำคัญเราไม่สามารถรู้ว่าใครได้ฌานจิตค่ะ
เรียนคุณ prachern.s ค่ะ
จากคำตอบที่คุณ prachern.s ได้กรุณาตอบไว้ในความคิดเห็นที่ ๑ นั้น ก็เป็นสิ่งที่เคยได้อ่านเจอซึ่งข้อมูลตรงกัน และเคยเข้าใจตามนั้นค่ะ แต่มาได้อ่านคำอธิบายด้านล่างนี้ จึงเกิดความสงสัย จึงได้เรียนสอบถามมาค่ะ ซึ่งอ่านดูแล้วเหมือนกับว่า อุปจาระนั้น มีอยู่ในฌานทั้ง ๔ ส่วนอัปปนา นั้นไม่แน่ใจว่ามีอยู่ในฌานทั้ง ๔ หรือไม่ เพราะเท่าที่อ่านเจอแต่ในฌานที่๑ และ ฌาน ๔ ค่ะ * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
บทว่า สุขสฺส จ ปหานา ทุกฺขสฺส จ ปหานา (เพราะละสุข และทุกข์ได้) ได้แก่ การละสุขทางกาย และทุกข์ทางกาย. คำว่า ปุพฺเพวคือ การละนั้นมีในกาลก่อนทีเดียว มิใช่มีในขณะแห่งจตุตถฌานไม่. คำว่าโสมนสฺสโทมนสฺสานํ อตฺถงฺคมา (เพราะโสมนัสและโทมนัสดับสนิท) ความว่า เพราะถึงการตั้งอยู่ไม่ได้แห่งธรรมทั้ง ๒ เหล่านี้ คือ สุขทางใจและทุกข์ทางใจ คำนี้ท่านอธิบายว่า เพราะละเสียแล้ว.
ถามว่า ก็การละสุขและทุกข์ทางใจเหล่านั้นมีในกาลไร.ตอบว่า ในขณะแห่งอุปุจารฌานทั้ง ๔.
จริงอยู่ พระโยคาวจรละ โสมนัสได้ในขณะแห่งอุปจาระของฌานที่ ๔ เท่านั้น ส่วนทุกข์ โทมนัส และสุขย่อมละได้ในขณะแห่งอุปจาระของฌานที่หนึ่ง ที่สอง และที่สาม. โดยประการฉะนี้ บัณฑิตพึงทราบการละสุข ทุกข์โสมนัส และโทมนัส แม้ไม่ตรัสไว้โดยลำดับแห่งการละองค์ฌานเหล่านั้น แต่ก็ตรัสแม้ในฌานที่ ๔ นี้ โดยลำดับแห่งอุทเทสแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย ในอินทริยวิภังค์นั่นแล.
ถามว่า ก็องค์ฌานเหล่านั้น พระโยคาวจรย่อมละได้ ในขณะอุปจาระของฌานนั้นๆ ไซร้ เมื่อเป็นเช่นนี้ เพราะเหตุไร จึงตรัส ความดับในฌานทั้งหลาย อย่างนี้ว่า ก็ทุกขินทรีย์ เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไปไม่มีส่วนเหลือ ในที่ไหน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัย สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุข เกิดแต่วิเวกอยู่ ทุกขินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไป ไม่มีส่วนเหลือในที่นี้..ก็โทมนัสสินทรีย์ ฯลฯ สุขินทรีย์ ฯลฯ โสมนัสสินทรีย์เกิดขึ้นด้วยแล้ว ย่อมดับไปไม่มีส่วนเหลือในที่ไหน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละทุกข์และสุข และดับโสมนัสและโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นต้น ให้สติบริสุทธิ์อยู่ โสมนัสสินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไปไม่มีส่วนที่เหลือในที่นี้ ดังนี้. ตอบว่า เพราะความดับดียิ่ง อันที่จริง ความดับองค์ฌานเหล่านั้น ในปฐมฌานเป็นต้น ก็เป็นการดับดียิ่งเหมือนกัน แต่การดับในขณะแห่งอุปจารฌาน ไม่ชื่อว่า ความดับที่ดียิ่ง จริงอย่างนั้น เมื่อทุกขินทรีย์ แม้ดับแล้วในอุปจาระแห่งปฐมฌานในอาวัชชนะต่างๆ ความเกิดขึ้นแห่งทุกขินทรีย์ จะพึงมีได้เพราะสัมผัส อันเกิดแต่เหลือบยุงเป็นต้น หรือว่า เพราะความลำบากเกิดแต่การนั่งในที่อันไม่เสมอ ส่วนภายในอัปปนา ทุกขินทรีย์นั้นหาเกิดขึ้นไม่ อีกอย่างหนึ่ง ทุกขินทรีย์ในอุปจารฌานแม้นี้ ยังไม่ดับอย่างสนิทเพราะยังมิได้ถูก ปฏิปักขธรรม (คือฌาน) ปราบปราม แต่ว่า ภายในอัปปนา กายทั้งปวงได้หยั่งลงสู่ความสุขแล้ว ด้วยการแผ่ไปแห่งปีติ ทุกขินทรีย์ของ พระโยคาวจรผู้มีกายอันหยั่งลงแล้วในความสุข ย่อมเป็นธรรมดับสนิท เพราะอันปฏิปักขธรรมกำจัดแล้ว อนึ่ง โทมนัสสินทรีย์ แม้พระโยคาวจรละได้แล้ว ในอุปจารแห่งทุติยฌาน ในอาวัชชนจิตต่างๆ นั่นแหละ โทมนัสสินทรีย์นี้ ก็จะพึงเกิดขึ้น เพราะความลำบากกาย และความคับแค้นใจ อันมีวิตกและวิจาร เป็นปัจจัยยังมีอยู่ แต่เมื่อไม่มีวิตกและวิจาร โทมนัสสินทรีย์จะไม่เกิดเลย แต่เมื่อวิตกและวิจารมีอยู่ในที่ใด โทมนัสสินทรีย์ ก็ย่อมเกิดขึ้นในที่นั้น คือว่า วิตกและวิจารในอุปจารแห่งทุติยฌาน อันพระโยคาวจรยังละไม่ได้ เพราะฉะนั้น โทมนัสสินทรีย์ก็พึเกิดขึ้นในที่นั้น เพราะความที่วิตกและวิจารเป็นปัจจัยที่ยังละไม่ได้ ส่วนในทุติยฌาน โทมนัสสินทรีย์เกิดไม่ได้เลย เพราะความที่วิตกและวิจารเป็นปัจจัยนั้น ท่านละได้แล้ว.
อนึ่ง ในอุปจารแห่งตติยฌาน สุขินทรีย์ แม้พระโยคาวจรละได้แล้ว จะพึงเกิดขึ้นแก่กายที่รูปอันประณีต มีปีติเป็นสมุฏฐานถูกต้องแล้ว ส่วนในตติยฌาน สุขินทรีย์จะเกิดไม่ได้เลย เพราะว่า ปีติซึ่งเป็นปัจจัยแก่สุข ในตติยฌานย่อมดับไป โดยประการทั้งปวง. อนึ่ง ในอุปจารแห่งจตุตถฌาน โสมนัสสินทรีย์แม้พระโยคีละแล้ว ก็พึงเกิดขึ้นได้ เพราะความเป็นสภาวะใกล้ต่อสุข และเพราะยังไม่ก้าวล่วงโดยชอบ โดยที่ไม่มีอุเบกขาที่ถึงอัปปนา ส่วนในจตุตถฌาน โสมนัสสินทรีย์ จะเกิดไม่ได้เลย เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสกระทำให้ถือเอาโดยไม่มีส่วนเหลือในที่นั้นๆ อย่างนี้ว่า ก็ทุกขินทรีย์เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไปไม่มีส่วนเหลือในที่นี้ ดังนี้. (ยังมีต่อค่ะ แต่ขอละไว้) * ม. มู เล่ม ๑๒. ๕๐๓/๕๔๓
เรียนคุณคนรักธรรมะ
ได้อ่านข้อความในอรรถกถาที่คุณได้ยกมาแล้ว เข้าใจว่า คำว่าอุปจารแห่งปฐมฌาน แห่งทุติยฌานเป็นต้นนั้น เป็นวิถีจิตระหว่างฌาน คือก่อนถึงฌานระดับนั้นๆ เช่นคำว่าในอุปจารแห่งจตุตถฌาน โสมนัสสินทรีย์แม้พระโยคีละแล้วก็พึงเกิดขึ้นได้ เพราะความเป็นสภาวะใกล้ต่อสุข และเพราะยังไม่ก้าวล่วงโดยชอบ โดยที่ไม่มีอุเบกขาที่ถึงอัปปนา ส่วนในจตุตถฌาน โสมนัสสินทรีย์ จะเกิดไม่ได้เลย ... ดังนั้น อุปจารแห่งจตุตถฌาน.. เป็นต้นนั้น เป็นชื่อของบริกรรม อนุโลม โคตรภู ยังไม่ใช่ฌานที่เป็นอัปปนา แต่ใกล้ต่ออัปปนาครับ
จากความคิดเห็นของคุณ prachern.s และ คุณ wannee.s นั้น
แสดงว่า ก่อนจะถึงฌาน (อัปปนา) ในทุกระดับนั้น จะต้องผ่านอุปจาระก่อนเสมอ ดังนี้
อุปจาระ => ฌาน ๑ (อัปปนา) => อุปจาระ => ฌาณ ๒ (อัปปนา) => อุปจาระ => ณาน ๓ (อัปปนา) => อุปจาระ => ฌาณ ๔ (อัปปนา)
เข้าใจอย่างนี้ จะถูกต้องหรือไม่คะ
เรียนความเห็นที่ ๙
ถูกต้องครับ ก่อนถึงฌาน (อัปปนา) และระหว่างฌานวิถีจิตจะต้องเป็นอุปจาระคือ มหากุศลญาณสัมปยุต โดยภูมิเป็นกามวจร ถ้าเป็นพระอรหันต์ ก็จะมี มหากิริยาญาณสัมปยุตเกิดก่อน ฌานจิตจึงเกิดขึ้นภายหลังครับ